มูลนิธิถันยรักษ์ฯ และ ม.ราชภัฏ เดินหน้าสร้างความสำคัญการตรวจเต้านมด้วยตน
มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ทรูปลูกปัญญา และมหาวิทยาลัยราชภัฏ เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเองทั่วประเทศ ผ่านโครงการ ‘สืบสานและต่อยอด ภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ชมรมถันยรักษ์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ’ ให้ผู้หญิงไทยพ้นภัยมะเร็งเต้านม
กรุงเทพฯ 6 มีนาคม 2567 – มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี โดย นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ (ที่ 4 จากซ้าย) และนางบุษดี เจียรวนนท์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ (ที่ 4 จากขวา) ร่วมกับ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย นายประพาฬพงษ์ มากนวล หัวหน้าฝ่ายทรูปลูกปัญญา (ขวาสุด) และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ จัดประกวดโครงการ ‘สืบสานและต่อยอดภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม’ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ประจําปี 2566 ภายใต้โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม เพื่อร่วมสร้างความตระหนักถึงภัยของมะเร็งเต้านม และรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยรู้จักวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งสังเกตการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ โดยมีความมุ่งหวังที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย และลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม ผ่านกิจกรรมรณรงค์สื่อสารของนักศึกษาจากชมรมถันยรักษ์ ครอบคลุมการให้ความรู้สู่ชุมชนในพื้นที่บริการการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ร่วมด้วย นายแพทย์เฉลิมเดช กรรณวัฒน์ แพทย์ประจำศูนย์ถันยรักษ์ และรองประธานโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม (ที่ 2 จากขวา) นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (ที่ 3 จากซ้าย) นายแพทย์ชลพันธ์ ปิยถาวรอนันต์ ผู้อำนวยการกองอนามัยวัยทำงาน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (ซ้ายสุด) นายแพทย์ชลทิศ อุไรฤกษ์กุล ที่ปรึกษาสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (ที่ 2 จากซ้าย) และนายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง นักวิชาการนิเทศศาสตร์ (ที่ 3 จากขวา) ให้เกียรติร่วมงานและมอบรางวัลให้แก่ชมรมถันยรักษ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 14 ชมรม ซึ่งผลการประกวดรอบชิงชนะเลิศมีดังนี้
กลุ่มต่อยอด
- รางวัลชนะเลิศ (กลุ่มต่อยอด) และรางวัลชมรมขวัญใจมหาชน
ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
รับถ้วยเกียรติยศ เกียรติบัตร และทุนการศึกษา 53,000 บาท - รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 (กลุ่มต่อยอด) และรางวัลสื่อออนไลน์สร้างสรรค์
ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
รับถ้วยเกียรติยศ เกียรติบัตร และทุนการศึกษา 40,300 บาท - รองชนะเลิศอันดับที่ 2 (กลุ่มต่อยอด)
ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชชภัฏภูเก็ต
รับถ้วยเกียรติยศ เกียรติบัตร และทุนการศึกษา 30,000 บาท
กลุ่มสืบสาน
- รางวัลชนะเลิศ (กลุ่มสืบสาน)
ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
รับถ้วยเกียรติยศ เกียรติบัตร และทุนการศึกษา 40,000 บาท - รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 (กลุ่มสืบสาน)
ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
รับถ้วยเกียรติยศ เกียรติบัตร และทุนการศึกษา 30,000 บาท - รองชนะเลิศอันดับที่ 2 (กลุ่มสืบสาน)
ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชชภัฏสงขลา
รับถ้วยเกียรติยศ เกียรติบัตร และทุนการศึกษา 20,000 บาท
- รางวัลชมเชย (ทั้งกลุ่มต่อยอดและกลุ่มสืบสาน)
ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (กลุ่มต่อยอด) และ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ชมรมถันยรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (กลุ่มสืบสาน) ได้รับโล่เกียรติยศ เกียรติบัตร และทุนการศึกษาชมรมละ 10,000 บาท
นอกจากนี้ มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ยังมอบ เกียรติบัตรอาจารย์ที่ปรึกษาคุณูปการ ให้แก่อาจารย์ทุกท่านผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทุกชมรมอีกด้วย
จากการดำเนินโครงการภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านมทั้ง ๒ ปี ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายผลเผยแพร่ความรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเองสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้งนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป
ได้มากกว่า ๔๘,๐๐๐ คน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการ ให้แก่แกนนำจิตอาสาและสมาชิกชมรมได้มากถึง ๑๑,๒๐๐ คน
ทรูปลูกปัญญา พร้อมด้วยหน่วยงาน Digital Health โดย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมมือกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ (E-Learning) บนแพลตฟอร์ม VCOURSE และพัฒนาระบบบันทึกการตรวจเต้านมด้วยตนเอง Breast Self Examination (BSE Application) รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้พื้นฐานสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ได้อย่างถูกต้อง จากผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ครอบคลุมถึงการเขียนแผนงานอย่างมีกลยุทธ์ มุ่งสู่การต่อยอดกิจกรรมอย่างยั่งยืน และการสร้างสรรค์กิจกรรมให้น่าสนใจด้วยการใช้สื่อออนไลน์ ทั้งนี้ มูลนิธิถันยรักษ์ฯ เชื่อมั่นว่า ด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยราชภัฏ จะเป็นกำลังสำคัญต่อการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวอย่างทั่วถึง และควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยให้รอดพ้นจากภัยมะเร็งเต้านมได้อย่างยั่งยืน “เพราะการป้องกันที่ดีที่สุด คือการค้นพบให้เร็วที่สุด”
ผู้ที่สนใจสามารถรับชมเทปบันทึกภาพการประกวดรอบชิงชนะเลิศฯ ในวันศุกร์ที่ 5 – วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2567 เวลา 21.30 - 22.30 น. ทางช่องทรูปลูกปัญญา (ทรูวิชั่นส์ 37 และ HD111)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02 – 858 – 6279 หรือ www.thanyarak.or.th
และ Facebook Fanpage : Thanyarak Breast Center