posttoday

เมื่อเมตาเวิร์สกำลังจะมีกลิ่นและผิวสัมผัส

16 มกราคม 2566

เมตาเวิร์ส หรือ ความจริงเสมือน ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับการพูดถึงมากในปัจจุบัน ล่าสุดเริ่มมีการพัฒนาให้ความจริงเสมือนแสดงผล กลิ่น และ ผิวสัมผัส ที่จะช่วยยกระดับวิทยาการนี้ไปให้ไกลขึ้นมากกว่าการใช้งานเพื่อความบันเทิง

แนวคิดเกี่ยวกับเมต้าเวิร์สกับการดำดิ่งสู่ความจริงเสมือนไม่ใช่ของใหม่ หลังการเปิดตัวอย่างครึกโครมของ Meta หลายบริษัทต่างมุ่งเน้นผลักดันเทคโนโลยีไปในทางเดียวกัน ในการพาเราเข้าสู่โลกเสมือนจริงที่กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

          จนล่าสุดเริ่มมีการพัฒนาให้เราสามารถรับกลิ่นและผิวสัมผัสได้จากโลกเสมือนจริงขึ้นมา

เมื่อเมตาเวิร์สกำลังจะมีกลิ่นและผิวสัมผัส

 

การรับกลิ่นจากโลกเสมือนจริง

 

          แนวคิดการส่งผ่านกลิ่นจากโลกเสมือนจริงได้รับการพัฒนามาพักใหญ่ เพื่อยกระดับประสบการณ์ที่ได้รับในโลกเสมือนจริงให้ใกล้เคียงกับโลกจริงยิ่งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาระบบการรับกลิ่นให้เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ VR จากหลากหลายบริษัท

 

          ปัจจุบันความพยายามในการพัฒนาประสาทสัมผัสการรับกลิ่น เกิดขึ้นทั้งในบริษัทสตาร์อัพจำนวนมาก ไปจนบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง HTC ซึ่งกำลังผลักดันให้แว่น VR รุ่นท็อปติดตั้งระบบจำลองกลิ่นและตอบสนองกับการแสดงผลบนโลกเสมือนจริงนั้น

 

          ตัวอย่างเช่น ผลงานจากทีมวิจัยแห่ง Stockholm University และ Malmo University แห่งสวีเดน กับการคิดค้นอุปกรณ์ร่วมในการเชื่อมต่อแว่น VR และสามารถจำลองกลิ่นหลากหลายชนิดในโลกเสมือนจริง โดยมีหัวเชื้อ 4 ชนิดเพื่อผสมผสานเป็นกลิ่นต่างๆ ปัจจุบันถูกใช้ในการทดสอบจำลองกลิ่นไวน์

 

          อีกบริษัทที่มีการประกาศตัวกับเทคโนโลยี้นี้คือ OVR Technology กับการแสดงเทคโนโลยีชุดอุปกรณ์ VR ชนิดใหม่ซึ่งมีหัวเชื้อในการสร้างกลิ่นถึง 8 ชนิด สามารถนำมาผสมผสานให้เกิดรูปแบบมากมาย โดยมีแผนการวางจำหน่ายภายในปี 2023

 

          นั่นยังไม่ใช่ที่สุดของ Virtual reality เมื่อสิ่งที่จะส่งมาจะไม่เพียงกลิ่นแต่ยังมีผิวสัมผัสอีกด้วย

เมื่อเมตาเวิร์สกำลังจะมีกลิ่นและผิวสัมผัส

อีกขั้นของโลกเสมือนจริงกับการส่งผ่านผิวสัมผัส

 

          นี่เป็นอีกส่วนที่เริ่มได้รับความสนใจยิ่งขึ้น แม้การพัฒนาในส่วนนี้อาจประสบปัญหาอยู่บ้าง เมื่ออุปกรณ์ที่ใช้งานไม่ได้จำกัดแค่เพียงแว่นตาหรือชุดหูฟังอีกต่อไป คราวนี้ไปไกลถึงการต้องนำอุปกรณ์มาสวมลงบนร่างกายให้สามารถส่งผ่านการสัมผัสได้ในที่สุด

 

          ความสำเร็จจากแนวคิดนี้ เช่น ผลงานจากบริษัท Contact CI กับถุงมือ Maestro EP ที่สามารถส่งผ่านความรู้สึกของวัตถุที่สัมผัสจากโลกเสมือนจริง โซญระบบเซ็นเซอร์โซนาร์ MaxBotix MB7066 ทำการตรวจจับวัตถุด้วยคลื่นอัลตร้าซาวน์ จากนั้นจึงสร้างแรงกดผ่านมอเตอร์ขนาดเล็กสามตัวบริเวณ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยคาดว่าถุงมือนี้จะออกวางจำหน่ายภายในปี 2023 สนนราคาอยู่ที่ 3,750 ดอลลาร์(ราว 125,000 บาท)

 

          อีกหนึ่งผลงานที่ต้องพูดถึงคือ ชุด OWO haptic จากบริษัท OWO ที่ส่งผ่านความรู้สึกจากโลกเสมือนสู่ผู้สวมใส้ แตกต่างจากระบบส่งความรู้สึกเจ้าอื่นที่ใช้อุปกรณ์สั่น ชุดนี้อาศัยการกระตุ้นจากไฟฟ้าอ่อนๆ ทำให้สามารถปรับระดับและสร้างความรู้สึกทางกายภาพที่ละเอียดอ่อนได้เกือบทุกรูปแบบ

 

          การพัฒนาอุปกรณ์ขึ้นมารองรับไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ ปัจจุบันอุปกรณ์ส่งเสริมการใช้งาน VR ทั้งหลาย ยังคงได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไอทียักษ์ใหญ่หลายแห่ง เช่น Microsoft หรือ Meta ที่ยังคงทุ่มเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อผลักดันและแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของโลกเสมือนจริงที่จะเกิดขึ้น

 

          แต่นั่นอาจทำใหเกิดคำถามแก่หลายท่านเช่นกันว่า แม้มีการพัฒนาไกลขนาดนี้แต่เราสามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง?

เมื่อเมตาเวิร์สกำลังจะมีกลิ่นและผิวสัมผัส

 

 

          แนวโน้มการใช้งาน Virtual reality ที่อาจไม่แพร่หลายอย่างทั่คิด

 

          เมื่อพูดถึงการใช้งาน VR ในปัจจุบัน สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคนส่วนมากคือใช้เล่นเกม หรือไม่ก็ท่องโลกเสมือนจริงเพื่อความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ นั่นไม่ใช่แนวทางที่ผิดนี่คือสิ่งที่หลายบริษัทต่างพากันโปรโมท กระนั้นเชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังค่อนข้างรู้สึกว่า เทคโนโลยีนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรานัก

 

          นอกจากนี้แม้บริษัทระดับโลกจำนวนมากทยอยเข้าร่วมเมต้าเวิร์ส จนคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากโลกเสมือนจริงในปี 2030 ได้ถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ก็จริง แต่การใช้งานในปัจจุบันยังเกิดขึ้นในวงจำกัด คนที่สามารถเข้าถึงมีจำนวนไม่มาก จึงเป็นการยากหากต้องการให้เทคโนโลยีนี้ดึงดูดคนในฐานะสื่อบันเทิงอย่างเดียว

 

          แต่อันที่จริงอุปกรณ์ VR เองก็มีรูปแบบการใช้งานอื่นที่สร้างคุณประโยชน์ได้มากเช่นกัน

 

          ปัจจุบันเทคโนโลยี VR ได้รับความสนใจในการใช้งานด้านจำลองเหตุการณ์ เพื่อฝึกฝนบุคลากรหรือผู้สวมใส่ ช่วยให้สามารถสร้างบุคลากรในอาชีพได้มากมายโดยมีต้นทุนน้อยลง เช่น การใช้อุปกรณ์จำลองกลิ่นเพื่อฝึกฝน นักชิมไวน์ และ ผู้ผลิตน้ำหอม หรือใช้ถุงมือ Maestro EP ในการฝึกฝนนักบินของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

 

          อีกด้านที่มีการนำไปใช้งานเข้มข้นไม่แพ้กันคือเชิงการแพทย์ ตั้งแต่การใช้ VR ในการผ่าตัดมะเร็งและเชื่อมกระดูกสันหลังของผู้ป่วย, ใช้รักษาการสูญเสียการดมกลิ่นหลังติดโควิด ไปจนการใช้งานเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อของผู้ป่วยเพื่อการรักษาและออกกำลังกาย ฯลฯ

 

          นั่นทำให้การใช้งาน VR แม้ไม่แพร่หลายเท่าที่หลายคนคาดหวังแต่ก็ช่วยพัฒนาสังคมมนุษย์ได้มากทีเดียว

 

 

 

          แน่นอนว่าข้อมูลที่นำมาอ้างอิงคือสิ่งที่เกิดขึ้นและงานวิจัยในปัจจุบันเป็นหลัก ด้วยความที่อยู่ในช่วงบุกเบิกเราจึงยังไม่เห็นศัยภาพที่แท้จริงนัก แต่ในอนาคตเมื่อได้รับการพัฒนาต่อยอดจนสมบูรณ์ นี่อาจเป็นเทคโนโลยีสำคัญต่อการใช้ชีวิตไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ตก็เป็นได้

 

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://techxplore.com/news/2023-01-ces-center-stage-metaverse.html

 

          https://interestingengineering.com/innovation/new-technology-add-smell-in-vr

 

          https://interestingengineering.com/innovation/vr-ar-gloves-replace-hands-on-training

 

          https://interestingengineering.com/innovation/haptic-shirt-feel-video-game