posttoday

พร้อมหรือยัง สังคมผู้สูงวัยกับการรับรู้เทคโนโลยีรับมือกับภาวะโลกรวน

06 มกราคม 2566

สังคมผู้สูงวัย (Ageing Society) กำลังเป็นกระแสสังคมที่สำคัญในปัจจุบัน จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทันสมัยและรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป

พร้อมหรือยัง สังคมผู้สูงวัยกับการรับรู้เทคโนโลยีรับมือกับภาวะโลกรวน

สำหรับบริบทของประเทศไทยได้กำหนดคำจำกัดความของสังคมผู้สูงวัยไว้หมายถึง “สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ สัดส่วนของอัตราการเกิดและจำนวนประชากรในวัยทำงานมีสัดส่วนลดน้อยลง” 

สำหรับสถานการณ์ระดับโลกได้มีการคาดการณ์ว่า ภายในอีก 25 ปี ข้างหน้า ประชากรโลกจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยองค์การสหประชาชาติรายงานว่าประชากรโลกโดยรวมจะสูงขึ้น 9.7 พันล้านคน และในจำนวนนั้น พบว่าในทุกประชากร 6 คน จะมี 1 คนที่มีอายุเกิน 65 ปี (United Nations, World Population Ageing 2019) 

สำหรับประเทศไทย กรมกิจการผู้สูงอายุได้รายงานว่าอายุขัยของคนไทยยาวนานขึ้น โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 75 ปี และในปีพ.ศ. 2568 อายุเฉลี่ยของคนไทยจะอยู่ที่ประมาณ 85 ปี ในปี ค.ศ. 2019 นอกจากนี้ รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยระบุว่าเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุถึง 60 ปี    ปีละล้านคนโดยประมาณ ในขณะที่ประชากรทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนกำลังมีอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี พ.ศ. 2562 ประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย นับเป็นประเทศที่เรียกว่าเป็น “สังคมสูงวัย” เรียบร้อยแล้ว จากสถิติดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมการรับมือไว้อย่างเร่งด่วนและรอบด้าน รวมถึงการเตรียมความพร้อมต่อการรู้รับ ปรับตัวและรับมือกับภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบของภาวะโลกรวนในรูปแบบต่างๆ

หนึ่งปัญหาหลักของสังคมผู้สูงวัยคือคุณภาพชีวิต ถ้าถามว่าผู้สูงวัยจะมีคุณภาพชิวิตที่ดีได้อย่างไรในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนและรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน สังเกตง่ายๆ จากเรื่องใกล้ตัว เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งนับเป็นมหันตภัยอันดับต้นๆ ที่ส่งผลต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้ง ยังส่งผลกระทบทางตรงต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้สูงวัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดกลุ่มหนึ่งของประชากรทั้งหมดด้วยข้อจำกัดด้านสมรรถภาพทางกายและสุขภาพอนามัย ทั้งนี้ ผลการวิจัยเกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพในการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเผชิญเหตุน้ำท่วมในกลุ่มผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดย Sawangnate (2021) พบว่าความสามารถในการรับมือต่อการเผชิญเหตุน้ำท่วมของกลุ่มผู้สูงวัยในกรุงเทพมหานครมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ คุณลักษณะส่วนบุคคล เพศ รายได้ ระดับการศึกษา นอกจากนี้ การอาศัยอยู่ในพื้นที่ระดับความเสี่ยงอุทกภัยที่แตกต่างกันส่งผลถึงการตระหนักรู้ ทัศนคติ ความกลัว และการเตรียมความพร้อมในการเตรียมตัวก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุน้ำท่วมที่แตกต่างกันด้วย แปลกแต่จริงที่ว่าผู้สูงวัยที่เคยประสบเหตุน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งมีทัศนคติและความกลัวต่อการเผชิญเหตุน้ำท่วมน้อยกว่าผู้สูงวัยที่เคยประสบเหตุน้อยครั้งกว่าหรือไม่เคยประสบเหตุเลย รวมถึงผู้สูงวัยที่อยู่อาศัยในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำในการเกิดน้ำท่วม มีความกังวลและเตรียมพร้อมในการรับมือในการเผชิญเหตุน้ำท่วมมากกว่าผู้สูงวัยที่อยู่อาศัยในพื้นที่ความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมสูงกว่า

พร้อมหรือยัง สังคมผู้สูงวัยกับการรับรู้เทคโนโลยีรับมือกับภาวะโลกรวน

อนึ่ง สังคมในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมในหลากหลายรูปแบบเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ด้วยเหตุนี้ การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสื่อสารหรือถ่ายทอดข้อมูลจึงทำได้อย่างรวดเร็วและรับรู้ได้เป็นวงกว้าง หากแต่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอาจจะเติบโตเร็วแซงหน้าการรู้ดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งอาจมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่ขัดต่อการเข้าถึงการรู้ดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงวัย รวมไปถึงอุปสรรคต่อการใช้งาน ความเข้าใจ การสร้างสรรค์ และการเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวนับเป็นอุปสรรคส่งผลให้เกิดการเสียโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งรวมถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาภาวะโลกรวนและภัยพิบัติที่เกี่ยวข้อง

จากการศึกษาข้างต้นของ Sawangnate (2021) ซึ่งสำรวจกลุ่มผู้สูงวัยในเขตพื้นที่เสี่ยงในการเกิดเหตุน้ำท่วม จำนวน 736 คน พบว่า มีเพียง 34% ใช้บริการ Online application ในการสืบค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย มาตรการในการเตรียมความพร้อมในการรับมือในการเผชิญเหตุน้ำท่วม และการรับความช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุน้ำท่วม และมีแค่เพียง 32% ใช้ออนไลน์ในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วม ผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีความเคยชินกับการใช้วิธีเดิม ๆ ในการรับข่าวสารเช่น วิทยุ โทรทัศน์ และรู้สึกไม่มั่นใจเวลาใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเทคโนโลยี รวมถึงการมีบุคคลรอบข้างให้การช่วยเหลือ แนะนำ ผลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงวัยยังเป็นกลุ่มเปราะบางในการรับข้อมูล ข่าวสาร มาตรการเตรียมความพร้อม ป้องกัน ช่วยเหลือและเยียวยา จากการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ผู้สูงวัยมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการสนใจ สนับสนุน และช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการเรียนรู้ และเสริมสร้างความสามารถในการรู้ดิจิทัล

ประเด็นต่างๆ ที่ได้จากผลการวิจัยครั้งนี้ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ที่สำคัญของการเสริมสร้างความพร้อมทั้งระบบเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของผู้สูงวัยในฐานะกลุ่มเปราะบางในสังคมในการรับมือหรือสร้างความพร้อมในการสื่อสาร ติดตามและแลกเปลี่ยนข่าวสาร รวมไปถึง ความพร้อมในการใช้งานผ่านการรับรู้เทคโนโลยีและรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมต่อการใช้งานและมีความเท่าทันต่อความเสี่ยงใดๆที่จะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ

 

ที่มา:

Sawangnate Chandhit, (2021) Digital Literacy for Enhancing Preparedness Capacity to Climate Related Risks Among Ageing Population in Bangkok, Thailand, Doctoral Thesis (Environment, Development and Sustainability), Graduate School, Chulalongkorn University

 

พร้อมหรือยัง สังคมผู้สูงวัยกับการรับรู้เทคโนโลยีรับมือกับภาวะโลกรวน

ดร.ฉันฑิต สว่างเนตร สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย