posttoday

จากเจ้าชายผู้สูงส่งแห่งราชวงศ์อังกฤษ สู่จอมแฉในแบบฉบับสังคมอเมริกัน (2)

12 มกราคม 2566

SPARE หนังสือเจ้าปัญหาของราชวงศ์วินเซอร์ออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม พร้อมยอดขายวันแรกเกือบ 500,000 เล่ม คำถามคือ แล้วถ้าหากเจ้าชายถูกแฉกลับจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และจะมีเรื่องอะไรบ้างที่ทั้งสองคน “เฮนรี่และเมแกน” จะถูกแฉกลับจากชาวโลก

จากเจ้าชายผู้สูงส่งแห่งราชวงศ์อังกฤษ สู่จอมแฉในแบบฉบับสังคมอเมริกัน (2)

กลับกันเมื่อ Spare หนังสือเจ้าปัญหาของราชวงศ์วินเซอร์ออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมยอดขายวันแรกเกือบ 500,000 เล่ม คำถามคือ แล้วถ้าหากเจ้าชายถูกแฉกลับจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และจะมีเรื่องอะไรบ้างที่ทั้งสองคน “เฮนรี่และเมแกน” จะถูกแฉกลับจากชาวโลก ชาวเน็ต และสื่อที่พร้อมลุยขุดคุ้ยกันต่อกับเรื่องฉาวๆ คาวๆ ของทั้งสองคน โดยที่ครอบครัววินเซอร์อีกฝั่งไม่ต้องทำอะไรเลย ปล่อยให้อะไหล่สำรองทำหน้าที่ฟ้องโลกต่อไปงั้นหรือ?

ท่วงทำนองที่เจ้าชายเสิร์ฟมาให้เน้นๆ ก็ต้องมีคอมเมนต์กลับไปเป็นธรรมดาในโลกของธุรกิจคอนเทนต์ จะเป็นยังไงเมื่อเที่ยวบินสู่อิสระภาพมีราคาที่ต้องจ่าย แถมยังมีราคาสูงไม่ธรรมดาเพราะมีเดิมพันคือชีวิตของราชวงศ์ที่เก่าแก่ เคยทรงพลังและอำนาจ และยังทรงอิทธิพลราชวงศ์หนึ่งของโลกอย่างราชวงศ์อังกฤษ

หลังจากนี้ชีวิตของทั้งสองคนอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะการเล่นกับสื่อก็ต้องถูกสื่อเล่นกลับ หนักสุดคือคำตักเตือนจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่พากันออกมาบอกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะการออกมาประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า ปรินซ์เคยสังหารนักรบตาลีบันตอนไปร่วมรบที่อาฟกานิสถานไปถึง 25 คนนั้นทำให้พระองค์ตกเป็นเป้าสังหารได้ อีกทั้งปรินซ์ยังไม่มีทีมอารักขาเหมือนเก่า 

มีอีกหลายสตอรี่นักที่จะตามมาหลังจากนี้ และหากปรินซ์เคยกล่าวโทษสื่อว่าทำลายชีวิตพระองค์และภรรยา ถึงเวลานี้ชาวโลกก็ได้รับรู้อย่างเปิดเผยชัดเจนแล้วว่า ใครทำลายชีวิตใคร

จากเจ้าชายผู้สูงส่งแห่งราชวงศ์อังกฤษ สู่จอมแฉในแบบฉบับสังคมอเมริกัน (2)

เรื่องที่อาจถูกแฉกลับ เรื่องการพบรักกันครั้งแรก

สื่อทั่วไปพร้อมใจกันรายงานว่า เรื่องราวความรักที่ยิ่งกว่าเทพนิยายของทั้งคู่ เริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนกรกฏาคมปี 2016 ตอนนั้นทั้งเจ้าชายแฮร์รี่ และมาร์เคิล ต่างไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่มีโอกาสได้พบกันครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ผ่านการนัดบอดของเพื่อน  เจ้าชายแฮร์รี่ทรงเล่าว่า ครั้งแรกที่พบมาร์เคิล พระองค์ทรงทราบในทันทีว่าเธอคือคนที่ใช่ ถึงขนาดทรงเชื่อว่า หากเจ้าหญิงไดอานา พระมารดา ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ก็น่าจะทรงสนิทสนมกับพระสุณิสา หรือสะใภ้คนนี้ได้เป็นอย่างดี

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ทั้งสองก็นัดพบกันอีก และเจ้าชายแฮร์รี่ทรงตัดสินพระทัยชวนให้มาร์เคิลเดินทางไปท่องเที่ยวตั้งแคมป์กับพระองค์ที่ประเทศบอตสวานา ที่ซึ่งทั้งคู่ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้กันอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก ท่ามกลางบรรยากาศสุดโรแมนติก ก่อนที่มิตรภาพจะพัฒนาไปเป็นความรักนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในขณะที่ข้อมูล (แฉกลับ) อีกด้านบอกว่า ทั้งคู่ไม่ได้พบกันครั้งแรกผ่านนัดบอดที่สวยหรูและโรแมนซ์ขนาดนั้น แต่อาจพบกันครั้งแรกที่ โรงแรม Soho House ผ่านผู้จัดหาสาวงามให้สมาชิกผู้สูงศักดิ์

จากเจ้าชายผู้สูงส่งแห่งราชวงศ์อังกฤษ สู่จอมแฉในแบบฉบับสังคมอเมริกัน (2)

"ไม่บ่น ไม่อธิบาย" (never complain, never explain) กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ของราชวงศ์อังกฤษโดยเฉพาะ

นักเขียนวอลเตอร์ เบจฮอท จากผลงานปี 1867 ว่าด้วย The English Constitution (รัฐธรรมนูญอังกฤษ) เขียนถึงราชวงศ์อังกฤษว่า "เหนือสิ่งอื่นใด ราชวงศ์ของเราต้องได้รับความเคารพ และถ้าคุณเริ่มแหย่เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณก็ไม่อาจแสดงความเคารพได้... ความลึกลับของมันคือชีวิต เราต้องไม่ให้แสงมากระทบกับเวทมนตร์"

มุมมองของเบจฮอททำให้เขาถูกมองว่าเป็นปูชนียบุคคลของวลีเด็ด "อย่าบ่น อย่าอธิบาย" และสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียและลูกหลานของเธอก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของเขา และวลีดังกล่าวยังมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และถูกมองว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จของการครองราชย์อันยาวนานของพรองค์ด้วย

แต่เมื่อเวลาผ่านไป จากวิสัยของสื่อที่ให้ความเคารพต่อราชวงศ์น้อยลงและก้าวร้าวมากขึ้น ทำให้กลยุทธ์ "อย่าบ่น อย่าอธิบาย" ทรงพลังน้อยลง และไม่ได้ผลอีกต่อไป สมาชิกคนแรกๆ ในราชวงศ์ที่ทุบทิ้งกฎเหล็กนี้เสียเองหากจะจำกันได้ในช่วงปี 1990 ก็คือเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3) และไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระชายาในเวลานั้น

ครั้งแรก เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เป็นคอนเทนต์ในหนังสือชีวประวัติ The Prince of Wales: A Biography ที่ได้รับอนุญาตโดยพระองค์ของนักเขียนโจนาธาน ดิมเบิลบี และบทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ที่ตามมาจากสารคดี Charles: The Private Man, the Public Role ที่ออกอากาศทาง ITV ในปี 1994

ส่วนเจ้าหญิงไดอาน่าร่วมกับแอนดรูว์ มอร์ตัน ออกหนังสือ Diana: Her True Story ในปี 1992 และกับ Martin Bashir ในการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ในปี 1995 ทั้งหมดนี้ถูกมองว่าสร้างความเสียหายให้กับราชวงศ์ เพราะพวกเขาไม่สามารถแก้ไขเรื่องราวในสื่อที่ผิดพลาดเกี่ยวกับตนเองได้

จากเจ้าชายผู้สูงส่งแห่งราชวงศ์อังกฤษ สู่จอมแฉในแบบฉบับสังคมอเมริกัน (2)

ส่งผลให้เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซ็กซ์ พระโอรสองค์เล็กของชาร์ลส์ที่ 3 อ้างถึงการที่ครอบครัวของพระองค์ยึดมั่นในกฎดังกล่าวในการให้สัมภาษณ์สื่อเพื่อโปรโมต Spare หนังสือบันทึกความทรงจำเล่มเจ้าปัญหา โดยปรินซ์ได้บอกกับ Anderson Cooper ใน รายการ 60 นาทีว่า "คำขวัญของครอบครัวคือ 'ไม่บ่น ไม่อธิบาย' มันก็เป็นแค่คำขวัญ ... (พระราชวังบัคกิ้งแฮม) จะเลี้ยงอาหารหรือสนทนากับนักข่าว และนักข่าวคนนั้นจะทำหน้าที่เป็นช้อนอย่างแท้จริง คือป้อนข้อมูลและเขียนเรื่องราว และท้ายสุด พวกเขาจะบอกว่าได้ติดต่อไปยัง Buckingham Palace เพื่อขอความเห็น แต่ความจริงก็คือ Buckingham Palace นั่นเองที่เป็นเจ้าของเรื่องราวทั้งหมด"

ด้านควีนคอนซอร์ตคามิลลาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2560 ว่า เมื่อครั้งยังเด็กเธอก็เคยถูกสอนสั่งว่า "อย่าบ่นและไม่ต้องอธิบาย – ลงมือทำเลย" และมอตโต้นี้ยังเป็นที่ชื่นชอบของบุคคลมีชื่อเสียงอีกหลายคนเช่น Zsa Zsa Gabor, Simon Le Bon, Kate Moss และ Raine Spencer 

และด้วยเพราะกฎ no complain no explain นี่เองที่อาจทำให้ปรินซ์มั่นใจว่าจะพูดอะไรก็ได้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ทางครอบครัวผู้สูงศักดิ์ก็คงไม่ตอบโต้อะไร

อะไหล่หรือสแปร์ผู้สูงศักดิ์ยังบอกเล่าถึงที่มาว่า ตัวเองโตมากับการได้รับรู้ว่า เกิดมาเพื่อเป็น "อะไหล่" ในกรณีที่พี่ต้องการใช้ไต ถ่ายเลือด หรือไขกระดูก

"ผมถูกนำเข้าสู่โลกที่เผื่อว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับวิลลี่" 

และยังลามไปถึงพ่อ ปู่และย่า ที่เรียกพี่ชายและตัวเองว่า "heir" กับ "spare" ซึ่งเป็นภาษาที่เป็นสัญลักษณ์ ที่ตัวเองได้รับรู้ตั้งแต่ยังเล็ก และยังบอกด้วยว่า เมื่อตอนอายุ 20 ได้ยินเรื่องราวที่พ่อ (คิงชาร์ลส) พูดกับแม่  (ไดอานา) ในวันที่ตัวเองลืมตาดูโลกว่า "Wonderful! You have already given me an heir and a spare; I have done my job." 



ขอบคุณข้อมูลจาก:

Wikipedia.org

เพจ : มารร้ายสายวัง