posttoday

ชำแหละนโยบายหาเสียง "เอาใจผู้สูงวัย"

19 เมษายน 2566

ผู้สูงอายุเนื้อหอม พรรคการเมืองแห่ขน นโยบายออกมาเพื่อชิงหัวใจวัยเกษียณ เมื่อชำแหละนโยบายล้วนใช้งบประมาณมหาศาล ด้านTDRI ดับฝัน รัฐไม่มีเงินเพียงพอทำตามนโยบาย ชี้ไทยมีสูงวัย 12 ล้านคน แจก 1 พัน/เดือน ต้องใช้เงินปีละ 1.44 แสนล้าน แจก 5 พัน งบเพิ่มขึ้น 5 เท่า ทะลุ 7.2 แสนล้าน

หนึ่งโจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ คือ การรับมือกับสังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2565 ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีจำนวนประชากรอายุมากกว่า 60 ขึ้นไป ได้ขยับสัดส่วนขึ้นเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือจำนวน 12 ล้านคน และอีก 9 ปีข้างหน้า ในปี 2574 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ

 

หากมาดูตัวเลขผู้สูงอายุ ที่มีสิทธิเลือกตั้งในปี 2566 พบว่า มีจำนวนไม่น้อย หรือ 14,378,037 คน หรือ 27.48% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52,322,824 คน

 

ทำให้การสู้สึกเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 หลายพรรคต่างผุดนโยบาย เพื่อมาเอาใจกลุ่มผู้สูงวัยจำนวนมาก อาทิ

 

พรรคประชาธิปัตย์ 


-นโยบายการออมเพื่อวัยเกษียณภาคบังคับ เพื่อให้มีเงินเลี้ยงดูตัวเองยามเกษียณ
-ขยายอายุเกษียณเพิ่มจาก 60 ปี เพื่อให้สามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้
-จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ทำกิจกรรมด้านสุขภาพ
-ส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างรายได้

 

พรรคพลังประชารัฐ 


-เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน 
อายุ 60 ปีขึ้นไปรับเบี้ย 3,000 บาทต่อเดือน 
อายุ 70 ปีขึ้นไป รับเบี้ย 4,000 บาทต่อเดือน 
อายุ 80 ปีขึ้นไป รับเบี้ย 5,000 บาทต่อเดือน 

-ขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เพิ่มเป็น 63 ปี 

-สนับสนุนวิสาหกิจ เพื่อสูงอายุ สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งให้ผู้สูงอายุ 
 

 

พรรครวมไทยสร้างชาติ


-เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็น 1,000 บาทต่อเดือน เท่ากันทุกช่วงอายุ จากเดิมเป็นแบบขั้นบันได 600-1,000 บาท 

-สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุ

-ลดภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ 

 

พรรคภูมิใจไทย

-ผู้ที่อายุ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับสิทธิ์เป็นสมาชิกกองทุนประกันชีวิต และมีกรมธรรม์ประกันชีวิตทันที โดยไม่ต้องสมัคร และไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต เสียชีวิตได้ 100,000 บาท และสามารถกู้ได้ 20,000 บาท ไม่ต้องมีคนค้ำ

-รักษามะเร็งฟรีทุกจังหวัด 

-ศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ

 

พรรคเพื่อไทย

-เพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ดีขึ้น

-ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านมางไกล หรือ Telemedicine

-ดูแลรักษาผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยมีผู้ช่วยพยาบาล ทั้งที่บ้านและศูนย์ชีวาภิบาล (Hospice) ของรัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลูกหลานยังสามารถไปประกอบอาชีพได้ตามปกติ ไม่ต้องลางาน

 

พรรคก้าวไกล

-เงินผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท ในปี 2570

-สมทบเงินเข้ากองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเป็นงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้ในการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงภายในท้องถิ่น

-จัดสรรงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ติดบ้าน-ติดเตียง เฉลี่ย 9,000 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์  1,500 บาท และการจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ 7,500 บาท โดยมีอัตราผู้ดูแลโดยเฉลี่ย 1 คน/ผู้ป่วย 2 คน

-ค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท
 

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ยิบยกขึ้นมา นโยบายจากพรรคการเมืองบางพรรคเท่านั้น แต่ยังมีพรรคการเมืองอีกมาก ที่ออกนโยบายเพื่อหาคะแนนเสียงกับผู้สูงอายุ โดยการใช้งบประมาณแผ่นดิน ทุกสวัสดิการ ที่ว่าจะให้ “ล้วนแต่เป็นภาระงบประมาณประเทศอย่างหนักหน่วง แบบระยะยาว” ที่กระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ โจทย์สำคัญหลังจากการเลือกตั้ง คงหนีไม่พ้น รัฐบาลใหม่จะ หาเงินจำนวนมหาศาลจากที่ไหนมาจ่าย?? 

 

"ทีดีอาร์ไอ" มีคำตอบ...

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดย ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ระบุกับ โพสต์ทูเดย์ ว่า การรับมือกับสังคมสูงวัยนั้น ถ้าใช้หลักคิดแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมองว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องเตรียมเงินออมเอาไว้ให้เพียงพอในวัยทำงาน

 

หากนำหลักคิดแนวนี้มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยจะพบว่า ผู้สูงอายุไทยที่เกษียณอายุต้องมีเงินออม (ไม่รวมมูลค่าที่อยู่อาศัย) ประมาณ 3-4 ล้านบาท ฟังไม่ผิด!! คนที่เกษียณอายุในตอนนี้ควรมี เงินออม 3-4 ล้านบาทต่อคน เพื่อเพียงพอใช้ในยามชรา ซึ่งข้อมูลสำรวจผู้สูงอายุไทย กลับพบว่า ร้อยละ 60-80 ไม่มีเงินออมที่เพียงพอต่อการเกษียณอายุ จึงเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น

 

ประเด็นปัญหาดังกล่าว เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่พรรคการเมืองออกนโยบายสวัสดิการแจกเงินผู้สูงอายุ มีตั้งแต่ 1,000 บาทต่อเดือน ไปจนถึง 3,000 และ มากกว่า 3,000 บาทต่อเดือน มาตรการเหล่านี้มักจะมีปัญหาด้านความยั่งยืน เนื่องจากประชากรสูงอายุไทยตอนนี้ มีประมาณ 12 ล้านคน ถ้าต้องช่วยเหลือ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน ต้องใช้เงินอุดหนุนเดือนละ 12,000 ล้านบาท หรือ 144,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

 

พรรคที่แจก 3,000 บาทต่อเดือน และ 5,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องใช้เงิน เพิ่ม 3 และ 5 เท่า เป็น 432,000 ล้านบาท และ 720,000 ล้านบาทต่อปีตามลำดับ

 

ยิ่งไปกว่านั้น ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนในอนาคตข้างหน้า นั่นคือ เงินที่ต้องใช้สำหรับการแจก 1,000 บาทต่อเดือน จะเพิ่มเป็น 240,000 ล้านบาทต่อปี และพรรคที่จะแจก 3,000 บาทต่อเดือน และ 5,000 บาทต่อเดือน ต้องใช้งบประมาณถึง 720,000 ล้านบาท และ 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี เงินที่ใช้ไปดังกล่าวจึงเป็น 'ค่าเสียโอกาส' อย่างมหาศาลที่จะนำไปพัฒนาเศรษฐกิจ

 

“การช่วยเหลือผู้สูงอายุสามารถทำได้ แต่ต้องมีความพอดี ไม่แจกจนเกินไป...รัฐไม่มีเงินพอที่จะดูแลประชาชนในระดับนั้น ยิ่งเวลาผ่านไปรัฐไทยยิ่งมีสัดส่วนรายได้ต่อ GDP ลดลง แต่รายจ่ายต่อ GDP เพิ่มขึ้น หากไม่คุมตอนนี้อนาคตยิ่งแย่ ปัญหานี้รัฐเอาไม่อยู่ จึงต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วย”

 

ข้อเสนอแนะ

1.    แจกในวงเงินที่จำกัด เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ผู้สูงอายุในกลุ่มใกล้เกษียณไม่สามารถออมเงินได้ทัน

2.    ปฏิรูประบบร่วมออม เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนที่กำลังใกล้เกษียณอายุ

3.    เพิ่มกลไกทางสังคมที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ ได้แก่ การพัฒนาระบบธนาคารเวลา การให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยพัฒนาชุมชนที่ร่วมดูแลทุกช่วงวัย เพิ่มการจ้างงานผู้สูงอายุ

4.     ภาครัฐ ควรเร่งแก้ไขปัญหาสังคมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สมาชิกครอบครัวที่ต้องออกจากงานมาดูแลพ่อแม่ ครอบครัวที่ไม่แต่งงาน หรือไม่มีบุตรหลาน อสม. ที่ขาดระบบดูแลสวัสดิการในระยะยาว

 

ที่ผ่านมา สายนักวิชาการ รวมถึงทุกภาคส่วนได้ แสดงถึงข้อห่วงใยที่สำคัญ ถึงนโยบายหลายอย่างที่พรรคการเมืองประกาศออกมา แม้จะเป็นนโยบายที่มีจุดประสงค์ดี ที่มุ่งแก้ไขความเดือดร้อน และปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางก็ตาม แต่ยังมีหลายนโยบายที่น่าจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว หนึ่งในนั้นที่กำลังเป็นกระแส คือ การสร้างภาระทางการคลังจากการใช้งบประมาณเกินตัว ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงระดับประเทศที่ไม่สามารถมองข้าม ประชาชนอย่างเรา การตัดสินใจเลือกพรรคไหน อย่ามองเพียงว่า ใครให้มากกว่ากัน แต่มองด้วยว่า ผลประโยชน์ที่ได้มา รัฐต้องเสียอะไรไป ที่สำคัญ นโยบายที่ว่าจะให้ ทำได้จริงหรือไม่? ...