posttoday

“พิธา” หารือ ส.อ.ท. รับฟัง 6 ข้อเสนอแนะ กกร. พร้อมแลกเปลี่ยนนโยบายอุตสาหกรรม

23 พฤษภาคม 2566

“พิธา” เข้าหารือ ส.อ.ท. รับฟังข้อเสนอแนะ 6 ข้อ กกร. พร้อมแลกเปลี่ยนนโยบายอุตสาหกรรม เดินหน้ารับฟังเอกชน และศึกษารายละเอียดรอบด้านก่อนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ดูแลทั้งภาคแรงงาน และภาคธุรกิจ

ช่วงเช้าวันนี้ (23 พ.ค.2566) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เดินทางเข้าหารือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กลับคืนมา ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกของภาคธุรกิจ โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ส.อ.ท. ให้การต้อนรับ

นายพิธา เดินทางมาด้วยวินรถจักรยานยนต์เช่นเดิม และบอกก่อนเข้าหารือว่า สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรกของการทำงานของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านฯ จึงมีการพูดคุยกับสภาอุตสาหรกรรมฯ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ 6 ข้อ ที่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้นำเสนอไว้ และถือเป็นการได้กลับบ้านเก่าด้วย เพราะตนเองเคยทำงานที่นี้ 

โดยในวันนี้จะได้แลกเปลี่ยนกันในนโยบายอุตสาหกรรมของรัฐบาลก้าวไกล ที่จะเน้นบรรเทาทุกข์ เน้นความเท่าเทียม และเน้นความทันสมัย คือ ต้องแฟร์ และพื้นฐานของประเทศต้องเฟิร์ม และมีการเจริญเติบโตที่ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหากนักธุรกิจและนักลงทุนฟังอยู่ ก็จะเห็นภาพว่า เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโตจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่แข็งแรงแค่หัวก็จะทำให้เกิดเศรษฐกิจภายในประเทศขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซา 

ส่วนเรื่องนโนบายค่าแรงนั้น จะเดินหน้าเหมือนเดิมหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจ บางเรื่องที่จะต้องรวดเร็วก็ต้องรวดเร็ว บางเรื่องที่จะต้องรอบคอบก็ต้องรอบคอบ และภายในสัปดาห์นี้ ก็จะไปหารือรับฟัง กกร., สภาแรงงาน และสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) เพื่อให้เกิดการรับฟังอย่างรอบด้าน 

จากนั้นจะนำไปข้อมูลจากการรับฟัง ไปพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นพรรคใหญ่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่ก็จะต้องเข้าใจว่าพี่น้องแรงงานไม่ได้ขึ้นมานาน จึงต้องศึกษาแพกเก็จที่สามารถบรรเทาการขึ้นค่าแรงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยทำสมัยปี 2556 เพื่อให้ช่วยในการดูแลทั้งแรงงาน เอสเอ็มอี เจ้าของธุรกิจ และดูเรื่องความเท่าเทียม รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด

นักข่าวถามถึงกรณีการโหวตของ ส.ว. หากไม่ครบ จะวางแผนอย่างไรต่อ ซึ่งตอนนี้ยังดูไม่น่ามีปัญหา และเท่าที่คณะเจรจาอัพเดทให้ฟังนั้น ยังมองว่าเป็นเรื่องของระบบมากกว่าตัวบุคคล ซึ่งจะก็ต้องประคับประคองไม่อยากให้ประเทศถึงทางตัน และส่วนตัวก็มีการพูดคุยกับคณะกรรมการที่เจรจากับ ส.ว. มาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ขอเปิดเผย รวมถึงส่วนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจก็มีการติดต่อขอพบ ทั้งจากก้าวไกลเองติดต่อไปเองและจากพรรคร่วมที่ส่ง Contact มาให้ติดต่อไป

“การมาที่มาสภาอุตสาหกรรมวันนี้ ก็มีวุฒิสภาหลายท่านก็เคยทำงานร่วมกันมาในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย และก็ได้โทรศัพท์เข้ามาหาตนเองด้วย ทำให้เรื่องของความแน่นอนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ประชาชนสบายใจ นักธุรกิจนักลงทุนจากต่างประเทศเริ่มสบายใจ และความมีเสถียรภาพของรัฐบาลของเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น” นายพิธา กล่าว  

นักข่าวถามถึงเรื่อง ม.112 ที่พรรคร่วมอย่าง ไทยสร้างไทย และเสรีรวมไทย ไม่เอาทั้งยกเลิกและแก้ไข จะมีผลกับการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายพิธา ระบุว่า ไม่มีความกังวล เพราะได้พูดคุยกันตั้งแต่เวทีดีเบตแล้ว และก่อน MOU ก็ได้พูดคุยกันอีกครั้งและเข้าใจว่าเป็นวาระเฉพาะของแต่ละพรรค และยืนยันว่า ไม่คิดว่า พรรคก้าวไกลจะโดดเดี่ยวในการแก้ไข ม.112 เพื่อให้ความสัมพันธ์ของสถาบันกับประชาชนเป็นไปในทางที่ดีขึ้น 

นักข่าวถามถึงกรณีที่ภาคเอกชน อยากให้ตั้งรัฐบาลก่อนเดือน ส.ค.นี้ เป็นไปได้หรือไม่ นายพิธา ตอบว่า มีกรอบของกฎหมายอยู่ว่า กกต.จะรับรอง ส.ส. เมื่อไร ถ้า กกต. รับรอง ส.ส. เร็ว แล้วกระบวนการจัดตั้งเป็นไปได้แบบนี้ก็น่าจะเร็วขึ้น