posttoday

หลายหน่วยงาน ร่วมกิจกรรม ส่งแสงรำลึกการจากไปของ "หมอกระต่าย”

21 มกราคม 2566

คกก.บูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ วุฒิสภายุวกาชาด และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมกิจกรรม..ส่งแสงรำลึกการจากไปของ "หมอกระต่าย" สู่ความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน "หยุดสูญเสีย หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย"

จากกรณี แพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ "หมอกระต่าย" แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิตหลังถูกรถบิ๊กไบค์ ดูคาติ สีแดง ชนขณะข้ามทางม้าลาย ถ.พญาไท บริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565

 

วันนี้ (21 ม.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท กรุงเทพฯ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ร่วมกิจกรรมไว้อาลัย เพื่อรำลึกครบรอบ 1 ปี การจากไปของ "หมอกระต่าย" แพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิตหลังถูกรถบิ๊กไบค์ ดูคาติ สีแดง ชนขณะข้ามทางม้าลาย บริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 โดยการจุดเทียน เปิดไฟโทรศัพท์มือถือ หรือเปิดไฟหน้ารถ พร้อมอ่านบทกวี ที่แต่งโดย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์)

 

โดย นายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา  เปิดเผยภายหลังการจัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 12 เนื่องในวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน 21 มกราคม 2566 ณ บริเวณหน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท ในวันนี้ว่า การเสียชีวิตของคุณหมอกระต่ายเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความปลอดภัยของคนใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะคนเดินเท้า คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉิน, สสส, มูลนิธิเมาไม่ขับ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน  

 

จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถบนทางม้าลาย ความดีที่คุณทำได้” ทุกวันที่ 21 ของเดือนนับตั้งแต่เกิดเหตุ เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน จนรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 21 มกราคมของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน “ วันนี้จึงได้จัดกิจกรรมควบคู่ไปกับการรำลึกถึงหมอกระต่ายด้วยการเปิดไฟหน้ารถหรือเปิดไฟฉายโทรศัพท์มือถือ และร่วมเดินข้ามทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตฯ โดยจากการจัดกิจกรรมทั้ง 11 ครั้ง พบว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการเดินเท้าในปี 2565 ลดลงจากปี 2564 อย่างเป็นที่น่าพอใจ และเห็นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของทางม้าลายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ตื่นตัว ทำให้ทางม้าลายมีความชัดเจน มีการขีดสี ตีเส้น ติดตั้งสัญญาณจราจร  ได้เห็นสัญญาณชัดเจนว่าผู้คนให้ความสำคัญดับความปลอดภัยบนทางม้าลายมากขึ้น  ซึ่งจะนำไปสู่การเคารพสิทธิ์คนเดินเท้า สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในอนาคต 
 

 

นอกจากนี้  ในปีที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการฯได้เชิญผู้ประกอบการผู้ขับขี่จักรยานยนต์หรือไรเดอร์ ที่มีกว่า 10,000 คนในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาร่วมเน้นย้ำวินัยจราจรและร่วมเป็นภาคีเครือข่ายความปลอดภัย และในอนาคตจะร่วมกับกรมการขนส่งทางบก บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้ผู้ประกอบการดูแลจักรยานยนต์ที่ใช้ประกอบอาชีพต้องเสียภาษี พ.ร.บ.จักรยานยนต์และทำประกันต่อไป

 

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การสูญเสียคุณหมอกระต่ายนับเป็นบทเรียนราคาแพง ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครจึงได้ให้ความสำคัญและรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ได้มีการปรับปรุง ทำความสะอาดทางม้าลายให้เห็นได้ชัดเจนรวมแล้วนับ 1000 แห่ง รวมไปถึงการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร สัญญาณคนข้าม และไฟสองสว่างบนท้องถนนที่ในปี 2566 นี้จะยังคงดำเพิ่มเติมการอย่างต่อเนื่อง และต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายยิ่งขึ้น

 

ขณะที่ นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล พ่อของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย  ได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหลังจากการสูญเสียหมอกระต่ายว่า ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางกายภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะทางม้าลาย ป้ายกำหนดความเร็ว  สัญญาจราจรต่าง ๆ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ย้ำเตือนให้คนระมัดระวัง ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้การรณรงค์เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน  อย่างไรก็ตาม อยากให้มีการกวดขันการบังคับใช้กฎหมาย ปลูกฝังจิตสำนึกแก่เยาวชน และกำหนดการใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับชุมชนเพื่อความปลอดภัยที่ยั่งยืน  และอยากขอให้รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างความปลอดทางถนน เพือให้ทุกหน่วยงานมาร่วมกันสนับสนุนโยบายให้เกิดขึ้นจริง และให้ความปลอดภัยทางถนนเกิดขึ้นทุกวัน