posttoday

นายกฯ เร่งไทยบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

06 ตุลาคม 2566

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นับวันยิ่งทวีความรุนแรง จัดเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งแก้ ปรับทิศทางพาไทยบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (2nd Thailand Climate Action Conference : TCAC 2) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยระบุว่า

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนและทวีความรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและพยายามอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับวิกฤตสำคัญนี้ การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เวทีนี้จึงเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิด สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ และร่วมกันขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะสามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้

ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในวาระสำคัญ ตั้งแต่การเข้าร่วมการประชุม UNGA78 ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยหารือร่วมกับผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมถึงได้เน้นย้ำอย่างหนักแน่นไปยังประชาคมโลกถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมาย SDGs

ไทยยืนยันกับโลกว่ายังคงมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ ภายในปี 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้ข้อตกลงปารีส 

นอกจากนี้ ไทยยังเพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution) จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030 โดยรัฐบาลได้นำเป้าหมายเหล่านี้ บูรณาการในนโยบายที่สำคัญของประเทศ ซึ่งรวมถึงในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13

รัฐบาลให้ความสำคัญกับ “โอกาส” ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมด้านการผลิตและการบริโภค โดยยึดหลักความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งต้องได้รับความร่วมมืออย่างแข็งขันและสร้างสรรค์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

นอกจากนี้ รัฐบาลตระหนักถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง จึงจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนายกรัฐมนตรีผลักดันให้ผ่านพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ ซึ่งส่วนนี้จะวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

นายกรัฐมนตรี ยังเห็นถึงโอกาสสำหรับประเทศไทยและภาคเอกชนในการก้าวไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในภาคการผลิตและบริการ ซึ่งหลายองค์กรได้ผลักดันและส่งเสริมมาตรการที่ยั่งยืนในปัจจุบัน โดยรัฐบาลเตรียมการเพื่อก้าวไปพร้อมกับองค์กรเหล่านี้ อาทิ การเตรียมการผลิตภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ สำหรับการบังคับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ในระยะแรก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอลูมิเนียม ก่อนการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2026 

ส่วนการประชุม COP28 ที่กำลังจะมาถึง นายกรัฐมนตรียืนยันความมุ่งมั่นที่จะให้มีการสนับสนุนในหลายมิติ เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยี การสนับสนุนทางการเงิน และการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อให้มั่นใจว่าจะบรรลุตามเป้าหมายร่วมกัน