posttoday

สู่อุตสาหกรรม EV ครบวงจร แบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากม.ขอนแก่น

16 พฤศจิกายน 2565

เราทราบดีว่าสำหรับ EV หรือยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยจ่ายพลังงานขับเคลื่อนแก่ยานยนต์ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบันคือแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อมหาลัยขอนแก่น คิดค้นแบตเตอรี่โซเดียมไอออนได้สำเร็จ

อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างรายได้แก่ประเทศ ไทยมีแรงงานชำนาญการและบริษัทรถยนต์หลายแห่งเข้ามาตั้งฐานการผลิต และเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งยานยนต์ไฟฟ้า ประเทศไทยจึงตอบรับเริ่มผลักดันเทคโนโลยีไปในทิศทางเดียวกัน

 

          นำไปสู่การพัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมไออนรุ่นใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นด้วยฝีมือของคนไทย

สู่อุตสาหกรรม EV ครบวงจร แบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากม.ขอนแก่น

แบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหินในประเทศไทย

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีการเปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.30 น. กับโครงการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหินในประเทศไทย เป็นความร่วมมือระหว่างทางมหาวิทยาลัยกับ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนักวิชาการและผู้ที่สนใจในกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนร่วมเป็นสักขีพยานอย่างคับคั่ง

 

          การวิจัยศึกษาแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหิน ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในไทยรวมถึงประเทศในอาเซียน ช่วยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตวัตถุดิบ เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมในการผลิตแบตเตอรี่ สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ในการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย และการขยายตัวที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

 

          โดยการพัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมไอออนรุ่นใหม่นี้เกิดขึ้นจากวัตถุดิบแร่เกลือหินในประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ทดแทนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบันเพื่อเป็นแบตเตอรี่ทางเลือก โดยได้เริ่มนำไปใช้งานหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การจ่ายไฟให้แก่จักรยานไฟฟ้า, แบตเตอรี่สำรองของโซล่าเซลล์ หรือการจ่ายไฟส่องสว่างในเวลากลางคืน

อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญของแบตเตอรี่ชนิดใหม่คือ การสร้างอุตสาหกรรมแบตเตอรี่จากวัตถุดิบที่มีในประเทศ ช่วยทดแทนการผลิตแบตเตอรี่รุ่นใหม่จากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนซึ่งเราต้องนำเข้าจากต่างชาติ 100% มาเป็นแร่ที่หาได้ในภาคอีสาน จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและขีดความสามารถให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยรวม

 

          นอกจากเป็นการสร้างแบตเตอรี่สามารถผลิตในประเทศเพื่อความมั่นคงให้แก่อุตสาหกรรมแล้ว ข้อดีอีกประการคือเมื่อมีการนำแร่เกลือหินมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ จะช่วยยกระดับมูลค่าของวัตถุดิบตั้งต้นจากกิโลกรัมละไม่กี่บาทให้กลายเป็นสินแร่แห่งอนาคต ช่วยต่อยอดผู้ผลิตรายย่อยให้มีกำไรกระจายสู่ชุมชนอีกด้วย

สู่อุตสาหกรรม EV ครบวงจร แบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากม.ขอนแก่น

 

          ความสำคัญในการพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ เมื่อไทยก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง EV

 

          อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยกำลังเฟื่องฟูพูดแบบนี้คงไม่ผิดนัก ด้วยรัฐบาลผลักดันนโยบายเพื่อส่งเสริมตลาด EV ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย และส่งเสริมอุตสาหกรรมให้กลายเป็นผู้นำในอาเซียนและมีศักยภาพแข่งขันในตลาดโลก

 

          เริ่มจากนโยบายการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าขายปลีกให้แก่คนในประเทศ สนับสนุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทรถยนต์และจักรยานยนต์ โดยการอุดหนุนส่วนลดเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 18,000 – 150,000 บาท รวมถึงลดภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิตให้แก่ยานยนต์ไฟฟ้าหลายประเภท

 

          นอกจากนี้ยังมีการกำหนดนโยบาย 30@30 ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ไร้มลพิษให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั่วประเทศภายในปี 2573 เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมไร้คาร์บอน ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออก EV ของภูมิภาคอาเซียน

 

          ด้วยนโยบายการสนับสนุนมากมายนี้เองทำให้หลายประเทศเล็งเห็นโอกาส บริษัทยานยนต์ไฟฟ้าทยอยเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจับมือกับทาง PTT ของ Foxconn จากไต้หวัน ในการร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว, BYD บริษัทสัญชาติจีนเข้ามาจับมือกับ สยามกลการ ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสู่ตลาดอาเซียนและยุโรป, GMW ที่เริ่มดำเนินสายการผลิตในไทยจากโรงงานอัจฉริยะในจังหวัดระยอง ฯลฯ

 

          การขยับขยายเข้ามาของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ เป็นสิ่งยืนยันว่าธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตต่อเนื่อง และจะกลายเป็นการผลักดันไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแหล่งสำคัญ ซึ่งจะสร้างอาชีพและโอกาสให้แก่ประเทศอีกมากในอนาคต นี่เป็นเหตุผลให้การพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่ผลิตจากวัสดุในประเทศทวีความสำคัญ

 

          อีกทั้งการผลิตแบตเตอรี่ยอดนิยมลิเธียมไอออนเองยังมีจุดตายในแง่มลพิษ การทำเหมืองถลุงแร่ลิเธียมออกมาใช้งานสร้างมลภาวะให้แก่สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก นำไปสู่เหตุการณ์ประท้วงในเซอร์เบีย หรือการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมในอาร์เจนตินาจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และกลายเป็นปัญหาร้ายแรงในประเทศนั้นๆ

 

          การพัฒนาแบตเตอรี่ทางเลือกจากแร่เกลือหิน จึงถือเป็นการสร้างแบตเตอรี่ทางเลือกที่เพิ่มความมั่นคงแก่อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของประเทศ อีกทั้งช่วยผลักดันให้ยานยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมไร้มลพิษอย่างแท้จริงอีกด้วย

 

 

          ต้องรอดูกันต่อไปว่าแบตเตอรี่โซเดียมไอออนนี้จะได้รับการพัฒนาไปถึงไหน แม้ปัจจุบันอาจยังถูกใช้งานในการจ่ายพลังงานแก่จักรยานไฟฟ้าหรือแสงไฟ แต่ในอนาคตนี่อาจเป็นแนวทางใหม่ในการผลิตแบตเตอรี่ ที่จะช่วยให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าก็เป็นได้

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/58686

 

          https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/home-car/package-of-incentives-ev-car.html

 

          https://www.amarintv.com/spotlight/corporate/detail/32833

 

          https://www.autospinn.com/2022/09/gwm-91154