posttoday

สู่โลกที่ไร้ขีดจำกัด อุปกรณ์ส่งความรู้สึกจากโลกเสมือนจริง

26 มกราคม 2566

หนึ่งปีนับจากการมุ่งสู่โลกเสมือนจริงเต็มตัวของ Meta เราได้เห็นความคืบหน้าจาก Metaverse ของพวกเขาไม่มากนัก แต่ใช่ว่าจะไม่เกิดการพัฒนาขึ้นเสียทีเดียว เมื่อล่าสุดมีการคิดค้นฟิล์มไฮโดรเจลที่ส่งความรู้สึกจากโลกเสมือนจริงสู่ผิวหนังได้

หลายบริษัทต่างพยายามพัฒนาโลก Virtual reality ของตัวเองเพื่อก้าวเป็นผู้นำแห่งโลกเทคโนโลยีใหม่ บางส่วนหันเหความสนใจไปยัง Augmented Reality เพื่อส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพการใช้ชีวิตประจำวันไปด้วย นำไปสู่การคิดค้นอุปกรณ์มากมายเพื่อรองรับและผลักดันเทคโนโลยีของตัวเอง

 

          ล่าสุดความเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อโลกเสมือนจริงสามารถส่งผ่านความรู้สึกมาถึงผิวหนังของเราได้

สู่โลกที่ไร้ขีดจำกัด อุปกรณ์ส่งความรู้สึกจากโลกเสมือนจริง

จากภาพและเสียงสู่สัมผัสจากโลกเสมือนจริง

 

          ทุกวันนี้อุปกรณ์ในการเข้าสู่โลกเสมือนจริงมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ทั้งแว่น VR ที่เริ่มทยอยได้รับความนิยมมากขึ้น จนถึงอุปกรณ์พื้นฐานทั่วไปอย่างโทรศัพท์มือถือในการใช้งาน AR แต่อย่างที่เราทราบกันว่าอุปกรณ์ในกลุ่มนี้ล้วนพาเราเข้าสู่โลกเสมือนจริงจากประสาทสัมผัสทางสายตา

 

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมองเห็นคือหนทางง่ายที่สุดในการพาเราเข้าสู่โลกเสมือนจริง นอกจากเป็นประสาทสัมผัสหลักของคนเรา นี่ยังเป็นเทคโนโลยีในการจัดแสดงภาพเป็นสิ่งอยู่คู่กับเรามานับร้อยปี ได้รับการพัฒนามายาวนาน ถูกยอมรับในการเป็นสื่อบันเทิงแขนงต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากทิศทางการพัฒนาจะถูกมุ่งเน้นมาทางนี้เป็นอันดับแรก

 

          ที่ตามมาไม่แพ้กันคือเสียง หนึ่งในประสาทสัมผัสที่ได้รับการจัดแสดงให้รับชมสื่อบันเทิงมายาวนานยิ่งกว่า ยิ่งเทคโนโลยีในการถ่ายทอดเสียงถูกพัฒนาอย่างยาวนานและหลากหลาย จึงเป็นเรื่องง่ายในการเพิ่มระบบนี้เข้าไปในโลกเสมือนจริง เพื่อเพิ่มมิติและความสมจริงให้แก่มันมากยิ่งขึ้น

 

          แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโลกเสมือนจริงที่ตั้งใจจะสร้างขึ้นจะมีให้สัมผัสแค่เพียงภาพกับเสียงเช่นกัน

สู่โลกที่ไร้ขีดจำกัด อุปกรณ์ส่งความรู้สึกจากโลกเสมือนจริง

แนวทางการพัฒนาอุปกรณ์ถ่ายทอดสัมผัสจากโลกเสมือนที่ผ่านมา

 

          โดยเฉพาะบริษัทที่มุ่งเป้าพัฒนา Virtual reality โลกเสมือนจริงเป็นของตัวเองอย่าง Meta ที่กำลังผลักดัน Metaverse อย่างเต็มที่ย่อมไม่หยุดอยู่แค่นี้ พวกเขาก็มีการพัฒนาถุงมือชนิดพิเศษเพื่อเลียนแบบสัมผัส และสร้างการตอบสนองจากโลกเสมือนให้เราได้รับรู้บนผิวหนังในความเป็นจริงขึ้นมาเช่นกัน

 

          อุปกรณ์ชิ้นนี้มีชื่อว่า haptic gloves โดยการติดตั้ง Actuator หรือมอเตอร์ขนาดจิ๋วและชิปประมวลผลขนาดเล็ก เพื่อสร้างแรงดันตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวและข้อมูลที่เกิดขึ้นในโลกเสมือนทั้งใน VR และ AR อาศัยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อประเมินการเคลื่อนไหวจนถึงกลไกการตอบสนองที่เหมาะสมต่อมือของผู้ใช้งาน

 

          แม้ได้รับการพัฒนาและความสนใจจาก Meta แต่เทคโนโลยีนี้ยังติดข้อจำกัดมากมายตั้งแต่การสร้างการตอบสนองจากเซ็นเซอร์แบบเรียลไทม์, น้ำหนักและความยืดหยุ่นของวัสดุ, ความสวมใส่สบายของผู้ใช้, การส่งสัญญาณข้อมูลเพื่อการตอบสนองที่สมจริง รวมถึงการคุมต้นทุนการผลิตให้พอเหมาะเพื่อให้คนทั่วไปสามารถจับจองใช้งานได้อีกด้วย

 

          จริงอยู่แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีนี้น่าสนใจและอาจนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมากในอนาคต หากได้รับการพัฒนาจนสมบูรณ์ อาจกลายเป็นก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมมากมายตั้งแต่เครื่องยนต์กลไก, หุ่นยนต์ ไปจนการแพทย์ ที่อาจกลายเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือชิ้นสำคัญ แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านวัสดุ, เซ็นเซอร์, อัลกอริทึม ไปจนระบบการทำงานโดยรวม ทำให้ปัจจุบันยังไม่มีการายงานความคืบหน้าในการพัฒนาเพิ่มเติม

สู่โลกที่ไร้ขีดจำกัด อุปกรณ์ส่งความรู้สึกจากโลกเสมือนจริง

 

 

          สู่ไฮโดรเจลชนิดใหม่ที่พาเราเข้าสู่อีกขั้นของความเสมือนจริง

 

          ผลงานนี้เป็นของ City University of Hong Kong ได้พัฒนาไฮโดรเจลเป็นแผ่นฟิล์มบางใสชนิดใหม่ในชื่อ WeTac สร้างการตอบสนองต่อโลกเสมือนจริงทั้งในรูปแบบ VR และ AR โดยพวกเขากล่าวว่านี่จะเป็นเหมือน ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถสวมใส่และใช้งานได้อย่างสะดวก

 

          ดังที่บอกไปแนวคิดด้านการตอบสนองต่อผิวหนังจากโลกเสมือนจริงไม่ใช่สิ่งเพิ่งเกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาอุปกรณ์เหล่านั้นกลับไม่ได้ถูกพัฒนาออกมาใช้จริง ไม่แม้แต่ถูกพัฒนาออกมาเป็นรูปร่าง สาเหตุสำคัญมาจากการสร้างการตอบสนองจากโลกเสมือนที่สมจริง อุปกรณ์ที่ใช้งานต้องมีความซับซ้อนและตั้งค่ามากมาย ทำให้มีขนาดเทอะทะและน้ำหนักที่มากเกินไปเช่นกัน

 

          แต่ WeTac นั้นไม่ใช่ตัวอุปกรณ์ประดิษฐ์จากไฮโดรเจลที่มีลักษณะคล้ายยางแต่ได้รับการออกแบบให้สวมใส่สบาย ทำการยึดเกาะบนผิวหนังบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือทางด้านหน้าด้วยวัสดุบางเฉียบ เชื่อมต่อกับแบตเตอรี่ขนาดเล็กและระบบบบลูทูธในแผ่นพลาสติกขนาดราว 5 เซนติเมตรที่รองรับการชาร์จแบบไร้สาย

 

          ขั้นตอนการทำงานของอุปกรณ์จะเกิดจากอิเล็กโทรดขนาดจิ๋ว 32 ชิ้น กระจายไปทั่วทั้งทั้งมือ เมื่อทำงานจะส่งผ่านกระแสไฟฟ้าไปตามอิเล็กโทรด เพื่อสร้างสัมผัสการตอบสนองที่ต้องการ โดยสามารถสร้างความรู้สึกในการจับลูกเทนนิสหรือมีหนูวิ่งไปมาบนฝ่ามือได้เสมือนจริง ตัวอุปกรณ์สามารถเพิ่มแรงดันให้รู้สึกอึดอัดเหมือนกำลังจับต้นกระบองเพชร แต่จะไม่สร้างความเจ็บปวดหรือทำอันตรายแก่ผู้ใช้งาน

 

          เป้าหมายในการพัฒนาอุปกรณ์นี้คือการใช้งานคู่กับอุปกรณ์โลกเสมือนแบบต่างๆ ทางทีมพัฒนาตั้งเป้าว่าอยากให้ WeTac สร้างสัมผัสการตัดผ่านวัตถุในเกม VR อย่าง Beat Saber รวมถึงความรู้สึกในการจับโปเกมอนในเกม AR อย่าง Pokemon Go ได้อย่างสมจริง แต่พวกเขาก็คาดหวังว่า ในอนาคตอุปกรณ์นี้จะสามารถเชื่อมต่อและส่งผ่านความรู้สึกของสิ่งที่สัมผัสจากหุ่นยนต์ในระยะไกลได้อีกด้วย

 

 

          แน่นอนนี่อาจเป็นก้าวที่ไกลไปสักหน่อยเมื่อโลกเสมือนจริงอย่าง VR ยังไม่คืบหน้านัก แต่อย่างน้อยก็เป็นทิศทางน่าสนใจชวนให้คาดหวัง ในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปใช้ในทิศทางหลากหลาย ตั้งแต่การทำงานละเอียดอ่อนจากระยะไกลโดยไม่ต้องเดินทาง หรือสร้างซิมูเลเตอร์เสมือนจริงเพื่อให้แพทย์หรือนักกีฬาพร้อมรับมือสถานการณ์จริงก็เป็นได้

 

 

          ที่มา

 

          https://www.springnews.co.th/spring-life/818364

 

          https://newatlas.com/wearables/haptic-hydrogel-wearable-touch-vr-ar/?fbclid=IwAR0rFTNt82df7JvW_7YpQ1NR6wDJbpFlqhoCRCc35jaIaikzmLSMAc0lMSA