posttoday

กลุ่มสว.สำรองยื่นDSI ขอให้รับสอบฮั้วเลือกสว.67เป็นคดีพิเศษ

10 กุมภาพันธ์ 2568

กลุ่มสว.สำรองเรียกร้องDIS รับสอบฮั้ว โกง บล็อกโหวต เลือกสว.ปี2567 เป็นคดีพิเศษ เชื่อจะช่วยสนับสนุนการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มตัวแทนผู้สมัคร สว.รวมตัวกันมากกว่า 40 คนที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) โดยมีกลุ่ม ส.ว.สำรอง ผู้สมัคร สว.อื่นๆ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาร่วมสอบสวนคดีการฮั้ว โกง และบล็อกโหวตในการเลือก สว.ปี 2567


ภาพ ศุกร์ภมร เฮงประภากร (Sukpamorn Hengprapakorn)
#NationPhoto
#ผู้สมัครสว
#คดีโกงเลือกตั้งสว
#กรมสอบสวนคดีพิเศษ
#DSI

  • ข้อเรียกร้องให้สอบสวนการทุจริตในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

จากการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 และการประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 200 คน และ ส.ว. สำรองอีก 99 คน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ปรากฏว่าหลังจากการเลือกตั้ง มีการร้องเรียนและคัดค้านเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของกระบวนการเลือก ส.ว. โดยระบุว่ามีการฮั้วและบล็อกโหวต รวมถึงปัญหาด้านคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการรับรองเป็น ส.ว. มีจำนวนคำร้องมากกว่า 570 เรื่อง

แม้จะมีการติดตามและส่งมอบหลักฐานให้ กกต. อย่างครบถ้วน แต่ กกต. ได้แจ้งยกคำร้องไปแล้ว 200 เรื่อง โดยไม่ได้ระบุเหตุผลที่ชัดเจน ทำให้ผู้ร้องเรียนเกิดความสงสัยและไม่มั่นใจในกระบวนการพิจารณา นอกจากนี้ยังมีคำร้องอีกกว่า 300 เรื่องที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งใช้เวลามานานกว่า 220 วัน และเหลือเวลาอีกเพียง 100 วันก่อนครบกำหนด 1 ปีตามกรอบเวลาของ กกต. ส่งผลให้เกิดความกังวลว่า กกต. จะสามารถดำเนินการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมได้หรือไม่

นอกจากผลกระทบต่อกระบวนการตรวจสอบแล้ว ยังส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางข้อครหาของสังคม โดยถูกตั้งฉายาว่าเป็นกลุ่มที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของการเมือง ซึ่งอาจกระทบต่อการลงมติในเรื่องสำคัญ เช่น การเลือกองค์กรอิสระที่ควรเป็นไปอย่างอิสระ แต่กลับมีแนวโน้มว่าจะถูกครอบงำโดยกลุ่มการเมือง

  • มีการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

มีหลักฐานชี้ว่าการเลือก ส.ว. ครั้งนี้ อาจมีขบวนการวางแผนล่วงหน้าและดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนคล้ายองค์กรอาชญากรรม โดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน เช่น ใช้ฝ่ายไอทีคำนวณคะแนนและจัดทำโพยฮั้วเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ได้แก่

ความผิดฐานอั้งยี่ – การจัดตั้งกลุ่มลับเพื่อดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมาย (มาตรา 209 ประมวลกฎหมายอาญา)
ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ – การชักจูงหรือจัดตั้งกลุ่มเพื่อเลือก ส.ว. อย่างไม่โปร่งใส (มาตรา 116(3) ประมวลกฎหมายอาญา)
ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง – การให้หรือสัญญาจะให้ผลประโยชน์เพื่อให้บุคคลลงคะแนนโดยไม่สุจริต (มาตรา 77(1) พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2561)
ความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน – มีการเคลื่อนย้ายหรือใช้เงินที่ได้จากการกระทำผิดกฎหมาย (พ.ร.ป. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542)

  • ให้ DSI รับเป็นคดีพิเศษ

จากพฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิดหลายข้อและมีความซับซ้อนสูง ควรใช้กระบวนการสอบสวนพิเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ กลุ่ม ส.ว. สำรองและผู้สมัคร ส.ว. หลายรายที่พบเห็นหลักฐานการทุจริตจึงเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมสั่งการให้ DSI เข้ามาดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 กลุ่ม ส.ว. สำรองได้ไปยื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อเร่งรัดการตรวจสอบคดีการฮั้วและบล็อกโหวตมาแล้ว และครั้งนี้เป็นการขอให้ DSI รับเรื่องเป็นคดีพิเศษ โดยเชื่อว่า DSI มีข้อมูลเพียงพอที่จะช่วยสนับสนุนการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว