posttoday

เมื่อมดประสาทรับกลิ่นดี จนฝึกให้ดมกลิ่นเซลล์มะเร็งได้

02 กุมภาพันธ์ 2566

การศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้จากรายงานของวอชิงตันโพสต์ ทำให้เราได้เห็นถึงศักยภาพของการใช้สัตว์จมูกแหลมอย่างมดตัวน้อยตัวนิดในการตรวจหาเนื้องอกอย่างรวดเร็วแถมยังมีราคาถูก ไปดูกันว่า เขาฝึกมดกันยังไง

เมื่อมดประสาทรับกลิ่นดี จนฝึกให้ดมกลิ่นเซลล์มะเร็งได้

การศึกษาเรื่องเนื้องอกวิทยาฉบับมดๆ (The ant oncologist) ระบุว่า มดคือสัตว์ตัวน้อย (สำหรับมนุษย์) ที่อาศัยอยู่ในโลกแห่งกลิ่น บางชนิดตาบอดสนิท บางตัวพึ่งพากลิ่นมากเสียจน (ตัวที่เดินตาม) หลงทางตามฟีโรโมนเดินเป็นวงกลมจนกระทั่งหมดแรง

ว่ากันว่า มดมีประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งนักวิจัยหัวใสกำลังฝึกฝนให้พวกมันตรวจจับกลิ่นของเซลล์มะเร็งในมนุษย์ ทั้งนี้ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences ได้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกของมดที่กระตือรือร้นในเรื่องกลิ่น และยังตอกย้ำว่า วันหนึ่งเราจะใช้สัตว์จมูกแหลม หรือ หนวดแหลมอย่างมด เพื่อตรวจหาเนื้องอกได้อย่างรวดเร็วและราคาถูก ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะยิ่งพบมะเร็งเร็วเท่าไหร่ โอกาสในการรักษาก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น

Baptiste Piqueret นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อนิเวศวิทยาทางเคมี (Max Planck Institute for Chemical Ecology) ในเยอรมนีกล่าวว่า "ผลลัพธ์ที่ได้มีแนวโน้มดีมาก"

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาพฤติกรรมสัตว์และร่วมเขียนรายงานบอกด้วยว่า “สิ่งสำคัญคือ เรายังห่างไกลจากการใช้สิ่งเหล่านี้ (มด) มาเป็นวิธีตรวจหามะเร็งในชีวิตประจำวัน”

 

เมื่อมดประสาทรับกลิ่นดี จนฝึกให้ดมกลิ่นเซลล์มะเร็งได้

 

เมื่อขยายอวัยวะประสาทสัมผัสชิ้นบางๆ บนหัวของพวกมันจะพบว่า แมลงตรวจจับและใช้สัญญาณทางเคมีเพื่อทำ (กิจกรรรม) เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหาอาหาร รุมเหยื่อ ส่องหาเพื่อนร่วมฝูง ปกป้องลูกอ่อน และการสื่อสารกันทางเคมีนี้เองที่ช่วยให้มดสร้างสังคมที่ซับซ้อนของราชินีและกองทัพมดงานที่ทำงานประสานกันกับกลิ่น จนนักวิทยาศาสตร์ขนานนามโคโลนีบางกลุ่มของมดว่ามันคือ "สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ" (superorganisms)

สำหรับการศึกษาอันน่าทึ่ง ทีมของ Piqueret ได้ใช้วิธีทาบชิ้นส่วน (grafted pieces) เนื้องอกมะเร็งเต้านมของมนุษย์ลงบนตัวหนูและฝึกมด 35 ตัวให้เชื่อมโยง (กลิ่น) ปัสสาวะจากสัตว์ฟันแทะที่มีเนื้องอกกับน้ำตาล มดขนปุย (Formica fusca) ซึ่งถูกนำมาวางอยู่ในจานเพาะเชื้อนั้นใช้เวลาอยู่ใกล้หลอดที่มีปัสสาวะจากหนูที่ “ป่วย” (มีชิ้นส่วนเนื้องอก) มากกว่าปัสสาวะจากหนูที่มีสุขภาพดีอย่างมีนัยสำคัญ

ทำให้ Federica Pirrone รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมิลาน ผู้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจัยมดครั้งนี้ แต่ได้ทำการตรวจสอบกรณีที่คล้ายกันเกี่ยวกับความสามารถในการดมกลิ่นของสุนัขบอกว่า "การศึกษานี้วางแผนคิดค้นและดำเนินไปด้วยดี"

มากันที่วิธีการที่เราใช้วินิจฉัยมะเร็งในปัจจุบัน  หลักๆ ก็คือ โดยการเจาะเลือด การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจ และการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่งมักจะมีราคาแพง

ในขณะที่นักพฤติกรรมสัตว์กำลังจินตนาการถึงโลกวันข้างหน้า เมื่อหมอใช้สัตว์ที่มีประสาทสัมผัสเฉียบแหลมเพื่อช่วยตรวจหาเนื้องอกได้อย่างรวดเร็วและมีราคาถูก เฉกเช่นก่อนหน้านี้ที่มีการศึกษาพบว่า สุนัขสามารถดมกลิ่นของมะเร็งในกลิ่นตัวได้ (เมื่อศูนย์ฝึกสุนัขของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ฝึกทำการสุนัขให้ดมหากลิ่นโรคมะเร็งรังไข่ในผู้หญิง)

และการวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็น มีสัตว์อีกหลายชนิดที่ถูกฝึกให้ตรวจหาโรคได้ เช่น หนูที่สามารถถูกฝึกให้แยกแยะระหว่างเพื่อนหนูที่มีสุขภาพดีกับเพื่อนหนูที่มีเนื้องอกได้ ส่วนไส้เดือนฝอยจะดึงดูดสารประกอบอินทรีย์บางชนิดที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง หรือแม้แต่เซลล์ประสาทของแมลงวันผลไม้ก็ยังยิงเซลล์มะเร็งบางชนิดได้

แต่ปิเกเร็ตบอกว่า มดอาจได้เปรียบกว่าสุนัขและสัตว์อื่นๆ ตรงที่ไวกว่า เพราะสัตว์อื่นๆ อาจต้องใช้เวลามากในการฝึก

เมื่อมดประสาทรับกลิ่นดี จนฝึกให้ดมกลิ่นเซลล์มะเร็งได้

ทั้งนี้ Piqueret ได้ทำการวิจัย (ฝึกมด) ดังกล่าว ในขณะที่ศึกษาอยู่ที่ Université Sorbonne Paris Nord ในประเทศฝรั่งเศส ระหว่างล็อกดาวน์จากโควิด เขาได้นำขบวนมดขนนุ่มเข้าไปฝึกฝนในอพาร์ตเมนต์นอกกรุงปารีสของเขา เพื่อทำการทดลองต่อไป 

ส่วนเหตุผลที่เขาเลือกสายพันธุ์นี้ ก็เพราะมันมีความจำดี ฝึกง่าย และไม่กัด (อย่างน้อยก็ไม่ยาก Piqueret กล่าว)

แน่นอนว่า นักวิจัยต้องทำงานหนักมากขึ้น ก่อนที่มดหรือสัตว์อื่น ๆ จะช่วยมนุษย์วินิจฉัยโรคได้จริงๆ  นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องทดสอบปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความสับสน เช่น อาหารหรืออายุ ทีมของ Piqueret วางแผนที่จะทดสอบความสามารถของมดในการดมกลิ่นหาสารบ่งชี้มะเร็งในปัสสาวะจากผู้ป่วยจริง “เพื่อให้ได้รับการยืนยันจริง เราจำเป็นต้องรอขั้นตอนต่อไป”

หากเราต้องใช้มดในการตรวจคัดกรองมะเร็งจริง Piqueret บอกว่าก็ต้องสร้างความชัดเจนให้ได้ว่า มดไม่ได้คลานมาหาเราเองแน่ๆ และ “จะไม่มีการติดต่อกันโดยตรงระหว่างมดกับผู้ป่วย” เขากล่าว “ถึงคนจะกลัวแมลงก็ไม่เป็นไร”

เช่น ครั้งหนึ่งเขาต้องสร้างความมั่นใจให้กับใครบางคนที่ทราบถึงงานวิจัยของเขาว่า มดที่เข้ามารุมกัดกลุ่มปิกนิกนั้น ไม่ใช่สัญญาณของมะเร็ง เพราะนั่นคือ “พวกมดที่ไม่ได้รับการฝึกฝน” 

เขาอธิบายว่า “พวกเขาก็แค่อยากกินน้ำตาล”