posttoday

เมื่อ WIFI อาจจะถูกนำไปใช้ในงานจารกรรม

15 พฤศจิกายน 2565

เราทราบดีว่าเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ WIFI ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่เรา แต่มุมมองต่อ WIFI ของเราอาจเปลี่ยนไป เมื่อล่าสุดมีการดัดแปลงอุปกรณ์ให้ใช้ประโยชน์จากระบบนี้ในการจารกรรม

ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตถือเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายสื่อสารที่มีความสำคัญไม่แพ้ปัจจัย 4 ด้วยเราพึ่งพาระบบเครือข่ายแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร, ตรวจสอบเส้นทาง, การเงิน ฯลฯ กลายเป็นเทคโนโลยีซึ่งขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน แต่ล่าสุดความอันตรายกลับเพิ่มขึ้นเมื่อมีผู้มองเห็นแนวทางการใช้ระบบ WIFI ในการโจรกรรม

 

          แต่ก่อนอื่นคงต้องอธิบายรูปแบบการทำงานของ WIFI เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของเพิ่มเติมกันเสียก่อน

เมื่อ WIFI อาจจะถูกนำไปใช้ในงานจารกรรม

ระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายที่ครอบคลุมทั่วโลก

 

          คาดว่าปัจจุบันผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกท่านคงรู้จัก WIFI หรืออินเทอร์เน็ตไร้สายกันมาบ้าง หลายท่านอาจเข้าใจว่าคำนี้มาจาก Wireless Fidelity แต่ต้นตอจริงของคำนี้มาจากเครื่องหมายการค้าขององค์กร Wi-Fi Alliance ที่เป็นผู้คิดค้นระบบนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี 1999

 

          ระบบการทำงานของ WIFI ถือเป็นระบบ LAN ไร้สาย ส่วนหนึ่งของ IEEE 802.11 ทำหน้าที่สื่อสารกันผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยคลื่นวิทยุแบบเดียวกับสัญญาณโทรศัพท์มือถือและบลูทูธ คอยทำหน้าที่เชื่อมต่ออุปกรณ์และบริการ ด้วยระดับความถี่คลื่นอยู่ที่ 2.4 GHz และ 5 GHz

 

          ตามปกติการทำงานของระบบ WIFI จะเริ่มต้นการเชื่อมต่อจากตัวรับอีเทอร์เน็ตหรือโมเด็ม DSL, เคเบิล ไปจนถึงดาวเทียมซึ่งเป็นต้นขั้วสัญญาณ จากนั้นตัวโมเด็มจะรับหน้าที่เป็นตัวกระจายสัญญาณสู่อุปกรณ์รอบข้าง เมื่อมีการเชื่อมต่อใช้งาน ส่งคำขอ และได้การยอมรับอย่างถูกต้อง การส่งผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็จะเริ่มขึ้น

 

          สิ่งหนึ่งที่อาจมีบางท่านเข้าใจผิดคือ สัญญาณ WIFI ไม่ได้หมายถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต บางครั้งเราสามารถเชื่อมต่อไปหาอุปกรณ์อื่นไปจนโมเด็มได้แต่ไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณ เนื่องจากเนื้อแท้ระบบ WIFI ไม่ใช่ระบบอินเทอร์เน็ต แต่เป็นเพียงช่องทางในการกระจายสัญญาณรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

 

          ความสะดวกสบายของระบบนี้ได้รับการยืนยันจากหลายสำนัก แพร่หลายไปในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิด ตั้งแต่แล็ปท็อป, สมาร์ทโฟน, สมาร์ทวอช, โทรทัศน์ ฯลฯ และปัจจุบันบริษัทผลิตอุปกรณ์รองรับระบบ WIFI ก็ต้องจ่ายค่าสิขสิทธิ์ให้แก่สิทธิบัตรของบริษัท Wi-Fi Alliance อยู่

 

          แต่ล่าสุดระบบ WIFI กำลังถูกท้าทายอีกครั้งเมื่อมีการเปิดเผยว่ามีช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการจารกรรมได้

เมื่อ WIFI อาจจะถูกนำไปใช้ในงานจารกรรม

Wi-Peep อุปกรณ์ค้นหาสัญญาณ WIFI ที่อาจถูกใช้ในงานจารกรรม

 

          การค้นพบนี้เกิดจากทีมวิจัยแห่ง University of Waterloo จากการใช้งาน Wi-Peep ที่สามารถส่งสัญญาณไปหาอุปกรณ์ที่รองรับระบบ WIFI ทั้งหมด โดยจะทำการส่งสัญญาณกระจายเป็นวงกว้างไปหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรัศมี เมื่อมีการตอบสนองจะช่วยให้ทราบตำแหน่งของอุปกรณ์ทันที

 

          ที่เป็นแบบนี้เนื่องจากอุปกรณ์รองรับสัญญาณ WIFI รุ่นใหม่ ได้รับการพัฒนาให้ตรวจจับต่อสัญญาณได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เมื่อมีการส่งสัญญาณออกไปอุปกรณ์จะตอบสนองเพื่อเตรียมรองรับการเชื่อมต่อ แม้การส่งสัญญาณนี้จะไม่สามารถเชื่อมไปหาอุปกรณ์เพื่อเข้าถึงข้อมูล แต่เพียงทราบตำแหน่งก็เกิดอันตรายได้มากพอ

 

          พวกเขาตั้งชื่อช่องโหว่นี้ว่า Polite WIFI โดยอุปกรณ์ชนิดนี้มีความแตกต่างจากสัญญาณ WIFI ทั่วไปตรงแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสิ่งกีดขวาง จึงสามารถส่งสัญญาณเข้าไปตรวจจับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้านเรือนหรืออาคารได้ แม้ตัวจะมีระยะทำการไม่มาก แต่ความน่ากลัวจะเกิดขึ้นเมื่ออุปกรณ์ชนิดนี้ถูกติดตั้งไว้บนโดรน

 

          เราทราบดีว่าการตรวจสอบค้นหาโดรนไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งลำบากกว่าคือการตามหาตัวผู้ใช้งานหรือเจ้าของ อีกทั้งโดรนยังมีคุณสมบัติแทรกซึมค่อนข้างสูง จึงเป็นไปได้ว่าหากนำ Wi-Peep ติดตั้งลงบนโดรน จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

 

          ถึงตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า การถูกรู้ตำแหน่งจะส่งผลกระทบขนาดไหน? ในเมื่อข้อมูลส่วนตัวไม่ได้ถูกขโมยไป แต่สำหรับมิจฉาชีพข้อมูลตำแหน่งของอุปกรณ์เหล่านี้ถือเป็นของล้ำค่า ด้วยอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ WIFI ได้หลายชิ้นล้วนมีราคา ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์, สมาร์ทโฟน หรือแล็ปท็อป จนอาจเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมได้ง่าย

 

          แย่กว่าคือระบบรักษาความปลอดภัย ปัจจุบันกล้องวงจรปิดเองก็เชื่อมต่อด้วยระบบ WIFI เมื่อถูกตรวจพบทั้งระบบจึงทำให้ตำแหน่งกล้องถูกเปิดเผยออกมาทั้งหมด ซ้ำร้ายไปกว่านั้นแม้แต่ตำแหน่งของพนักงานรักษาความปลอดภัย หากพวกเขามีสมาร์ทโฟนติดตัว การตามรอยค้นหาตำแหน่งแบบเรียลไทม์ล้วนไม่ใช่เรื่องยาก

 

          ล่าสุดบริษัททางการเงินแห่งหนึ่งตรวจพบผู้ใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ติดตั้งลงบนโดรนดัดแปลง 2 ลำ เพื่อทำการแทรกแซงระบบจากภายนอกอาคาร ข้อมูลจากบริษัทรักษาความปลอดภัยระบุว่า ในช่วงหลังการใช้งานโดรนเพื่อแทรกแซงเครือข่ายความปลอดภัยทวีจำนวนจนรับมือได้ยากยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้นักวิจัยมีความกังวลต่ออุปกรณ์ดังกล่าว

 

          อีกทั้งต้นทุนในการผลิตอุปกรณ์ Wi-Peep ทีมวิจัยสามารถใช้เพียง 20 ดอลลาร์(748 บาท)ในการประดิษฐ์โดรนติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ส่วนประกอบที่ใช้ล้วนสามารถหาซื้อได้ง่ายและด้วยทักษะความเข้าใจที่มากพอ การสร้างอุปกรณ์แทรกแซงช่องโหวนี้ก็เป็นเรื่องง่ายที่สามารถทำได้จากเครื่องมือที่หาได้ทั่วไป

 

          นี่จึงทำให้เราเข้าใจว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานอยู่ทุกวันมีช่องโหว่ร้ายแรงที่ต้องเร่งแก้ไข

 

 

          ฟังดูเลวร้ายแต่อันที่จริงใช่จะไม่มีทางแก้เลยเสียทีเดียว นักวิจัยระบุว่าวิธีป้องกัน อันดับแรกคือปิดการค้นหา WIFI จะช่วยระงับการตรวจจับได้ แต่สำหรับอุปกรณ์บางประเภทที่ต้องเชื่อมต่อตลอดเวลา เช่น แล็ปท็อป หรือ กล้องวงจรปิด อาจต้องให้ผู้พัฒนาแก้ไขช่องโหว่ต่อไปในอนาคต

 

          แต่คงต้องรอดูต่อไปว่าเราจะสามารถหาทางแก้ไขช่องโหว่ได้สำเร็จหรือเกิดเหตุร้ายขึ้นก่อนจึงจะได้รับความสนใจ

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://boingboing.net/2005/11/08/wifi-isnt-short-for.html

 

          https://www.tp-link.com/th/wifi/

 

          https://www.onehospitality.co.th/wi-fi/

 

          https://www.tp-link.com/th/wifi/

 

          https://newatlas.com/science/wi-peep-drone-wifi-devices-walls/

 

          https://interestingengineering.com/innovation/loophole-see-through-walls

 

          https://www.techspot.com/news/96552-polite-wifi-loophole-modified-drones-track-device-locations.html?fbclid=IwAR37hlDPbb74OUZye32CczSvPggLoSOdr9pS8uLrrF7B6UJY-W4uZS_V7w0