posttoday

ทวี ชี้ เด็กกราดยิงพารากอน เป็นกรณีศึกษา ต้องปรับแก้กฎหมายให้เหมาะสม

06 ตุลาคม 2566

ทวี รมว.ยุติธรรม เผยกรมพินิจฯส่งเด็ก14กราดยิงพารากอน ให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ประเมินอาการ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่สืบสวนหามูลเหตุจูงใจเพื่อออกแบบกลไกป้องกันเหตุซ้ำรอยและถือเป็นกรณีศึกษาแก้กฎหมายอายุเด็กต้องรับโทษ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานผลสรุปการประเมินสุขภาพกายใจของเด็กชายวัย14ปี ผู้ก่อเหตุกราดยิงที่พารากอนเห็นควรส่งตัวเด็กชายไปเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ประเมินอาการและในทางกฎหมายไม่สามารถเปิดเผยเรื่องอาการสุขภาพได้ขอให้เป็นไปตามความเห็นของแพทย์ อีกทั้งกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้จัดเจ้าหน้าที่สำหรับเข้าร่วมดูแลเด็ก ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย 

ทั้งนี้ ไม่ได้เน้นย้ำกำชับในเรื่องใดเป็นพิเศษแก่กรมพินิจฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนการดำเนินการและรายงานให้รับทราบต่อเนื่องเรื่องสำคัญอีกประการคือเจ้าหน้าที่ของกรมพินิจฯจะต้องลงพื้นที่ สืบเสาะ สืบสวนค้นหาสาเหตุการก่อเหตุเพื่อจะได้ร่วมกันออกแบบกลไกป้องกันไม่ให้มีเด็กหรือเยาวชนก่อเหตุในลักษณะนี้ซ้ำขึ้นอีก 
 

หากเด็กชายเข้ารับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางเสร็จสิ้นกระบวนการเป็นที่เรียบร้อยและแพทย์พิจารณาส่งกลับมายังสถานพินิจฯ ทางกรมพินิจฯ ก็จะมีโปรแกรมบำบัดฟื้นฟู เพื่อพัฒนาพฤตินิสัยซึ่งจะเป็นในส่วนที่เด็กๆภายในการดูแลของสถานพินิจฯทุกคนจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการศึกษา การพัฒนาวิชาชีพต่างๆ เป็นต้น

ส่วนการเยียวยาเหยื่อและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กราดยิง ว่า ทางกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะได้มีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ในกรณีของผู้เสียหายที่เสียชีวิต มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามกฎหมายสูงสุดรายละ 200,000 บาท ส่วนผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บมีสิทธิได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกัน 

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นชาวต่างชาติก็จะได้รับค่าชดเชยผู้เสียชีวิตจากกระทรวงยุติธรรมเช่นเดียวกัน และทั้งสองส่วนจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ว่าจะมีการจ่ายเงินชดเชย เยียวยาอย่างไรบ้าง แต่ยืนยันว่าเรามีการชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายและผู้เสียชีวิตอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับอายุของเด็กที่ก่อเหตุซึ่งไม่ต้องได้รับโทษ โดยกฎหมายไทยมีกำหนดอายุกว่า 12 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี ไม่ต้องรับโทษ พันตำรวจเอกทวีกล่าวว่า จะต้องนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อนำไปพิจารณาปรับแก้กฎหมายให้เหมาะสม ซึ่งมีกระบวนการทางรัฐสภา โดยตนเองเห็นว่าควรจะมีการร่วมหารือพิจารณากันต่อไป