ผ.อ.GISTDA ชี้ไทยรอช้าเรื่องอวกาศไม่ได้
GISTDA ชี้เรื่องอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ใกล้ตัวคนไทยมากกว่าที่คิด ต่างประเทศไปไกลมากแล้ว ไทยจะช้าไม่ได้ ต้องลงมือทำวันนี้ รัฐต้องเตรียมความพร้อมให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเกิดขึ้น
วันที่ 7 มีนาคม 2566 เครือเนชั่น นำโดย สปริงนิวส์ กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจและโพสต์ทูเดย์ ได้จัดงานสัมมนา อนาคตประเทศไทย หัวข้อ นวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ให้เกียรติหัวข้อ เทคโนโลยีเปลี่ยนไทย-เปลี่ยนโลก โดยดร.ปกรณ์ได้กล่าวว่า เรื่องอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทย แต่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เนื่องจากเราทุกคนก็ใช้ประโยชน์จากอวกาศอยู่ทุกวัน เช่น Google, GPS การพยากรณ์อากาศ ดังนั้น เทคโนโลยีเปลี่ยน….โลกก็เปลี่ยน อวกาศไม่ใช่เรื่องของประเทศมหาอำนาจ หรือแค่ภาครัฐ แต่มันสามารถเป็นเรื่องของประชาชนและเอกชนด้วย
อย่างที่เห็นว่าทุกวันนี้มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากมาย ข้อมูลดาวเทียม IOT GPS สำคัญมาก ๆ เราสามารถใช้ประโยชน์ทั้งในด้านของ Smart Farming / ความปลอดภัย (Security) / ด้านการเกษตร (Agriculture) ดังนั้น เราต้องตระหนักได้แล้ว เพราะต่างประเทศเขาไปไกลมากแล้ว อย่างปีที่แล้ว Space X ปล่อยดาวเทียมและยานอวกาศไปแล้วกว่า 2,000 เครื่อง ดังนั้น เราจะช้าไม่ได้
ประเทศไทย อดีตเราเป็นผู้ใช้ (USER) แต่เราจะไม่เป็นผู้ใช้อีกต่อไปแล้ว ปีนี้เราจะเดินหน้า Launch ดาวเทียมของภาครัฐ เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของเราเอง (Technology Development) เรามีวิศวกรที่รองรับเทคโนโลยีอวกาศที่กำลังจะเกิดขึ้น
ยกตัวอย่าง ปัญหาด้านสภาพอากาศ ดาวเทียมสามารถตรวจวัดมีเทนในแต่ละพื้นที่ได้ หรือการดูดซับคาร์บอนของพืชแต่ละต้นได้ ซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดปัจจุบันได้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว และเราก็ได้เปิดให้บริการอัปเดตรายเดือนในเรื่องของคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ซึ่งสำคัญมาก ๆ ในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยและโลก
ส่วนเรื่องจุดจอดเกี่ยวกับอากาศยานอวกาศหรือท่าอวกาศยานในประเทศไทยสามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าเราศึกษาวันนี้ คิดวันนี้ ลงมือทำวันนี้ GISTDA ได้ร่วมมือกับเกาหลี ญี่ปุ่น และนาซา ในการพัฒนานวัตกรรมดาวเทียมและอวกาศ และ GISTDA เองก็เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลกด้วย เราจะเปลี่ยนจากเรื่องแต่งให้เป็นวิสัยทัศน์ (Fiction to Vision) เทคโนโลยีอวกาศ เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทุกคนเข้าถึงได้
ทำอย่างไรจะให้เทคโนโลยีนี้ใกล้ตัวประชาชน เรื่องนี้เราต้องตีโจทย์ ว่าความต้องการของประเทศคืออะไร เราต้องการสร้างดาวเทียมไปเพื่อรู้อะไร ด้านการเกษตร ด้านสภาพอากาศ ด้านภัยธรรมชาติ เราพัฒนาดาวเทียมเพื่อพัฒนาประเทศ สิ่งที่เป็นไปได้คือการร่วมมือกับต่างประเทศในการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มเพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ต้นทุนต่ำ และเรื่องนี้รัฐต้องเตรียมความพร้อมให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเกิดขึ้น