posttoday

คนไทยหน่ายการเมือง ก้าวไม่ถึงวาระปฏิรูป

03 พฤษภาคม 2554

นอกจากประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง เอาทักษิณ ชินวัตร กลับไทย จะนิรโทษกรรมหรือไม่

นอกจากประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง เอาทักษิณ ชินวัตร กลับไทย จะนิรโทษกรรมหรือไม่

โดย...ทีมข่าวการเมือง

นอกจากประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง เอาทักษิณ ชินวัตร กลับไทย จะนิรโทษกรรมหรือไม่

อีกกระแสที่เริ่มเห็นการขับเคลื่อนในช่วงนี้ คือ การแข่งขันด้านนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในการแก้ปัญหาประเทศ

นี่เป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะเป็นการสนทนาอย่างสร้างสรรค์ มากกว่าจะจมอยู่กับการห้ำหั่นกับความแตกแยกทางการเมือง

พรรคเพื่อไทยที่ใช้แดงนำยังต้องปรับทัพ ทักษิณสั่งให้แกนนำพรรคหาเสียงเรื่องนโยบายเป็นหลัก เช่น กองทุนหมู่บ้าน 2 ล้านบาท กองทุน S M L 3-4-5 แสนบาท พักหนี้ครัวเรือนต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี จำนำข้าวเปลือกเจ้า 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ฯลฯ

คนไทยหน่ายการเมือง ก้าวไม่ถึงวาระปฏิรูป

เป็นนโยบายฉบับ “นายห้างตราดูไบห่อ” ประทับตราทักษิณเพื่อรับประกันทุกโครงการที่เสนอนั้น “ทำได้จริง” โดยมีทีมเศรษฐกิจอย่าง โอฬาร ไชยประวัติ สุชาติ ธาดาธำรงเวช พิชัย นริพทะพันธุ์ คอยขับเคลื่อนตามเวทีต่างๆ

ทักษิณยังจัดคอร์สติวเข้มกับแกนนำพรรคให้เข้าใจนโยบายให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้พูดในทิศทางเดียว

ไม่เท่านั้น ยังสั่งให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานหัวโต๊ะสรุปเรื่อง “โครงการถมเมืองใหม่” ย่านสมุทรปราการที่จะผุดมาแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ให้กับลูกพรรคเพื่อให้ไม่สะเปะสะปะ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ การเป็นรัฐบาลอยู่ในฐานะได้เปรียบ หลายนโยบายนำร่องมาก่อน อาทิ ขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ จัดให้มีบำนาญประชาชนหลังอายุ 60 ปี โดยตั้งกองทุนเงินออมแห่งชาติขยายไปที่ผู้สูงอายุ นโยบายเรียนฟรี เบี้ยยังชีพ เบี้ย อสม. ลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตรึงราคาก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือนและขนส่ง แต่ปล่อยลอยตัวในภาคอุตสาหกรรม ขึ้นค่าแรง 250 บาทต่อวัน

ขณะที่พรรคขนาดกลางและเล็ก ไม่มีอะไรเด่นชัด นอกจากลอกนโยบายพรรคใหญ่ แล้วเกทับเพิ่มตัวเลข

เห็นได้ว่า นโยบายที่ประกาศออกมาล้วนเป็นการต่อยอดประชานิยมสมัยไทยรักไทยดั้งเดิม ดั่งที่นักวิชาการวิจารณ์

“วิทยากร เชียงกูล” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า นโยบายของพรรคการเมืองที่ออกมา แยกเป็นส่วนๆ มุ่งเน้นที่กลุ่มประชาชน ที่แต่ละพรรคต้องการคะแนนเสียง โดยไม่ได้มองโครงสร้างเศรษฐกิจในภาพรวม การทำโครงการจึงมีลักษณะแตกกระจายและเป็นประชานิยม คือ เน้นการช่วยเหลือมากกว่าส่งเสริมให้ประชาชนเข้มแข็งและยืนอยู่ได้ในระยะยาวจริง

ถามว่า นโยบายที่พรรคนำเสนอ มีเนื้อหาในเชิง “ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” สังคมและเศรษฐกิจหรือไม่ คำตอบคือยัง

ไม่ว่าข้อเสนอที่ภาคประชาชนเรียกร้องมานาน อย่างการขยายฐานการเก็บภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน

พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็ไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้สำเร็จ

หรือข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มี “นพ.ประเวศ วะสีอานันท์ ปันยารชุน” เป็นประธาน ซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรม หลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาเลือดปีที่แล้ว

ผ่านมา 8 เดือนคณะกรรมการชุดแฝด “อิน-จัน” มีข้อเสนอออกมาสู่สังคม แต่กลับไม่มีเสียงตอบรับจากฝ่ายการเมืองเท่าที่ควร

ข้อเสนอเหล่านี้ซึ่งกลั่นกรองตกผลึกจากคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ประกอบด้วย

1.การจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยให้มีการถือครองที่ดินไม่เกินรายละ 50 ไร่ เกินกว่านั้นให้มีระบบอัตราภาษีก้าวหน้าที่เหมาะสม เร่งออกโฉนดชุมชน

2.ให้ชุมชนมีส่วนร่วมวางแผนและจัดการทรัพยากร และให้ยุติแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลทั้งหมด 3.การปฏิรูประบบยุติธรรมที่เกี่ยวกับคดีที่ดินและทรัพยากร รวมถึงการจัดตั้งศาลคดีเฉพาะ และให้ตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ที่บุกรุกป่ากรณีไม่มีที่ดินทำกิน

4.การปฏิรูประบบประกันสังคม มีมติให้มีกลไกที่เป็นอิสระ มีระบบการสรรหากรรมการที่โปร่งใส 5.เรื่องหลักประกันและการสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ 6.ตั้งกองทุนพัฒนาศักยภาพกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่ม โดยปรับสัดส่วนสลากกินแบ่งรัฐบาลและให้มีกลไกบริหารกองทุนที่เป็นอิสระโปร่งใส

7.กระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบบราชการ การคัดเลือกผู้บริหาร การกำหนดนโยบาย และการจัดสรรงบประมาณในทุกระดับ 8.จัดตั้งกองทุนสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน มีแหล่งทุนที่ชัดเจนและยั่งยืน

นี่จึงเป็นโอกาสที่ภาคประชาสังคมจะได้กดดันพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้ง ว่าจะรับนโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติหรือไม่หากได้เป็นรัฐบาล เหมือนสมัย บรรหาร ศิลปอาชา สมัยเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย หาเสียงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ที่สุดเมื่อเป็นรัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตาม

เพราะคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้ระดมความเห็นจากตัวแทนภาคประชาชนทั่วประเทศและมีนักวิชาการชื่อดังที่ได้รับการยอมรับเข้าร่วมเสนอพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ เพื่อก้าวออกจากกับดักความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ผิดปกติทางการเมือง มีการเผชิญหน้าอย่างรุนแรง ภาคประชาชน กลุ่มเอ็นจีโอ แตกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ไม่มีเอกภาพ จึงไม่มีพลังพอที่จะกดดันพรรคการเมือง

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต่าง “หมดหวัง” กับนักการเมือง ตามผลสำรวจความเห็นของสวนดุสิตโพล พบว่า 88.9% ไม่รู้สึกตื่นเต้นต่อการยุบสภา เพราะไม่ว่าพรรคใดจะเข้ามาบริหารประเทศ การเมืองไทยก็เหมือนเดิม

อารมณ์คนส่วนใหญ่ลุ้นอยู่แค่ว่า วันนี้จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ทหารจะยึดอำนาจตามข่าวลือหรือไม่ ระหว่างการเลือกตั้งจะเกิดความรุนแรงแค่ไหน มวลชนเสื้อแดงจะปิดล้อมไม่ให้พรรคคู่แข่งหาเสียงในพื้นที่หรือไม่ และเมื่อมีรัฐบาลแล้ว จะมีม็อบออกมาชุมนุมต่อต้านไม่จบสิ้นหรือไม่

เหล่านี้เป็นคำถามดังๆ ในใจคนไทยที่ขอให้ประเทศสงบ ถึงจะมีม็อบก็อย่าใช้ความรุนแรง โดยไม่ได้สนใจกับวาระ “ปฏิรูปประเทศ” แค่ขอให้มีเลือกตั้ง มีรัฐบาลก็พอ

แต่ถ้าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืน นอกจากปัญหาทางการเมืองแล้ว รากเหง้าจริงๆ อยู่ที่ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่กดทับมานาน เกิดช่องว่างที่ถ่างกว้างทางชนชั้น มีการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มคนที่มีอำนาจทุน อำนาจรัฐมากกว่า ไม่กระจายทรัพยากรธรรมชาติให้ รากหญ้าที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ปัญหาสวัสดิการของผู้คนในแต่ละภูมิภาค

พลังทางสังคมจึงต้องกดดันนักการเมืองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ มิใช่ให้ปัญหาทางการเมืองมากดทับวาระปฏิรูปประเทศ มิฉะนั้นก็ไม่สามารถคลี่คลายความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต