posttoday

มิติใหม่แห่งการขนส่ง กองทัพสหรัฐฯมุ่งพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ

06 มีนาคม 2566

ในช่วงที่ผ่านมาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับได้รับการพูดถึงกว้างขวาง หลายประเทศและบริษัทเร่งพัฒนาเพื่อผลักดันธุรกิจนี้ให้เป็นจริงจนเราเริ่มมองเห็นปลายทาง แต่ล่าสุดกองทัพอากาศสหรัฐฯกำลังจะล้ำไปอีกขั้น ด้วยการพัฒนาเครื่องบินขนส่งไร้คนขับ

แนวคิดการมีอยู่ของรถยนต์ไร้คนขับไม่นับว่าแปลกใหม่ หลายบริษัทต่างเร่งพัฒนาระบบขับเคลื่อนให้รองรับการใช้งานประเภทนี้ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีบริษัทใดมีศักยภาพเพียงพอในการปล่อยให้รถขับเคลื่อนตัวเองได้เต็มปาก แต่หลายประเทศต่างพยายามผลักดันเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่ยุคสมัยของยานยนต์ไร้คนขับโดยเร็ว

 

          และล่าสุดแนวคิดระบบขับเคลื่อนอัตโนมัตินี้ก็เริ่มมีการขยายไปถึงเครื่องบินขนส่งยุทโธปกรณ์แล้วเช่นกัน


มิติใหม่แห่งการขนส่ง กองทัพสหรัฐฯมุ่งพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ

ก้าวใหม่แห่งอากาศยาน เครื่องบินขนส่งไร้คนขับ

 

          แนวคิดนี้เริ่มต้นจากกองทัพอากาศสหรัฐฯได้เซ็นสัญญากับบริษัท Reliable Robotics ในการพัฒนาเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ให้สามารถขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ จากการเห็นความสำคัญของอากาศยานประเภทนี้ ที่รับหน้าที่ขนส่งทั้งกำลังคนและยุทโธปกรณ์ของกองทัพเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ

 

          ที่ผ่านมาระบบขนส่งทางอากาศของสหรัฐฯอาศัยเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ เช่น Lockheed Martin C-5 Galaxy หรือ Boeing C-17 Globemaster III ในการลำเลียง สิ่งนี้ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการรบให้แก่กองทัพและกำลังพล เพราะจะช่วยให้สามารถจัดส่งส่วนที่ขาดได้ตรงความต้องการ จึงถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทางยุทธวิธี

 

          แน่นอนทุกคนย่อมรู้ในจุดนี้ทำให้ข้าศึกต้องมองหาทางป้องกัน อาวุธต่อต้านอากาศยานจำนวนมากถูกคิดค้นเพื่อตัดช่องทางขนส่งให้ขาดช่วง นั่นทำให้นอกจากการขนส่งยุทโธปกรณ์สู่สนามรบล่าช้าต้องเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์แล้ว หลายครั้งยังหมายถึงชีวิตของพลขับหรือนักบินฝีมือดี ที่เป็นบุคลากรหายากและใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการฝึกฝน

 

          ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดแนวคิดหาทางแก้ปัญหาให้เครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ทำงานได้โดยไร้คนขับ โดยการพัฒนา เอไอ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ขึ้นมารับหน้าที่ควบคุมตั้งแต่ขึ้นบินยันลงจอด โดยอาศัยนักบินมนุษย์คอยควบคุมไว้อีกชั้นจากระยะไกลเพื่อรับมือกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

 

          ทางบริษัทประเมินว่าวิธีนี้จะช่วยลดจำนวนการเสียชีวิตของนักบินลงมาก ลดปัญหาขาดแคลนบุคลากรและความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ทางการบิน อีกทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ขับเคลื่อนยังอาจทำให้การรับมือเหตุฉุกเฉินทำได้ดีขึ้น เพราะเอไอสามารถคำนวณหาเส้นทางทดแทนได้แบบเรียลไทม์ และยังรองรับปฏิบัติการที่มีความเสี่ยงได้มากกว่าคนจริงอีกด้วย


มิติใหม่แห่งการขนส่ง กองทัพสหรัฐฯมุ่งพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ

ปัญหาของระบบยานยนต์ไร้คนขับที่ยังชวนให้ตั้งคำถามในปัจจุบัน

 

          หลายท่านอาจรู้สึกว่าอากาศยานไร้คนขับเป็นเรื่องใหม่แต่แท้จริงไม่ใช่ นับแต่การเข้าสู่ยุคสมัยแห่งรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มต้น รถบินได้ทยอยถูกพัฒนาขึ้นมาไม่ขาดสาย นั่นทำให้หลายบริษัทต่างพยายามชูจุดเด่น นำไปสู่การเกิดขึ้นของรถบินได้ไร้คนขับในที่สุด

 

          ปัจจุบันรถบินได้ไร้คนขับอยู่ในขั้นระหว่างการพัฒนาเริ่มทยอยเปิดตัวทดสอบกันมากขึ้น เช่น รถบินได้ไร้คนขับสัญชาติอิสราเอล AIR ซึ่งประสบความสำเร็จในขั้นตอนทดสอบ หรือจะเป็นบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Volkswagen ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลในปัจจุบัน

 

          กระนั้นเราก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า การพัฒนายานยนต์ไร้คนขับไม่ใช่เรื่องง่าย ปัจจุบันรถยนต์ไร้คนขับที่ทันสมัยที่สุดยังคงอยู่ในระดับ 3 เท่านั้น โดยสามารถช่วยให้เราละสายตาหรือสมาธิจากรถได้ชั่วครู่ แต่ต้องเตรียมพร้อมในการกลับเข้าควบคุมรถได้ตลอดเวลา ไม่สามารถขับเคลื่อนทดแทนตัวเราได้แท้จริงตามที่หลายคนเข้าใจ

 

          อีกทั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ได้รับอนุญาตก็ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน แม้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่กำหนด เช่น แท็กซี่ไร้คนขับของ Cruise ที่เคยจอดตรงทางแยกเดียวกันนับสิบคัน ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดเป็นวงกว้าง เป็นอีกหนึ่งข้อยืนยันว่ารถยนต์ไร้คนขับยังไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ

 

          เปรียบเทียบเทคโนโลยีนี้กับแนวคิดในการสร้างอากาศยานไร้คนขับ จริงอยู่ที่หลายบริษัททำการพัฒนาต่อเนื่อง ศักยภาพของเอไอก็สูงขึ้นทุกวันจนแซงหน้ามนุษย์ในบางด้าน แต่เมื่อต้องบังคับควบคุมซับซ้อนของยานยนต์ที่มีการเคลื่อนไหวระนาบ 3 มิติแบบเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถทำงานได้ราบรื่นตามที่คิดจริงหรือ?

 

          เพราะเราต่างทราบดีว่าการสัญจรทางอากาศมีตัวแปรที่ต้องระมัดระวังมากกว่าบนพื้นดิน กระนั้นในปัจจุบันแม้แต่การใช้งานในพื้นที่จำกัดบนทางราบยังทำงานได้ไม่ราบรื่น ชวนให้ตั้งคำถามว่า หากนำมาใช้ในอากาศยานขนาดใหญ่ที่ขนยุทโธปกรณ์ทางการรบ หากเกิดข้อผิดพลาดจะนำไปสู่ความเสียหายวงกว้างขนาดไหน?

 

          แม้ทางบริษัทยืนยันว่ายังมีมนุษย์คอยควบคุมเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ก็ไม่ได้ช่วยให้ความกังวลต่ออุบัติเหตุที่อาจะเกิดขึ้นหมดไปอยู่ดี

 

 

          คงต้องรอดูต่อไปว่าโครงการนี้จะสามารถพัฒนาจนใช้งานจริงหรือยุติลงกลางคัน แม้ส่วนหนึ่งแนวคิดนี้จะถือเป็นเรื่องดีที่ช่วยรักษาชีวิตของนักบินมากประสบการณ์ แต่คงจำเป็นต้องผ่านการทดสอบและพิสูจน์กันอีกมาก กว่าอากาศยานไร้คนขับจะได้การยอมรับอย่างแท้จริง

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.businesswire.com/news/home/20230208005304/en/U.S.-Air-Force-Awards-Large-Aircraft-Automation-Study-to-Reliable-Robotics

 

          https://newatlas.com/military/us-air-force-flying-robotic-multi-engine-jet-transports/

 

          https://www.posttoday.com/international-news/688753

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1460

 

          https://www.blognone.com/node/130184