posttoday

มธบ. จับมือ ก.ท่องเที่ยวและกีฬา "ขยายศักยภาพธุรกิจ Wellness Thailand 4.0"

21 สิงหาคม 2560

มธบ. จับมือ ก.ท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เเละกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดประชุมวิชาการ “การขยายศักยภาพของธุรกิจ Wellness Thailand 4.0”

มธบ. จับมือ ก.ท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เเละกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดประชุมวิชาการ  “การขยายศักยภาพของธุรกิจ Wellness Thailand 4.0”

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดโครงการสัมมนาหัวข้อ “การขยายศักยภาพของธุรกิจ Wellness Thailand 4.0” ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาศักยภาพด้านการบริการและเกิดการขยายตัวขึ้นของอุตสาหกรรม Wellness ในประเทศไทย รวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งคุณภาพการบริการ เทคโนโลยีต่างๆ ให้สอดคล้องรับการเติบโตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของไทย

นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  กล่าวว่าในปี 2559 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้กว่า 2.51 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามสภาวการณ์โลกและพฤติกรรมของผู้บริโภค ประเทศไทยจึงหนีไม่พ้นต้องปรับตัวตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวของประเทศโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health & Wellness Tourism) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก และคาดกันว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นแบบทวีคูณ

นพ.บรรจบ ระบุว่าปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางสุขภาพ (Health Paradigm Shift) ปี พ.ศ. 2554 มีประชากรกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ จำนวนมหาศาลที่อยู่ในวัยชรา และในอีก 13 ปีข้างหน้าจะมีคนก้าวสู่อายุ 65 ปีทุกๆ วัน วันละ 10,000 คนทั่วโลก อย่างไรก็ตามการแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้คนอายุยืนขึ้น โดยกลุ่มคนเหล่านี้แม้มีฐานะดีแต่ยังติดนิสัยกินอยู่ตามสบาย ทั้งๆ ที่รู้แนวทางปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง แต่ไม่อยากปฏิบัติเอง ต้องการได้รับบริการ ซึ่งปัจจัยเหล่านับเป็นการเพิ่มอุปสงค์ การจับจ่ายและเพิ่มโอกาสของสินค้าและบริการเชิงสุขภาพขึ้นอย่างโดดเด่น ทำให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ทางสุขภาพ กล่าวคือแทนที่จะรอป่วยแล้วกินยา กลายมาเป็นกระบวนทัศน์ที่เรียกว่า “ความสุขสบายและชะลอวัย (Wellness & Anti-aging)” ซึ่งได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของ Wellness Industry ขึ้นอย่างกว้างขวาง

นพ.บรรจบ กล่าวว่า แนวโน้มในการดูแลสุขภาพของมนุษย์โลกปรับเปลี่ยนไปจากอดีตที่นับวันรอความเจ็บป่วยไปสู่การดูแลสุขภาพร่างกายและชะลอวัยจนสามารถทำให้ตนเองมีชีวิตและความสุขที่ยืนยาวมากขึ้น ทุกคนเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องที่ดีกว่าเมื่อเราสามารถกำหนดสุขภาพได้ด้วยตัวเอง และในปี พ.ศ. 2559 สภาการท่องเที่ยวโลก (WTTC) ประกาศให้ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ธุรกิจท่องเที่ยวขยายตัวเร็วที่สุดในโลก ทำรายได้ 82,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้ไทย หรือเท่ากับร้อยละ 20.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ  สำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ยังเป็นตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 1 ใน 10 ประเทศของเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นแชมป์ในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN)  ไทยจึงมีโอกาสอันยอดเยี่ยมสำหรับการก้าวเป็นเมืองหลวงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก

 

มธบ. จับมือ ก.ท่องเที่ยวและกีฬา "ขยายศักยภาพธุรกิจ Wellness Thailand 4.0"

 

คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ ให้ข้อมูลว่า เมื่อมองไปที่ Wellness Industry จะเห็นมีแนวโน้มถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนและเต็มไปด้วยโอกาส  ซึ่งตัวเลขเม็ดเงินในอุตสาหกรรมสุขภาพทั่วโลกนั้นสูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นภาคส่วนต่างๆ เช่น สุขภาพว่าด้วยความงามและการชะลอวัย 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การแพทย์ทางเลือก 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อาหารสุขภาพและการลดน้ำหนัก 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิตเนสและการบริหารกายและจิต 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ  การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

“Wellness Industry นั้นใหญ่มาก เมื่อคนทั่วโลกกำลังแสวงหาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นั่นหมายรวมถึงการต้อนรับและบริการต่างๆ การไหว้อย่างไทย รอยยิ้มอย่างไทย ดนตรีไทย การนวดไทยรวมถึงการนวดอื่นด้วยคนไทย และการใส่ใจทุกขั้นตอนของงานบริการอย่างไทยหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วในโลกนี้ วันนี้ประเทศไทยเรากำลังจะกลายเป็นเมืองหลวงของ Wellness”

นพ.บรรจบ เผยว่าที่ผ่านมาหัวใจของการบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยคือ สปา (Spa) ที่มีธุรกิจสปา

กว่า 2,000 แห่ง มีผู้รับบริการเฉลี่ย 22.5 ล้านครั้ง/ปี ร้อยละ 90 เป็นชาวต่างชาติ  ถ้ายกระดับคุณภาพจากสปาขึ้นเป็น Wellness ก็จะเพิ่มรายได้อีก 10 เท่าตัว ตัวอย่างเช่น บริการนวดในสปาราคา 1,200 – 2,500 บาท/คน  ถ้าพัฒนาเป็น คอร์สสุขภาพ (Wellness) 1 วัน เริ่มจากการคำปรึกษา ทรีทเม้นท์ความงาม การนวด การล้างพิษ บริหารกาย-จิต บริการเครื่องดื่มและอาหารสุขภาพ รายได้จะเพิ่มเป็น 12,000 บาท/คน  หรือคิดเป็น 10 เท่าจากบริการนวดในสปาแบบเดิม อีกทั้งยังสามารถรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการขายโปรแกรมที่จะต้องพำนักค้างคืนอย่างน้อย 2-3 วัน หรือสามารถพำนักได้นานกว่านั้นเพื่อปรับปรุงและแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

นพ.บรรจบ กล่าวถึงการจัดโครงการประชุมวิชาการครั้งนี้ว่า โดยส่วนตัวมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะรวมภาคการศึกษา ภาคธุรกิจและภาครัฐ มาร่วมกันสร้าง Business Model ของ Wellness Industry ประเทศไทยให้สอดคล้องกับนโยบาย “Thailand 4.0” เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เชื่อมโยงกับการพัฒนาสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้า การลงทุน พัฒนาสู่ชาติการค้า การพัฒนาผู้ประกอบการและเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ยกระดับผลิตภาพแรงงานและพัฒนา SMEs สู่สากล

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนรวมของ Wellness Industry เพื่อเป็นต้นแบบของประเทศเสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานของการประกอบธุรกิจการบริการสุขภาพ และการลงทุนที่โดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ กล่าวทิ้งท้าย