posttoday

วัคซีนลดมีเทนในตดวัว ตัวช่วยใหม่กู้วิกฤตโลกร้อน?

01 มกราคม 2566

แม้ว่าจะยังอยู่ในขั้นทดลอง แต่สตาร์ทอัพรายหนึ่งได้เริ่มดำเนินการพัฒนาวัคซีนเพื่อปรับปรุงจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารของวัว ตัวการใหญ่ในการสร้างก๊าซมีเทนขณะวัวเรอหรือผายลม ซ้ำยังเป็นก๊าซที่ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

จำนวนประชากรวัวบนโลกของเรามีมากกว่าพันล้านตัว เมื่อวัวเหล่านี้เรอ หรือผายลมออกมา ถือเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนขนาดใหญ่พอๆกับระดับที่ยานพาหนะบนโลกทุกคันปล่อยมลพิษออกมา ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศโลก

แม้บางประเทศจะมีการออกกฎหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่น การเก็บภาษีวัวเรอในนิวซีแลนด์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทำให้ประเทศคาร์บอนเป็นกลางภายในปี 2050 แต่เกษตรกรก็ออกมาคัดค้านแผนดังกล่าวที่ทางภาครัฐเสนออย่างรวดเร็ว แล้วเราต้องทำอย่างไรเพื่อรับมือกับปริมาณมีเทนจากภาคปศุสัตว์โดยแต่ละฝ่ายได้ผลประโยชน์แบบวิน-วิน?

วัคซีนลดมีเทนในตดวัว ตัวช่วยใหม่กู้วิกฤตโลกร้อน?

แก้โลกร้อนด้วยวัคซีนพิชิตตดวัว

เทคโนโลยีใหม่กับการพัฒนา ‘วัคซีน’ เพื่อลดก๊าซมีเทนในระบบย่อยอาหารของวัวถือเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาจากฟาร์มปศุสัตว์ที่ฟังดูน่าสนใจไม่น้อย

ArkeaBio สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกา ทั้งยังเป็นบริษัทที่ร่วมพัฒนาคิดค้นวัคซีนที่สามารถฉีดให้กับวัว แกะ แพะ และสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นๆ เพื่อลดปริมาณก๊าซมีเทนในระบบย่อยอาหาร โดยระหว่างนี้ทางทีมวิจัยกำลังศึกษาหาแนวทางเพื่อให้ระบบย่อยอาหารของสัตว์เหล่านี้สร้างแอนติบอดีต่อจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหาร ตัวการหลักที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนเมื่อวัวเรอและผายลม

นอกจากนี้ทางบริษัทยังสามารถระดมทุนได้ 12 ล้านดอลลาร์จาก Breakthrough Energy กองทุนไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งโดย Bill Gates

มีเทนมีพลังความร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า หากก๊าซมีเทนในบรรยากาศลดลงเราจะสังเกตเห็นความแตกต่างได้เป็นอย่างมาก Colin South ซีอีโอของ ArkeaBio กล่าวว่า “การคิดค้นวัคซีนตัวนี้เป็นโอกาสอันดีที่เราสามารถลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะสั้นได้ ขณะเดียวกันเราก็หาหนทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวควบคู่ไปด้วย”

แม้ว่าการศึกษาก่อนหน้านี้จะระบุว่าวัคซีนลดมีเทนในตดวัวมีความเป็นไปได้ แต่ในเชิงพาณิชย์ยังไม่ได้รับการยืนยันถึงประสิทธิภาพของการทำงาน ด้านซีอีโอก็ระบุว่า ArkeaBio กำลังสรรหาการใช้เครื่องมือด้านภูมิคุ้มกันวิทยาใหม่ๆ รวมถึงทดสอบแอนติเจนต่างๆ ทั้งในห้องปฏิบัติการและในปศุสัตว์ เพื่อเร่งให้การทดสอบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และออกสู่ตลาดได้ไวขึ้น

วัคซีนลดมีเทนในตดวัว ตัวช่วยใหม่กู้วิกฤตโลกร้อน?

ความท้าทายของระบบปศุสัตว์

ทางด้านสตาร์ทอัพรายอื่นๆก็เสนอไอเดีย คิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อลดมีเทนจากการเรอและตดวัวเช่นเดียวกัน อย่างบริษัท Fonterra ที่ปิ๊งไอเดียการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ‘คาวบูชา (Kowbucha)’ โดยการเพิ่มสาหร่ายที่มีโพรไบโอติกลงในอาหารวัว และผลการทดสอบพบว่าพวกมันมีอาการเรอลดลง แต่ถึงอย่างนั้นวิธีแก้ปัญหานี้ยังมีช่องโหว่อยู่มาก และไม่ได้ผลสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องที่กินหญ้าตามทุ่งมากกว่าการอยู่แค่ในฟาร์มรอเจ้าของมาป้อนอาหาร

Jeremy Hill ประธานจาก Pastoral Greenhouse Gas Research Consortium (PGGRC) และยังเป็นหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ Fonterra หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตนมรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้กล่าวสนับสนุนงานวิจัยวัคซีนลดมีเทนในตดวัวไว้ว่า “วัคซีนตัวนี้มีศักยภาพพอที่จะนำไปใช้กับระบบปศุสัตว์และฟาร์มหลายประเภท และจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการช่วยลดก๊าซมีเทนออกจากบรรยากาศ อย่างไรก็ตาม จากมุมมองทางเทคนิคการพัฒนาวัคซีนเพื่อยับยั้งจุลินทรีย์ที่ผลิตก๊าซมีเทนในระบบย่อยอาหารของวัวนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง”

“สิ่งสำคัญคือการยับยั้งจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ไม่ใช่จุลินทรีย์ชนิดอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหารของวัว นอกจากนี้วัคซีนยังต้องสร้างแอนติบอดีในระดับสูงเพื่อให้สามารถทำงานได้ในระบบการย่อยของสัตว์เคี้ยวเอื้อง และผลลัพธ์ต้องคุ้มค่ากับการฉีด”

วัคซีนลดมีเทนในตดวัว ตัวช่วยใหม่กู้วิกฤตโลกร้อน?

อนาคตและทิศทางของ ArkeaBio

Colin South ซีอีโอของ ArkeaBio มองอนาคตของบริษัทในทิศทางที่เป็นบวก พร้อมยืนยันถึงความมั่นใจว่า วัคซีนลดมีเทนในตดวัวจะออกสู่ท้องตลาดในปี 2025 – 2026 ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีและการได้รับใบอนุญาตรับรองตามกฎระเบียบ

เขายังเชื่อว่าการฉีดวัคซีนจะสามารถลดมีเทนจากการเรอและการตดของวัวได้ถึง 30% และย้ำว่านี่อาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยรวม เพราะนอกจากวัคซีนจะมีต้นทุนต่ำแล้วยังสามารถดำเนินงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ในอีก 10 ปีข้างหน้า วัคซีนอาจเป็นหนึ่งในวิธีที่มวลมนุษยชาติมีไว้เพื่อต่อกรกับภัยพิบัติด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • https://www.fastcompany.com/90824840/vaccine-cows-methane-emissions?partner=rss&utm_source=rss&utm_medium=feed&utm_campaign=rss+fastcompany&utm_content=rss