posttoday

การแพทย์อัจฉริยะ การใช้ปัญญาประดิษฐ์วินิจฉัยและรักษาโรค

20 ธันวาคม 2565

ปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้าเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเรามากขึ้น เมื่อความสามารถของเอไอได้รับการพัฒนาขึ้นทุกวัน หลายภาคส่วนเกิดความกังวลในการถูกเข้ามาแทนที่ แต่สำหรับวงการแพทย์นี่อาจเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่จะรักษาชีวิตผู้คนได้อีกมากทีเดียว

AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ หนึ่งในเทคโนโลยีที่เริ่มได้รับการพูดถึงมากขึ้น เมื่อปัจจุบันเริ่มถูกนำไปใช้ในหลายแนวทาง ตั้งแต่การสร้างภาพศิลปะ การเขียนโปรแกรม หรือการแปลภาษา เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตเรามากขึ้น ในบางรายอาจถึงขั้นนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน เช่น อุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการ

 

          ล่าสุดปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีนี้มาใช้งานเชิงการแพทย์

 

ยุคสมัยใหม่แห่งการแพทย์ เมื่อปัญญาประดิษฐ์กำลังจะเข้ามาเกี่ยวพันชีวิตคน

 

          การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แท้จริงหลายปีมานี้เพื่อลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากบุคคล เอไอเริ่มถูกนำเข้ามาทั้งช่วยเหลือ สนับสนุน ไปจนถึงทดแทนแรงงาน หลายภาคส่วนเริ่มได้รับผลกระทบ พร้อมกับการตั้งคำถามว่า การใช้งานปัญญาประดิษฐ์จะเป็นการช่วยเหลือหรือบ่อนทำลายมนุษย์กันแน่?

 

          แต่ปัจจุบันหลายบริษัทเองก็เริ่มให้การยอมรับเทคโนโลยีนี้มากขึ้นโดยเฉพาะในแวดวงการแพทย์ ที่เริ่มมีการใช้งานเอไอช่วยประเมินอาการจนถึงช่วยชีวิตผู้ป่วย เช่น

การแพทย์อัจฉริยะ การใช้ปัญญาประดิษฐ์วินิจฉัยและรักษาโรค

 

 

          - Google พัฒนาและขาย AI ที่ใช้ในการตรวจมะเร็งเต้านม

 

          เมื่อพูดถึงบริษัทไอทีอันดับโลกย่อมต้องมี Google ที่ทำการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ด้วยความร่วมมือจากสถาบันวิจัยทางการแพทย์ทั้งในสหรัฐฯและอังกฤษ เพื่อใช้ในกาตรวจสอบมะเร็งเต้านมให้แก่กลุ่มตัวอย่าง เพื่อช่วยลดข้อผิดพลาดจากการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ได้มากขึ้น

 

          จากกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 28,000 รายพบว่า การตรวจสัญญาณมะเร็งเต้านมผ่านปัญญาประดิษฐ์นี้ ช่วยลดข้อผิดพลาดจากการตรวจเป็นผลบวกลวง 5.7% และผลลบลวงอีก 9.4% ในสหรัฐฯ โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากผลตรวจแบบเดียวกับที่รับโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาแล้ววิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึม

 

          ล่าสุดทาง Google ได้จับมือกับ iCAD บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ตรวจสอบมะเร็งเต้านม ในการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการตรวจคนไข้ แก้ปัญหาความขาดแคลนด้านผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทรวงอกในหลายประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขอบเขตการตรวจสอบโรคมะเร็งให้แม่นยำและผ่อนแรงของแพทย์ลงได้มาก

การแพทย์อัจฉริยะ การใช้ปัญญาประดิษฐ์วินิจฉัยและรักษาโรค

ปัญญาประดิษฐ์ที่วินิจฉัยโรคปอดแม่นยำถึง 98%

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of West Scotland ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคปอด เพื่อลดความแออัดและภาระงานของระบบสาธารณสุข ซึ่งเกิดขึ้นมากในช่วงเวลาฤดูหนาวหรือมีโรคระบาดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาการระบาดของโควิดจนเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างรุนแรง

 

          ระบบปัญญาประดิษฐ์นี้พัฒนามาจากระบบตรวจจับโควิดจากภาพเอ็กซ์เรย์ โดยอาศัยการประเมินภาพเอ็กซ์เรย์ปอดเข้ากับฐานข้อมูลผู้ป่วยปอดบวม วัณโรค และโควิด จากนั้นนำข้อมูลมาประมวลเปรียบเทียบเข้ากับกรณีตัวอย่าง ผ่านโครงข่ายประสาทเทียมที่สร้างจากอัลกอริทึม ซึ่งมีความแม่นยำในการตรวจสอบกว่า 98%

 

          ด้วยวิธีการนี้จะช่วยประหยัดเวลาทั้งคนไข้และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในการตรวจสอบการเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจ ยิ่งในสถานการณ์ที่โควิดยังคงอยู่ กลายพันธุ์ และพร้อมจะกลับมาระบาดได้ทุกเมื่อ นี่จึงเป็นตัวเลือกน่าสนใจที่อาจผ่อนแรงแพทย์เฉพาะทาง และช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องได้ทันท่วงทีในอนาคต

 

          ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์จากทีมนี้ยังคงได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย

การแพทย์อัจฉริยะ การใช้ปัญญาประดิษฐ์วินิจฉัยและรักษาโรค

 

 

          - AI ที่ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจในเวลา 60 วินาที

 

          แตกต่างจากปัญญาประดิษฐ์ชนิดอื่นซึ่งต้องใช้ภาพเอ็กซ์เรย์ ข้อมูลเลือด หรือผลการตรวจ ข้อมูลที่ต้องใช้ในการวิเคราะห์ของ AI นี้มีเพียงภาพสแกนม่านตาที่มองเห็นหลอดเลือดดำและแดงในดวงตา จากนั้นก็สามารถรู้ผลลัพธ์ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในเวลาไม่ถึงนาที

 

          ส่วนนี้เกิดจากงานวิจัยที่ระบุว่า หลอดเลือดดำและแดงภายในดวงตาเกี่ยวพันกับการเกิดโรคในระบบไหลเวียนโลหิต พวกเขาจึงพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในชื่อ Quartz อาศัยข้อมูลจากการสแกนม่านตาระบุสภาพของหลอดเลือดภายใน จากนั้นจึงนำมาประเมินสุขภาพของหลอดเลือดจอประสาทตา เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสุขภาพระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกาย โดยอาศัยข้อมูลที่เก็บรวมรวมจากกลุ่มตัวอย่างอายุ 40 – 69 ปี มากกว่า 88,052 คน

 

          ข้อดีของระบบนี้คือใช้งานง่าย มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้ผู้ป่วยยอมรับง่าย จึงอาจเหมาะสมในการคัดกรองขั้นต้นแก่ผู้มีความเสี่ยงต่อไปในอนาคต

การแพทย์อัจฉริยะ การใช้ปัญญาประดิษฐ์วินิจฉัยและรักษาโรค

 

 

          ปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยตรวจสอบอาการหัวใจเต้นแผ่ว

 

          แนวคิดจากทีมวิจัยแห่ง Mayo Clinic Center for Digital Health ในสหรัฐฯ เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถตรวจสอบอาการของ ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว ได้จากระยะไกล ผ่านอุปกรณ์อย่าง นาฬิกาอัจฉริยะ

 

          โดยการใช้ระบบตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากนาฬิกาอัจฉริยะ จะช่วยให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของอาการนี้ได้รวดเร็วและแม่นยำ สามารถตรวจวัดความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้แบบเรียล์ไทม์ หากมีอาการสามารถส่งสัญญาณเตือนและขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินได้ทันท่วงที ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

 

          ข้อดีของเทคโนโลยีนี้คือการเข้าถึงสะดวก, ใช้งานง่าย, ราคาไม่สูง อีกทั้งยังสามารถติดตามอาการผู้ป่วยได้เกือบตลอดเวลา ตราบเท่าที่ยังสวมใส่และใช้งานนาฬิกาอัจฉริยะ ระบบการประเมินจากปัญญาประดิษฐ์ของพวกเขาได้การรับรองจากบริษัทสุขภาพ Anumana จึงสามารถเชื่อถือในความแม่นยำได้ไม่ต่างจากการตรวจหัวใจจริงๆ

การแพทย์อัจฉริยะ การใช้ปัญญาประดิษฐ์วินิจฉัยและรักษาโรค

 

 

          - ปัญญาประดิษฐ์อาจถูกนำมาใช้รักษาความผิดปกติทางสมอง

 

          ผลงานจากทีมวิจัยแห่ง University of Toronto อาศัยแนวคิดจากการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทด้วยสัญญาณไฟฟ้า มาทำการสร้างโครงข่ายเซลล์ประสาทเทียมที่จำลองขึ้นมาจากปัญญาประดิษฐ์ จากนั้นเมื่อนำไปฝังไว้ในสมองก็จะทำงานเหมือนเครื่องกระตุ้นหัวใจ และช่วยให้ระบบประสาทกลับมาทำงานตามปกติ

 

          ขั้นตอนการออกแบบโครงข่ายประสาทเทียมนี้มีความซับซ้อนสูงมาก ต้องใช้องค์ความรู้จากด้านประสาทวิทยา, ความรู้ด้านวัสดุคอมพิวเตอร์ ไปจนการแพทย์ และอาศัยการรวบรวมข้อมูลระบบประสาทด้วยการ Deep Learning ของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะช่วยทำการกระตุ้นสมองของผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการผิดปกติได้แม่นยำ

 

          การประเมินจากปัญญาประดิษฐ์นี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นและกระตุ้นการทำงานของอุปกรณ์ได้แม่นยำ ปัจจุบันแม้ยังไม่มีผลการทดลองทางคลินิก แต่คาดว่าโครงข่ายประสาทเทียมจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมชักได้มีประสิทธิภาพ และจะพัฒนาเพื่อรองรับโรคต่างๆ เช่น พาร์กินสัน, อัลไซเมอร์, สมองเสื่อม, โรคซึมเศร้า หรือโรคจิตเภทอีกด้วย

 

 

          นี่คือตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ากับการแพทย์ในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีกำลังได้รับการผลักดันก้าวหน้า และอาจช่วยให้แพทย์สามารถทำงานได้สะดวก แบ่งเบาภาระงาน และรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้อีกมากในอนาคต

 

          ซึ่งเราคงต้องรอดูต่อไปว่าเมื่อมีกรใช้งานเต็มตัว คุณภาพชีวิตของเราจะได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นเพียงไร

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.icadmed.com/newsroom.html#!/posts/iCAD-and-Google-Health-Ink-Strategic-Development-and-Commercialization-Agreement/324

 

          https://www.theverge.com/2020/1/1/21045635/google-ai-detect-breast-cancer-mammograms-healthcare

 

          https://interestingengineering.com/health/this-breakthrough-ai-can-detect-lung-diseases-with-98-accuracy

 

          https://interestingengineering.com/health/ai-tool-heart-disease-death-retinal

 

          https://interestingengineering.com/innovation/artificial-intelligence-might-treat-brain-disorders

 

          https://interestingengineering.com/health/ai-breakthrough-using-a-smartwatch-ecg-allows-for-remote-diagnosis-of-weak-heart-pumps