ประธานศาลรัฐธรรมนูญ รับอาจฟังพยานเพิ่ม ส่งผลตัดสินยุบก้าวไกล ไม่ทันเมษายน
นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังการประชุมวิชาการประจำปี เนื่องในโอกาส 26 ปี แห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญว่า ตลอด 26 ปีที่ผ่านมา ปฏิบัติหน้าที่ได้บรรลุวัตถุประสงค์พอสมควรระดับหนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2540 2550 2557 2560 แม้จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามวิกฤตบ้านเมือง แต่กติกา และโครงสร้างทางการเมืองยังเหมือนเดิม เช่นเดียวกับ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป บางอย่างหายไปบ้าง เช่น อำนาจการยุบพรรคการเมืองของศาลฯ กรณีที่ไม่ส่งบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำปี แต่ไม่มีผลกระทบและมีอำนาจให้ประชาชนเพิ่มขึ้น เช่น การร้องโดยตรงถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยังกล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่หลายครั้งถูกสังคม และนักวิชาการวิพากษณ์วิจารณ์ ยอมรับว่า การถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่วิจารณ์แล้วทำให้บ้านเมืองสงบ และเป็นที่ยอมรับ บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องจำเป็น และตนเอง ก็ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นอย่างเต็มที่ แต่จะต้องเป็นไปโดยสุจริต และไม่เป็นการดูถูกเหยียดหยามองค์กรตุลาการ อย่าใช้คำหยาบคาย เพราะจะมีโทษตามกฎหมาย
ถามว่า หลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยคดีสำคัญทางการเมือง ซึ่งจะมีแรงกระแทกจากสังคมกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญอีก นายนครินทร์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ และอีกมุมหนึ่ง ก็แสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นที่ยอมรับ เพราะข้อขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ลดลง หากพรรคการเมืองสามารถตกลง เจรจากันได้ในสภา คดีก็จะไม่มาถึงศาล แต่เมื่อสภา ตัดสินใจยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา จึงแสดงให้เห็นว่า ศาลเป็นที่พึ่ง และศาลพร้อมรับฟังข้อโต้แย้งของทั้ง 2 ฝ่าย และพิจารณาตามข้อกฎหมาย แล้วจึงตัดสินใจ ขอยืนยัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีธงในการตัดสินคดี และการวินิจฉัยคดี ก็สามารถชี้ขาดได้เพียง ซ้าย หรือขวา หรือชอบ หรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น แตกต่างจากการเขียนคำตอบเชิงวิชาการ ที่คำตอบสามารถออกมาได้หลายมุม จึงทำให้สังคมมองว่า ศาลฯ มีธง ทั้งที่ตุลาการ ก็มีการถกเถียงกันมากพอสมควร
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยังเปิดเผยถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีที่ผู้ถูกร้อง ยื่นขอขยายเวลาการส่งเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า จะสามารถขยายได้กี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของศาลฯ และจะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยเฉพาะคดีการยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาให้ขยายได้อีก 15 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนนี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยคดีพรรคก้าวไกลในสิ้นเดือนเมษายนนี้ และยังไม่ทราบว่า จะมีคำร้องขอเปิดการไต่สวนหรือไม่ ซึ่งจะสามารถทำให้รับฟังพยานเพิ่มเติมได้อีก และส่วนตัวก็อยากรับทราบว่า บุคคลต่างๆ ที่จะเข้าไต่สวนนั้น มีรายละเอียดอย่างไร
ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกล มีการเตรียมความพร้อม และคาดเดาคำวินิจฉัยที่จะออกมาได้แล้วนั้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ก็เป็นที่คาดการอย่างนั้น แต่เป็นข้อกฎหมายคนละมาตรากัน หากมีการเปรียบเทียบคดีระหว่างพรรคก้าวไกล กับพรรคไทยรักษาชาติ โดยเฉพาะโทษทางการเมืองนั้น ก็ยังมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน และตัวแสดงทางการเมือง หรือตัวแสดงในคดี ก็ไม่ใช่ตัวแสดงเดียวกัน