posttoday

รองโฆษก ปชป. แนะ นายก-แบงก์ชาติหารือ แก้ปมลดดอกเบี้ยนโยบาย

17 มีนาคม 2567

ผศ.ดร. เจนจิรา รัตนเพียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ จี้ปมร้อนปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย แนะ นายกฯ-แบงก์ชาติ หารือมากขึ้น พร้อมให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ผศ.ดร. เจนจิรา รัตนเพียร  กรรมการบริหารพรรค และ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากประเด็นที่ นายกเศรษฐา ทวีสิน เรียกร้องให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (policy rate) ลง 0.5 โดยให้เหตุผลว่า  มีองค์กรหลายแห่งเรียกร้องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน และนายกรัฐมนตรีต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น โดยอาศัยกลไกการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.นั้น ในส่วนของตนเอง มีความเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่ถูกออกแบบขึ้นให้มีความเป็นอิสระในการที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินของประเทศ เช่นเดียวกับ รัฐบาล ก็มีอำนาจอย่างเต็มที่ ตามกฏหมาย ที่สามารถใช้กลไกทางด้านการคลัง  

ดังนั้น ด้วยความเป็นอิสระซึ่งกันและกัน ควรจะให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำหน้าที่

"ที่ผ่านมา ได้เห็นท่านนายกรัฐมนตรี เชิญท่านผู้ว่าแบงก์ชาติหารือกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและสร้างสรรค์ ที่ต่างฝ่ายต่างรับฟังกันถึงความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อที่จะได้ไปกำหนดบทบาท ของตน  ว่า ควรจะทำอะไร ได้บ้าง ตาม อำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ดังนั้น การที่เข้ามาชี้นำ  กดดันผ่านสื่อ ตามที่ปรากฎเป็นข่าว แม้จะเป็นการอ้างถึงความต้องการขององค์กรหรือบุคคลที่ต้องการแก้ปัญหาหนี้สิน รวมถึงความต้องการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหาร ต้องใช้วิจารณญาณ และวุฒิภาวะ อย่างยิ่งว่าควรทำหรือไม่ เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อ ภาพลักษณ์ ในการทำงาน ด้วยความเป็นอิสระต่อกัน อันเป็นหลักกฎหมาย และหลักการสากล ของนานาประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาวได้"

ดร.เจนจิรา กล่าวอีกว่า ขอยกตัวอย่าง ในอดีตพรรคประชาธิปัตย์  โดยนายเกียรติ สิทธีอมร อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยต่อสู้มาเช่นเดียวกัน ในเรื่องของความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่มีความแตกต่างสูง 

แม้ว่าท่านเกียรติ จะมีเหตุผลอธิบายอย่างเหมาะสม แต่ก็ต้องยอมรับความจริง ที่ว่าเป็น อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนิติบุคคลที่มีอิสระในการตัดสินใจ นโยบายทางการเงิน ตามบทบาทหน้าที่ ที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย 

 “ทางออกที่สมควร ในเรื่องนี้นั้น ทั้งสองฝ่าย ควรมีการพบกัน หารือ ร่วมกันให้มากกว่านี้ อดทนรับฟังซึ่งกันและกันให้มากกว่านี้ เพราะอย่างไรเสีย การเงิน และ การคลัง ก็จะต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน หาก ต่างคนต่างพูด ต่างอ้างอิสระในการกำหนดนโยบาย อาจเกิดความผิดพลาด ทำให้ประเทศ และประชาชน ต้องผจญวิกฤต เหมือนที่เคยเกิดในอดีตได้” ดร. เจนจิรา กล่าวทิ้งท้าย