posttoday

จากแล็บสู่จาน ไฟเขียวเนื้อสังเคราะห์ รับประทานได้แล้วที่สหรัฐฯ

27 พฤศจิกายน 2565

ต่อไปเราคงไม่ต้องกินเนื้อไก่หรือเนื้อสัตว์กันจริงๆ อีกต่อไป เพราะการเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมปศุศัตว์ทุกวันนี้ใช้พื้นที่และทรัพยากรสิ้นเปลืองและไม่รักษ์โลกเอาเสียเลย เพราะเนื้อที่เพาะเลี้ยงจากห้องแล็บ หรือเนื้อสังเคราะห์ก็มีคุณค่าและอาจมีรสชาติไม่ต่างกัน!

จากแล็บสู่จาน ไฟเขียวเนื้อสังเคราะห์ รับประทานได้แล้วที่สหรัฐฯ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) หน่วยงานด้านความปลอดภัยของสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้บริโภคเนื้อไก่ที่เพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการทดลองได้แล้ว หลังจากที่ได้ทำ "การประเมินอย่างรอบคอบ"


รายงานจากบีบีซีบอกว่า เจ้าเนื้อที่่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องทดลองนี้ผลิตขึ้นในถังเหล็ก (steel tanks) โดยบริษัท Upside Foods โดยใช้เซลล์ที่ได้มากจากสัตว์ที่มีชีวิต และจะสามารถขายให้กับผู้บริโภคได้ หลังจากการตรวจสอบโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กว่าจะผ่านขั้นตอนนี้ได้ เพราะก่อนนี้เกิดคำถามขึ้นว่า รัฐบาลสหรัฐจะควบคุมเกษตรกรรมแบบเพาะเลี้ยงเซลล์ (Cellular Agriculture) ซึ่งใช้เทคโนโลยีชีวภาพได้อย่างไร เพราะเท่าที่ผ่านมาในสหรัฐฯ ยังไม่มีอาหารสังคราะห์เหล่านี้เข้าถึงตลาดได้ แม้จะมีบริษัทในสหรัฐอเมริกาเองหรือที่อื่นๆ พยายามจะยกระดับการผลิตอยู่


องค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ  ระบุว่า  FDA ได้รับข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ จากบริษัทสำหรับการตัดสินใจให้ไฟเขียวเนื้อเพาะเลี้ยงจากแล็บ และ "ตอนนี้ (ยัง) ไม่มีคำถามเพิ่มเติม"
คุณอูมา วาเลติ (Uma Valeti) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Upside Foods กล่าวว่า "เราเริ่มต้น Upside ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความสงสัย และในวันนี้ เราได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งในฐานะบริษัทแรกที่ได้รับ 'No Questions Letter' จาก FDA สำหรับเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในแล็บ"


อย่างไรก็ดีทาง Upside Foods จะยังมีอุปสรรคหลายอย่างที่ต้องแก้ไขให้ได้ก่อนที่จะสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ ตัวอย่างเช่น โรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์จะต้องได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการด้วย แต่นายวาเลติเรียกข่าวนี้ว่า "เป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของอาหาร"
 

จากแล็บสู่จาน ไฟเขียวเนื้อสังเคราะห์ รับประทานได้แล้วที่สหรัฐฯ

ความกระหายในนวัตกรรม

บริษัทอาหารที่เพิ่งริเริ่มธุรกิจหลายแห่งพยายามจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันนี้ต่อไปแน่ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งอาจนำไปสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำในการผลิตได้อย่างมาก อีกทั้งยังทำให้มีพื้นที่ว่างสำหรับธรรมชาติมากขึ้นอีกด้วย แทนที่จะนำพื้นที่อันกว้างใหญ่ไปใช้ในการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์


นักวิทยาศาสตร์อ้างว่า ความกดดันด้านอาหารในโลกของเราอาจลดลงมากกว่า 80% ด้วยอาหารเพาะดังกล่าว เมื่อเทียบกับอาหารยุโรปทั่วไป และคาดว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะมีส่วนแบ่งตลาดเนื้อสัตว์โดยรวมมากขึ้นในอนาคต


ก่อนนี้เมื่อปี 2020  (พ.ศ.2563) Eat Just ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพคู่แข่งของ Upside Foods เป็นบริษัทแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ผลิต "เนื้อสะอาด" หรือ "clean meat" ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมในสิงคโปร์ ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในโลกที่ไฟเขียวให้มีการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มาจากสัตว์ที่ถูกฆ่า และการตัดสินใจครั้งสำคัญนั้นก็ได้เป็นการปูทางให้ Eat Just สตาร์ทอัพในซานฟรานซิสโกขายเนื้อไก่ที่เพาะขึ้นในแล็บได้


ความต้องการทางเลือกแทนเนื้อสัตว์ธรรมดาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับสุขภาพ สวัสดิภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม
บริษัทที่ใหญ่ที่สุดสองแห่งในภาคส่วนนี้ ได้แก่ Future Meat Technologies และ Impossible Foods ซึ่งมีฐานอยู่ในประเทศอิสราเอล ซึ่งผลิตภัณฑ์ Impossible Burger ที่ใช้พืชเป็นหลักเปิดตัววางจำหน่ายในปี 2559 และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
 

ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงเปิดตัวความร่วมมือกับ Burger King และตอนนี้ Impossible Whoppers ก็อยู่ในเมนูของร้านส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
การได้รับอนุมัติของ Upside Foods โดย FDA สหรัฐฯ ได้รับการอธิบายว่าเป็น "เหตุการณ์สำคัญครั้งสำคัญ" ในอุตสาหกรรมโดย Ernst van Orsouw ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Roslin Technologies ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีอาหารในสกอตแลนด์บอกว่า

 
“เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากที่ได้เห็นหน่วยงานกำกับดูแลชั้นนำระดับโลกได้ข้อสรุปเช่นเดียวกันว่า เนื้อสัตว์ที่เพาะขึ้นในแล็บนั้นปลอดภัยพอที่จะรับประทานได้”
และ


"องค์การอาหารและยาได้ใช้วิธีการที่อิงตามค่าความเสี่ยง วิทยาศาสตร์ และการปฏิบัติเพื่อควบคุมอาหารแปลกใหม่นี้ ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่ดีเยี่ยมสำหรับที่อื่นๆ ในโลกเช่นกัน"

เขากล่าวว่าขั้นตอนนี้ "จะกระตุ้นการลงทุนและนวัตกรรมเพิ่มเติม" ในอุตสาหกรรมอาหารเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ (cultured food industry)


อาหารที่ปรุงด้วยวัตถุดิบจำพวกเนื้อที่เพาะเลี้ยงขึ้นในห้องปฏิบัติการทดสอบ หรือ เนื้อสังเคราะห์ มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น lab-grown meat, synthetic meat, cultured meat, stem cell meat หรือ vitro meat

จากแล็บสู่จาน ไฟเขียวเนื้อสังเคราะห์ รับประทานได้แล้วที่สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากวารสารจาก biorxiv.org บอกว่า การผลิตเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเนื้อวัวนับเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปล่อยมลพิษมากที่สุด เนื่องจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการคาดการณ์ว่า การบริโภคเนื้อสัตว์จะเพิ่มขึ้นอีก 73% จนถึงปี 2050 จึงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์แต่ละคนจะได้รับเนื้อสัตว์เพียงพอด้วยวิธีการผลิตอาหารตามปกติ เนื่องจากประมาณ 80% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์อาหารสัตว์ หนึ่งในทางเลือกที่เป็นไปได้คือเนื้อสัตว์จากการที่เพาะเลี้ยงซึ่งสามารถลดการใช้ที่ดินและผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้อย่างมาก


biorxiv.org บอกว่า ศาสตราจารย์ Mark Post  คือผู้ที่ทำให้โลกได้รู้จักเนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงในห้องแล็บเป็นครั้งแรกในปี 2013 โดยตอนนั้นแฮมเบอร์เกอร์เนื้อจากแล็บชิ้นแรกของเขามีราคาสูงถึง 250,000 ยูโร โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า Fetal Bovine Serum (FBS) ที่มีราคาแพงและยังมีความน่าสงสัยทางจริยธรรม ทำให้มีการพัฒนาอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ได้มาตรฐานนับตั้งแต่นั้นมา นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มได้ทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้การผลิตมีความเป็นไปได้และมีราคาต่ำพอที่จะแข่งขันกับเนื้อสัตว์ทั่วไปในตลาดเสรีได้
อยากลองกันหรือยัง?

 

อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/technology-63660488
https://www.bbc.com/news/business-55155741
https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2022.11.13.516330v1.full
https://innoversity.masci.or.th/?p=21875