posttoday

งบปี 67-ปี 68-เงินธ.ก.ส.แหล่งเงิน Digital Wallet

10 เมษายน 2567

นายกฯ นำทัพแจง 3 แหล่งเงินทำโครงการ Digital Wallet วงเงิน 5 แสนล้านบาท ดึงจากงบปี 67 จำนวน 175,000 ล้าน งบปี 68 อีก 152,700 ล้าน และใช้เงินจาก ม.28 ยืมเงิน ธ.ก.ส. 172,300 ล้านบาท ยังคงเงื่อนไขคนรับสิทธิ์ ร้านสะดวกซื้อร่วมได้

วันนี้ (10 เม.ย.2567)  ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล นโยบายยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดฝ่าฟันข้อจำกัด รัฐบาลได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ส่งมอบนโยบายพลิกชีวิตประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายทุกประการ อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนร้านค้าจะได้ลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3/2567 และเงินส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4/2567

นโยบายนี้ เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงกระจายทุกพื้นที่ ให้หมุนเวียนในระบบถึงฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ผลตอบแทนทางภาษี เป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เตรียมพร้อมประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ เพิ่มความโปร่งใสการชำระเงิน

นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายนี้มีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ลดภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ พึ่งพาตนเองได้ สร้างโอกาสประกอบอาชีพของประชาชน ก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ทั้งนี้ความคุ้มค่าจะให้สิทธิแก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท กำหนดใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด เป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 1.2-1.6% จากกรณีฐานครั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของโครงการ

รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกระบวนการต่างๆ เป็นไปตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนโดยรวม รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด

ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการที่ออกในวันนี้ ความรู้สึกลึกๆ ของนายกฯ ผิดกับความตั้งใจแรกในตอนหาเสียงอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ระยะเวลาที่จะเกิดขึ้นได้ แน่นอนรัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชน ที่คาดว่าที่แรกจะออกต้นปีนี้ แต่ก็เลยไปถึงปลายปี อย่างที่เรียนว่า ต้องฟังเสียงของทุกคน ที่ให้คำแนะนำ ให้เสนอแนะ และพยายามที่จะตั้งคณะกรรมการต่างๆ มา ต้องมีการดูอย่างดี อย่างละเอียด เพื่อให้เป็นโครงการที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ตกอยู่กับประชาชน

เมื่อถามว่าหลักเกณฑ์คนที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ฉะนั้นคนที่อดออมมารู้สึกมันอาจจะมีความรู้สึก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผมทำตามคำแนะนำของแบงค์ชาติว่าให้ดูแลเฉพาะกลุ่ม ฉะนั้นคนที่มีเยอะแล้วก็เป็นไปตามนั้น เพราะมันเป็นเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นหลายภาคส่วน

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแหล่งที่มาของวงเงิน 5 แสนล้านบาทในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยเป็นการจัดการงบประมาณสำหรับงบปี 2567 และปีงบ 2568 ควบคู่กันไป โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณเรียบร้อยแล้ว

2. จากการการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยจะใช้ มาตรา 28 โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลประชาชนในกลุ่มที่เป็นเกษตรกร จำนวน 11 ล้านคนเศษ ผ่านกลไก มาตรา 28 ของปีงบประมาณ 68

3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการไหนสามารถใช้หรือปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลางที่อาจนำมาใช้เพิ่มเติมได้หากวงเงินไม่เพียงพอ

เมื่อรวมส่วนที่ 1,2 และ 3 จะได้วงเงิน 5 แสนล้านบาท ขอยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องแหล่งเงิน เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายงบประมาณ หรือ พ.ร.บ.เงินตรา ที่แบงก์ชาติมีข้อกังวล ณ วันที่เริ่มโครงการในช่วงปลายปี จะมีเงิน 5 แสนล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ยืนยันว่าทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วน

เปิดมติโครงการ Digital Wallet 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการฯ คณะกรรมการฯ ได้กำหนด โดยส่วนใหญ่เงื่อนไขยังคงเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ 

1. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษีและมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท 

2. เงื่อนไขการใช้จ่าย 
2.1 ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น  

2.2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า 

การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า 

3. ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม 

4. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป 

ร้านค้าที่ร่วมโครงการเบื้องต้นต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก ร้านสะดวกซื้อ ร้านสะดวกซื้อที่เป็นสแตนอโลน และที่อยู่ในปั๊มน้ำมันก็เข้าได้ ส่วนร้านขนาดใหญ่ เช่น แม็คโคร ห้าง ค้าปลีก ค้าส่งขนาดใหญ่ จะไม่รวมอยู่ในเงื่อนไข ส่วนร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น คณะกรรมการฯจะมีการพิจารณาอีกครั้งภายใน 30 วันก่อนเสนอครม. ส่วนคนใช้ Easy e-Receipt แล้วยังสามารถเข้าร่วมได้ เพราะเป็นคนละโครงการกัน

5. การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาล จะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย   

6. แหล่งเงิน จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกฎหมายต่าง ๆ เช่น มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ) ซึ่งกำหนดว่ารัฐต้องดำเนินนโยบายการคลังตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคม

และต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งกำหนดว่าการดำเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย

7. ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 

8. การป้องกันการทุจริตของโครงการฯ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  

สำหรับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ การให้สิทธิแก่ประชาชน จำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1.2 - 1.8 จากกรณีฐาน และเมื่อรวมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐ เช่นมาตรการอสังหาฯ ก็เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้จีดีพีไทยปี  2558 ขยายตัวได้ ร้อยละ 5% ได้  ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ ในวันนี้คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายน 2567