posttoday

“PAS” ลุยผู้นำขนส่งทางราง ตั้งเป้าเชื่อมจีน-รัสเซีย-ยุโรป

10 พฤษภาคม 2566

“PAS” โชว์ความพร้อมส่งสินค้าจากไทยไปจีนด้วยรถไฟ 3.4 พันกิโลเมตร ในระยะเวลาไม่ถึง 5 วันเร็วกว่าเป้าหมาย ชูความพร้อมแผนโลจิสติกส์ เทคโนโลยี ตู้คอนเทนเนอร์เทคโนโลยีทันสมัย-พันธมิตรทั้งในไทยและต่างประเทศครบถ้วน มั่นใจธุรกิจปีนี้โตก้าวกระโดด

          ปัจจุบันการขนส่งสินค้าการขนส่งสินค้าจากไทยไปประเทศจีน มีช่องทางขนส่งทั้งทางเรือ รถและระบบราง ซึ่งทุกช่องทางมีต้นทุนและเวลาขนส่งต่างกัน การขนส่งสินค้าจำนวนมากผ่านรถไฟได้รับความสนใจมากขึ้น โดยมีผู้ประกอบการไทยให้บริการขนส่งสินค้าจากสถานีมาบตาพุด จ.ระยอง ไปสถานีปลายทางเมืองกว่างโจว ประเทศจีน ระยะทาง 3,453 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 4 วัน

          ธีระพงษ์ เตชาเสถียร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท แพน-เอเชีย ซิลค์ โรด จำกัด หรือ “PAS” กล่าวว่า เดือน เม.ย.2566 บริษัทประสบผลสำเร็จในการร่วมกับพันธมิตรส่งทุเรียนจากไทยไปจีนในขบวนรถไฟสายประวัติศาสตร์ มาบตาพุด-กว่างโจว เที่ยวปฐมฤกษ์บรรทุก 25 ตู้ ระยะทาง 3,453 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาเพียง 4 วันครึ่ง จากกำหนด 6 วัน และมีแผนเพิ่มจำนวนการขนส่งและเพิ่มเส้นทางขนส่งสินค้าจากไทยไปประเทศอื่นผ่านระบบรางมากขึ้น

          PAS เกิดขึ้นจากการเห็นโอกาสจากนโยบายของจีนที่สนับสนุนการเชื่อมโยงเส้นทางนโยบายเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (One belt one road) โดยไทยเป็นจุดสำคัญที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแนวคิดนี้ได้รับการตอกย้ำจากเมื่อประธานาธิบดีจีนเดินทางมาไทย และย้ำความสำคัญของเส้นทางนี้ทำให้มั่นใจเดินหน้าธุรกิจนี้ โดยขยายธุรกิจจากสายเดินเรือมาเป็นธุรกิจการขนส่งทางราง

          การเดินหน้าธุรกิจ PAS มีพันธมิตรที่ดีเป็นรัฐวิสาหกิจ คือ กลุ่ม ปตท.จำกัด (มหาชน) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำให้การติดต่อประสานงานกับทางการจีนทำได้ง่ายเพราะเป็นความร่วมมือของรัฐต่อรัฐ (G to G)

          ปัจจุบันการใช้รถไฟขนส่งสินค้าในไทยมีสัดส่วนน้อยมาก จึงคิดว่าถ้าร่วมมือกับ ร.ฟ.ท.พัฒนาจะได้ประโยชน์และเป็นทางเลือกสำคัญของผู้ใช้บริการ ซึ่งมีจุดเด่นในการขนส่งได้ปริมาณมาก ปลอดภัยและมีต้นทุนเหมาะสม โดยการขนส่งทางรางจะมีบทบาทมากขึ้นในการขนส่งไปจีน

          สำหรับเทคโนโลยีตู้คอนเทนเนอร์ที่นำมาใช้มีความทันสมัย เป็นของบริษัท CIMC ประเทศจีนที่เป็นพันธมิตรบริษัทและได้รับอนุมัติให้ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ในจีน โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีข้อดีหลายข้อได้แก่

          1.สามารถตรวจสอบสถานะ (Status) ของแต่ละตู้ใช้ GPS ตรวจสอบทั้งตำแหน่งและอุณหภูมิของแต่ละตู้คอนเทนเนอร์ได้ ซึ่งตรวจสอบได้ผ่านระบบดาวเทียมทำให้ทีมงานตรวจสอบว่าสินค้าเดินทางถึงจุดหมายที่วางแผนได้แม่นยำและมอนิเตอร์จนถึงสินค้า

          2.ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในตู้คอนเทนเนอร์ โดยอุณหภูมิภายในตู้ตั้งได้ตั้งแต่ลบ 30 ถึง 30 องศาเซลเซียส ทำให้ขนส่งสินค้าได้หลายประเภท และควบคุมอุณหภูมิได้ผ่านระบบนรีโมทหรือควบคุมระยะไกลในขณะที่รถไฟวิ่ง

          3.มีระบบที่เก็บข้อมูลย้อนหลังของแต่ละตู้คอนเทนเนอร์ย้อนหลังได้ 2 ปี ข้อมูลจะเก็บในระบบคลาวด์ที่ดูย้อนหลังได้ เพื่อนำไปวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ในธุรกิจ

          4.มีระบบการส่งสัญญาณเตือน (Alarm) หากพบความผิดปกติ หรือตู้คอนเทนเนอร์ถูกเปิดออกก่อนเวลาที่กำหนด หรืออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเร็วจะส่งสัญญาณเตือนมาที่บริษัท และที่ตู้เทนเนอร์ในกรณีที่มีความผิดปกติเพื่อให้แก้ปัญหาโดยเร็ว

          สำหรับขั้นตอนการขนส่งเริ่มออกจากสถานีรถไฟมาบตาพุดแบบเหมาขบวนตอน 10 โมงเช้า ถึงชายแดนหนองคาย เวลา 4.00 น.ของอีกวัน จากนั้นเวลา 6.00-7.00 น.จะถูกส่งไปที่เวียงจันทน์โลจิสติกส์ (VLP) สถานีท่านาแล้ง ซึ่งเป็นพันธมิตร PAS ที่ VLP รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลลาวถือหุ้น 30% จะจัดการพิธีศุลกากร และสลับขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์รางจาก 1 เมตรที่วิ่งจากไทย เป็น Standard Gate 1.435 เมตร

          โดยปกติมีความล่าช้ากว่าจะถึงสถานีท่านาแล้งใช้เวลา 2-3 วัน แต่ใช้วิธีเหมาขบวน 25-30 ตู้ ทำให้จากมาบตาพุดมาถึงหนองคายใช้เวลาแค่ 14 ชั่วโมง จากนั้นเป็นขั้นตอนการขนส่งที่รถไฟจะวิ่งจากลาวไปจีน

          การขนส่งสินค้าไปถึงชายแดนทางตอนใต้ของจีนผ่านระบบรางถือว่ารวดเร็วและปลอดภัยที่สุด โดยเมื่อเทียบการขนส่งทางเรือใช้เวลา 15 วัน รถบรรทุกใช้เวลา 8-9 วัน ต้องใช้เวลาผ่านด่านศุลกากรเข้าสู่จีนค่อนข้างนานเพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และตรวจได้เพียงวันละ 200-300 คัน ส่วนรถไฟมีเจ้าหน้าที่อีกส่วนมาตรวจใช้เวลาเพียง 3-6 ชั่วโมง

          ทั้งนี้หลังจากประสบผลสำเร็จมีการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยองผ่านลาวไปจีนวันละ 25 ขบวน คิดเป็นประมาณ 250 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยภายในปี 2566 จะขยายมากขึ้นตามออร์เดอร์ที่ได้รับเป็น 1,000 ตู้ โดยจะจัดหาตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มเป็น 2,000 ตู้ ซึ่งมาจาการลงทุนเพิ่มเติมของทางบริษัทและพันธมิตร

          “ปัจจุบันขนส่งสินค้า 4 ขบวนต่อวัน แต่ศักยภาพ ร.ฟ.ท.เพิ่มได้ 10 ขบวนต่อวัน ซึ่งออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ มาเสริมขบวน ซึ่งใช้ตู้คอนเทนเนอร์จากการซื้อเพิ่ม และขอความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์เพิ่มตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งหลายรายเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดย PAS ซื้อมาแล้ว 250 ตู้ และจะทยอยซื้อให้ครบ 1,000 ตู้ภายในปีนี้ หลังจากที่เริ่มขนส่งได้มากขึ้น"

          นอกจากนี้ PAS มองว่ามีโอกาสเป็นผู้นำการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศ โดยจะเติบโตกระโดดเพราะลูกค้าจะใช้การขนส่งทางรางมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนที่เคยขนส่งทางรถยนต์ไปทางจีน และเพราะปัจจุบันการขนส่งทางรางมีสัดส่วนเพียง 5% ของการขนส่งทั้งหมด รวมทั้งจะมีการขนส่งทั้งผลไม้ไทยไปจีนและสินค้าอื่น เช่น เม็ดพลาสติก ยางพารา อาหารทะเลแช่แข็ง ส่วนขบวนที่กลับจากจีนจะมีสินค้าที่นำเข้ามา เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปุ๋ย ผักและผลไม้

           นอกจากนั้นมีพันธมิตรรายอื่นๆ ได้แก่ Asia Express Logistic (AEL) Oriental Merchant Express Co.,Ltd.(OME) ส่วนพันธมิตรในลาว ได้แก่ VLP และพันธมิตรในจีน ได้แก่ Yuxinou,Eternal Asia (EA) ,China Railway Express Co.Ltd.(CRE) และGuangzhou Communication Investment Group co.Ltd.

          PAS ร่วมกับพันธมิตรในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างรากฐานด้านโลจิสติกส์หรือการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้มีศักยภาพและเติบโตได้เร็ว อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเพื่อขยายฐานลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ โดยเชื่อมต่อไปรัสเซียและยุโรปในอนาคต