มติศาลรธน.สะเทือน"บิ๊กดีลรัฐบาล"เกมเปลี่ยน ไทยเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ
มติศาลรัฐธรรมนูญ 6:3 รับคำร้อง40สว.ชี้ขาดปมคุณสมบัตินายกฯเศรษฐา ใช้อำนาจแต่งตั้งพิชิตเป็นรมต.และมติ 5:4 ไม่ต้องหยุดการปฎิบัติหน้าที่ ทำให้"บิ๊กดีล"เมื่อ10 เดือนก่อนจำต้องเปลี่ยนเกมใหม่ เตือนไทยเข้าสู่สภาวะสุญญากาศภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่มีข้อพึงควรระมัดระวัง
กรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6:3 เสียง รับคำร้องกลุ่ม 40สว. ร่วมลงชื่อยื่นให้พิจารณาการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 หรือไม่ จากปมการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ในการแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเพราะเคยรับโทษจำคุกมาก่อน
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5:4 ไม่สั่งให้นายเศรษฐา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และมติ 8:1 มีคำสั่งไม่รับคำร้องตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิชิต เพราะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) จึงไม่มีเหตุวินิจฉัยคดีต่อไป
มติศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ส่งผลทันทีต่อ 10 เดือนของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา (22ส.ค.67-23พ.ค.67) เพราะทำให้"บิ๊กดีล"การเมืองที่เคยมีการเจรจาก่อนหน้านี้ เปลี่ยนแปลงไป
จากเดิมขั้วอำนาจเก่า สายอนุรักษ์นิยม และกลุ่มอีลิท ซึ่งมีความหวาดกลัวพรรคก้าวไกลตั้งแต่ผลการเลือกตั้ง แม้จะไม่ชอบทักษิณ-เพื่อไทย ทว่าได้มอบวิญญาณให้ไปจัดตั้งรัฐบาล เพราะเพื่อไทยเป็นประชาธิปไตยฝ่ายก้าวหน้ามากที่สุดร่วมกับขั้วอนุรักษ์นิยม มีพันธกิจสำคัญต้องชนะพรรคก้าวไกล
แต่จาก 22ส.ค.67-23พ.ค.67 หลังการเข้ามาในประเทศไทยของ'ทักษิณ' ทำให้กลุ่มอำนาจเก่าเริ่มหวาดระแวงจนเกิดความกลัว "ทักษิณ" เพราะนับวันอำนาจบารมีที่มีอยู่เป็นทุนเดิม เริ่มสยายปีกความแข็งแกร่งมากขึ้นและบางกรณี "ทักษิณ" เริ่มขยับตัวเกินข้อตกลงที่เคยเจรจากันไว้ก่อนหน้านี้ทำให้เกมเกิดการเคลื่อนไหว ส่งสัญญาณชัดเจนในหลายมิติ
ดังนั้น มติ 6:3 และ 5:4 ของศาลรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เกิดสัญญาณความไม่แน่นอนของรัฐบาลนายกฯเศรษฐาทันทีและนำพาประเทศไทยเข้าสู่ สภาวะสุญญากาศ โดยมีปัจจัยที่เป็นข้อควรระวังและมีความสุ่มเสี่ยงต่อสเถียรภาพรัฐบาล ประกอบด้วย
-การเมืองเริ่มขาดสเถียรภาพ
-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สะดุด
-เอกชนขาดความเชื่อมั่นนโยบาย กระทบการลงทุน
-ข้าราชการส่อเกียร์ว่าง
-ดิจิทัล วอลเลต มีความไม่แน่นอน
-การเบิกจ่ายงบประมาณสะดุด
ต่อแต่นี้ "บิ๊กดีลการเมือง"จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ด้วยประการฉะนี้.