posttoday

'ปานปรีย์'ย้ำไทยเป็นกลางไม่ชักศึกเข้าบ้านปมภัยสู้รบในเมียนมา

09 เมษายน 2567

ปานปรีย์ พหิทธานุกร ย้ำจุดยืนไทยเป็นกลางปมภัยสู้รบในเมียนมา ยันเป็นเครื่องบินพาณิชย์ขอลงจอดที่แม่สอด ไม่มีอาวุธ-กำลังพล เป็นการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษธรรมไม่ใช่การชักศึกเข้าบ้าน ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยรับได้1แสนคน

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ยืนยันว่าเครื่องบินโดยสาร1ลำจากเมียนมาลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จ.ตาก ไม่ใช่เครื่องบินทหาร เป็นการขอมาจากเอกอัครราชทูตของเมียนมาร์ ประจำประเทศไทยและขอความร่วมมือ เนื่องจากมีสถานการณ์ในเมียนมาและมีประชาชนเมียนมาได้รับผลกระทบ อาจมีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากประเทศไทยในเรื่องของมนุษยธรรม

นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า รอบแรกขอมา 3 ครั้งคาดว่าน่าจะมีประชาชนชาวเมียนมาข้ามชายแดนมาเยอะแต่สุดท้ายก็ปรากฏว่าไม่มี ก็เข้าใจ ว่าอาจจะมีการเจรจากันระหว่างกลุ่มที่ต่อสู้กันในพื้นที่ อาจจะมีการตกลงกันได้ ทำให้ไม่ต้องขนคนไป และคาดว่าอาจจะมีข้าราชการเข้ามาแต่สุดท้ายไม่ได้เข้ามา โดยปกติทางการทูตไม่ว่าจะเป็นประเทศใด เราไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่า ข้าราชการของเขา แต่ทั้งหมดนี้ ก็ผ่านชายแดนมาเรียบร้อยยืนยันได้ว่าไม่มีอาวุธ ไม่มีกำลังพล ไม่มีทหาร และเดิมที่จะเดินทางเข้ามาก็ขอยกเลิกไปไม่ได้เดินทางเข้ามา ดังนั้นเหลือแต่เอกสารทางราชการที่ส่งกลับไป
 

ช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ไม่ใช่ชักศึกเข้าบ้าน

ทั้งนี้ ไม่มีประเด็นเรื่องการชักศึกเข้าบ้าน เพราะไม่ใช่เครื่องบินทหาร เป็นเครื่องบินพลเรือนของเมียนมา ซึ่งปกติก็บินเข้า-ออกประเทศไทยอยู่แล้ว กองทัพมีความพร้อมกรณีที่อาจจะมีการล่วงละเมิดน่านฟ้าว่าจะดำเนินการอย่างไร

ส่วนที่มีรายงานว่ารัฐบาลตัดสินใจอนุญาตให้เครื่องบินลงจอดโดยไม่ได้ประสานงานกับกองทัพ  นายปานปรีย์ กล่าวว่าทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการและเป็นไปตามขั้นตอน หลังจากที่มีเหตุการณ์ก็มีการประสานงานเข้าประชุมสมช. เพื่อหารือว่าเกิดอะไรขึ้น และในนายกรัฐมนตรีก็รับทราบดี  การจะให้เครื่องบินเมียนมาบินเข้ามาหรือไม่ เข้ารัฐบาลรับทราบดีและตัดสินใจสอดคล้องกันผ่านสมช.

ส่วนจำเป็นต้องให้จีนมาร่วมหรือไม่ เป็นอีกสเตปหนึ่งที่เป็นเรื่องของประเทศที่มีชายแดนติดกับเมียนมา ทั้งจีน อินเดีย บังคลาเทศและลาว จะมาร่วมกันเพราะทั้ง 3 4 ประเทศนี้ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับประเทศไทย

ไทยเตรียมการตั้งศูนย์รับผู้ลี้ภัยเมียนมา 1แสนคน 

นายปานปรีย์ ระบุด้วยว่า การประชุมร่วมกับนายกฯเศรษฐาและหน่วยฝ่ายมั่นคง เพราะมีความเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นทางประเทศไทยจะเตรียมสถานการณ์รองรับได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็ได้รับรายงานว่าปัจจุบันนี้ มีการเตรียมแผนรองรับแล้ว น่าจะรับได้ประมาณ1 แสนคน เข้ามาในที่ปลอดภัยชั่วคราว ก็มีคำถามต่อไปว่า ถ้ามีจำนวนคนเข้ามามากกว่าแสนคนจะทำอย่างไร  ผู้รับผิดชอบก็แจ้งว่าสามารถที่จะดำเนินการได้ ซึ่งขณะนี้กำลังติดต่อกับต่างประเทศด้วย ว่าหากเกิดความรุนแรงแล้วมีคนเข้ามาเป็นหลักแสนเราจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งประเทศไทยไม่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้โดยลำพัง ก็ต้องเชิญชวนต่างประเทศเข้ามาร่วม

อีกเรื่องคือเรื่องการค้าชายแดน ซึ่งนายกฯเเศรษฐามีความเป็นห่วง และก่อนหน้านี้การค้า บริเวณชายแดนโดยเฉพาะที่แม่สอด ก็ลดลงมาก ตอนนี้ข้าราชการกรมศุลกากร ตม.ฝั่งเมียนมาก็ยังทำงานเป็นปกติ แต่อาจจะไม่ได้ใส่เครื่องแบบ การค้ายังเข้า-ออกได้ปกติ หากเข้า-ออกไม่ได้ก็จะไดเวอร์สไปพื้นที่ชายแดนอื่นต่อไป 

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะให้มีการเจรจาอนายปานปรีย์ กล่าวว่า การเจรจาต้องเจรจา ให้ครบทุกกลุ่ม ทั้งทางการเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งรัฐบาลเมียนมาคุมได้ พื้นที่หนึ่ง อีกกลุ่ม ก็คุมในพื้นที่ 1 ดังนั้นการเจรจาต้องเจรจาให้ได้ทุกกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ต้องทำ

ย้ำไทยเป็นกลางอยากเห็นสันติภาพในเมียนมา

"ยืนยันประเทศไทยมี ความเป็นกลางอย่างแน่นอน และเรามีความประสงค์ให้เกิดสันติสุขและเกิดความสงบเรียบร้อยในเมียนมา เพราะไทยได้รับผลกระทบมากและเราได้เริ่มทำในบางส่วนแล้ว แต่เมื่อมีการสู้รบกันมากขึ้น ก็จะต้องหาทางที่จะทำให้เกิดการเจรจา เพื่อให้การสู้รบยุติลง เพื่อให้เกิดการพูดคุยกันมากขึ้น" นายปานปรีย์ ระบุ 

เมื่อถามว่า หากกลุ่มเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่หลบหนีการสู้รบเข้ามาอยู่ฝั่งไทยแล้วมาอยู่รวมกันจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันหรืออไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่าเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งผู้รับผิดชอบ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กองทัพ ทราบอยู่แล้วและจะเป็นผู้ที่รู้ว่าในพื้นที่ต่างๆเป็นชนกลุ่มไหน ชาติพันธุ์ไหน

ดังนั้นการที่ไปเอาชาติพันธุ์ที่ไม่ถูกกันหรือคนที่เป็นของรัฐบาลมาอยู่ด้วยกัน อาจจะมีปัญหาได้ ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ต้องห่วงเราแยกแยะได้และโดยปกติแล้วประชาชนชาวเมียนมาไม่ได้แตกแยกจะเป็นเฉพาะกลุ่มส่วนมากก็ข้ามไปข้ามมาไม่รู้ว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหน ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างไรก็ตามได้รับทราบเรื่องนี้แล้วและเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ

ดูแลชายแดนหน้าที่กองทัพ ค้าขายเมียวดียังปกติ

เมื่อถามว่าจะทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยกับสถานการณ์นี้ นายปานปรีย์ กล่าวว่า ณ วันนี้ยังมีความสงบอยู่ จากที่ได้รับรายงาน มีการค้าขายกันปกติประมาณการค้าอาจจะลดน้อยลงและประชาชนอาจจะมีความกังวลอยู่บ้างว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แต่เป็นเรื่องภายในของเมียนมา ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะเกิดอะไรที่รุนแรงในพื้นที่ ของเมียวดี เนื่องจากเมียวดีเป็นพื้นที่ของเศรษฐกิจโดยตรง และคิดว่าไม่มีใครมีความประสงค์ที่จะทำให้เกิดความรุนแรง ทางกองทัพก็เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในกรณีที่ ป็นเรื่องชายแดน ทางกองทัพก็จะต้องดูแล ตอนนี้ก็เพิ่มกำลังไปแล้วและดูแลอย่างใกล้ชิดเข้มงวด

เมื่อถามว่า จะเปลี่ยนบทบาท จากผู้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นผู้ควบคุม เหมือนกรณีของจีนหรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่าเราไม่ได้เข้าไปควบคุมใครและเราไม่สามารถที่จะไปควบคุมรัฐบาลอื่น แต่เราทำหน้าที่ประสานงาน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาในเมียนมา และไม่ใช่เฉพาะ ในเรื่องการดำเนินข้อริเริ่มด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเดียวเราก็มีแผนที่จะดำเนินการในส่วนนี้อยู่แล้ว.