posttoday

NIA ยกนวัตกรรม ‘ชูอัตลักษณ์เมืองรอง’ สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ในพื้นที่

07 มีนาคม 2566

NIA ยกระดับการเข้าถึงนวัตกรรมในพื้นที่เมืองรอง สร้างโอกาสเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตของประชากร โดยประเดิมที่ “พัทลุง” ผ่านโมเดล “เขา ป่า นา เล” เป็นจุดแรก พร้อมดึงอัตลักษณ์ “ปลาลูกเบร่” เพิ่มคุณค่าใหม่ให้การท่องเที่ยว

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตระดับท้องถิ่นในกลุ่มเมืองรอง ผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่ตรงกับบริบทเมือง โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดตัวพื้นที่ทดลองใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรแห่งแรกของ ‘จังหวัดพัทลุง’ ซึ่งเป็นเมืองแห่งอัตลักษณ์ด้านอาหาร วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ภายใต้แนวคิด “เขา ป่า นา เล” โมเดล

NIA ยกนวัตกรรม ‘ชูอัตลักษณ์เมืองรอง’ สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ในพื้นที่

“เขา ป่า นา เล” นวัตกรรมยกระดับภูมิภาค

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า NIA ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในพื้นที่ จึงได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อนำเครื่องมือ “การมองอนาคต (Foresight)” มาร่วมวิเคราะห์หาจุดเด่นและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ และการบ่งชี้สัญญาณความเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า

NIA ยกนวัตกรรม ‘ชูอัตลักษณ์เมืองรอง’ สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ในพื้นที่

สำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้ภายใต้แนวคิด “เขา ป่า นา เล” โมเดล ในพื้นที่ ‘จังหวัดพัทลุง’ จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหา 4 ส่วน ได้แก่

1) การสำรวจเส้นทางอพยพของปลาลูกเบร่

2) การเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ในบ่อปิดแห่งแรกในประเทศไทย

3) การยกระดับกระบวนการผลิตปลาลูกเบร่อบแห้งรูปแบบเดิมให้เป็น โรงอบแห้งปลาลูกเบร่แบบไฮบริด โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานความร้อนจากไฟฟ้าด้วยระบบแสดงผลการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดการปนเปื้อน เพิ่มความสามารถด้านการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ให้ได้ราคาสูงขึ้น

4) ยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ: ตามหาปลาลูกเบร่” โดยอาศัยผลการศึกษาจากเครื่องมือด้านอนาคตศาสตร์เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทและอัตลักษณ์ของพื้นที่จังหวัดพัทลุง

NIA ยกนวัตกรรม ‘ชูอัตลักษณ์เมืองรอง’ สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ในพื้นที่

ต่อยอดภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของชาวพัทลุง

ปลาลูกเบร่เป็นปลาที่มีขนาดเล็กมากของห่วงโซ่อาหาร แต่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงต่อเกษตรกรในพื้นที่  ทั้งยังเปรียบเสมือนทูตระบบนิเวศทางทะเลของพื้นที่ปากประ เนื่องจากเป็นปลาที่มีความอ่อนไหวต่อมลภาวะทางน้ำ อีกทั้งยังเป็นดัชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำและความสะอาดของแหล่งน้ำ

การเลือก “โซนเล” เป็นพื้นที่ทดลองการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ: ตามหาปลาลูกเบร่” จะก่อให้เกิดการจัดการนวัตกรรม 3 ส่วน ได้แก่

NIA ยกนวัตกรรม ‘ชูอัตลักษณ์เมืองรอง’ สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ในพื้นที่

 1) “เขา ป่า นา เล” โมเดล ชูอัตลักษณ์ให้พัทลุงเกิดความโดดเด่น ส่งเสริมให้ปลาลูกเบร่เป็นตัวละครในการบอกเล่าเรื่องราวของโซนเล

2) การใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการขยายผล สร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ โดยไม่ต้องพึ่งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอย่างเดียว

 3) ทำให้ท่องเที่ยวชุมชนมีมาตรฐาน ผู้ใช้บริการได้รับประสบการณ์ที่ดี และส่งเสริมให้เกิดการสร้างแบรนด์จังหวัดพัทลุงให้เป็นที่รู้จักในกว้าง

NIA ยกนวัตกรรม ‘ชูอัตลักษณ์เมืองรอง’ สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ในพื้นที่ ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาอนาคตพัทลุง จึงถูกนำมาต่อยอดการศึกษาฐานข้อมูลเชิงลึกด้านนวัตกรรมการเกษตร เพื่อยกระดับให้จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่นวัตกรรมได้ในอนาคต ทั้งยังสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนและเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

NIA ยกนวัตกรรม ‘ชูอัตลักษณ์เมืองรอง’ สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ในพื้นที่

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุกูล อินทระสังขา ผู้อำนวยการสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ อธิบายว่า ปลาลูกเบร่ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นของทะเลน้อยที่เข้ามาสู่คลองปากประและคลองสายเล็กๆ มีจำนวนลดลงอย่างมาก รวมถึงปัญหาการแปรรูปปลาลูกเบร่อบแห้งที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะดั้งเดิมจะเป็นการตากปลาลูกเบร่บนอวนบริเวณริมถนนแล้วนำมาบรรจุใส่ถุงขายทำให้มีการปนเปื้อน

สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชนจึงเลือกเอาปลาลูกเบร่มาเป็นหัวใจหลักในการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยง การแปรรูปให้มีคุณค่าสูงขึ้น อีกทั้งช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอีกด้วย

NIA ยกนวัตกรรม ‘ชูอัตลักษณ์เมืองรอง’ สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ในพื้นที่

สู่นวัตกรรมเกษตรโซนเล

พื้นที่ทดลองใช้นวัตกรรมเกษตรโซนเล ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านชายคลองปากประ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปดำเนินงานช่วยแก้ปัญหา 4 ส่วน ได้แก่

1) การสำรวจเส้นทางอพยพของปลาลูกเบร่ด้วยระบบแผนที่ภูมิศาสตร์ GIS เพื่อวัดพิกัดและติดตามการเคลื่อนย้ายของฝูงปลาลูกเบร่

2) การเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ในบ่อปิดแห่งแรกในประเทศไทย

3) การยกระดับกระบวนการผลิตปลาลูกเบร่จากรูปแบบเดิมให้เป็นระบบ IOT เพื่อเชื่อมข้อมูลการแปรรูป ความชื้น อุณหภูมิ เวลาในการอบเข้าสู่ระบบคลาวด์ รายงานผลแบบเรียลไทม์ และสามารถเก็บเป็นข้อมูลสำหรับปรับปรุงกระบวนการแปรรูปต่อไป ส่วนขั้นตอนการผลิตจะเปลี่ยนเป็นการใช้ยอยักษ์จับปลาลูกเบร่ขึ้นมา จากนั้นนำมาคลุกเกลือและตากแห้งด้วยระบบความร้อนแสงอาทิตย์ ร่วมกับระบบลมร้อนภายในตู้อบแห้งพาราโบล่าที่มีระบบตรวจวัดอุณหภูมิและดูดความชื้น ทำให้ปลาลูกเบร่อบแห้งได้เร็วขึ้น ลดการปนเปื้อน จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ราคาสูงขึ้น ก่อเกิดรายได้กลับเข้าชุมชนได้มากยิ่งขึ้น

NIA ยกนวัตกรรม ‘ชูอัตลักษณ์เมืองรอง’ สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ในพื้นที่

ผลักดันอาหารท้องถิ่น ด้วยแอปฯ “ปิ่นโตร้อยสาย”

NIA ยังได้พัฒนา “แอปพลิเคชันบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิต “ปิ่นโตร้อยสาย” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดรูปแบบการให้บริการปิ่นโตอาหารแบบเดิมตั้งแต่ปี 2546 ตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อที่ลูกค้าสามารถใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านโทรศัพท์หรือการติดต่อผ่านหุ่นยนต์โต้ตอบอัตโนมัติ การผลิตปิ่นโตอาหาร ที่นอกจากจะเน้นความชำนาญตามแหล่งวัตถุดิบของชุมชนแล้ว ยังเพิ่มเติมการจับคู่กับความเชี่ยวชาญของผู้ผลิตที่มีคะแนนความพึงพอใจของลูกค้า การจัดส่งสินค้า ที่สามารถเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางและการจัดส่งผ่านแชทบอท รวมถึงการวัดความพึงพอใจ และการตรวจสอบคุณภาพอาหารย้อนกลับ

“ปิ่นโตร้อยสาย” ถือเป็นแนวคิดที่สร้างประโยชน์ให้คนในชุมชนในแง่ของการลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน