posttoday

ตอกย้ำศักยภาพ "ทับทิม" ราชาอัญมณี หนุนไทยขึ้นฮับการค้าอัญมณีโลก

04 มกราคม 2561

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ประกาศศักยภาพ "ทับทิม" ราชาแห่งอัญมณีไทย

 

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ประกาศศักยภาพ "ทับทิม" ราชาแห่งอัญมณีไทย ครองแชมป์พลอยสีที่ส่งออกมากที่สุด หนุนสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ผงาดเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของประเทศอย่างต่อเนื่อง และช่วยสนับสนุนไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เผยว่า ทับทิม ถือได้ว่าเป็นราชาแห่งอัญมณีไทย และเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมพลอยสีของไทย โดยในสถานการณ์ส่งออกช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-พ.ย.) สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ยังสามารถครอบอันดับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 5.55 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าโดยรวม มีมูลค่าส่งออกรวม 12,039.02 ล้านเหรียญสหรัฐ (409,237.62 ล้านบาท) เติบโตได้สูงกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการส่งออกไทย ที่น่าจะทำให้มูลค่าส่งออกรวมทั้งปีนี้มีมูลค่าราว 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (500,000 ล้านบาท) ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 10 ของโลก หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.49% ต่อ GDP ของประเทศ

ตอกย้ำศักยภาพ \"ทับทิม\" ราชาอัญมณี หนุนไทยขึ้นฮับการค้าอัญมณีโลก ภาพจาก Beauty Gems 

โดยการส่งออกทับทิมในปี 2559 มีมูลค่า 275.29 ล้านเหรียญสหรัฐ (9,668.73 ล้านบาท) ขยายตัวกว่าร้อยละ 16 หรือคิดเป็นร้อยละ 25.81 ของมูลค่าการส่งออกพลอยสีรวม (1,066.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และมีปริมาณการส่งออกทับทิม 1,682 กะรัต คิดเป็นร้อยละ 35.94 ของปริมาณการส่งออกพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ตลาดส่งออกพลอยสีที่สำคัญได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย และจีน ตามลำดับ

นางดวงกมล เสริมอีกว่า "นอกจากทับทิม ซึ่งเป็นสินค้าเด่นในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ประเทศไทยยังสามารถสร้างเม็ดเงินจากภาคส่วนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างมหาศาล ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มุ่งผลักดันให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่บุคคลในอุตสาหกรรมอัญมณีให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดทั้งด้านเศรษฐกิจการค้าของประเทศ สร้างงาน และรายได้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่คนคัดพลอย ช่างเจียระไนอัญมณี ช่างฝีมือผลิตเครื่องประดับ โดยปัจจุบันมีแรงงานในอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานราว 1 ล้านคน โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนและส่งเสริมประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในระดับโลกอย่างมั่นคงและยั่งยืน"