posttoday

สารพัดปัญหารุมเร้า เขย่าองค์กร วัดใจ เศรษฐา กดปุ่ม ปฏิรูปตำรวจ

22 มีนาคม 2567

จากความขัดแย้ง2นายพลตำรวจ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงนามให้ทั้งคู่ มาช่วยราชการสำนักนายกฯ เหมือนแก้ปัญหาปลายเหตุ จากเรื่องที่เกิดขึ้น มีเสียงเรียกร้อง ปฏิรูป แต่ เศรษฐา ในฐานะประธานกตร. จะกล้ากดปุ่ม รื้อโครงสร้าง ปฏิรูปองค์กรตำรวจ ต้นทางความยุติธรรมแห่งนี้หรือไม่

‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะ ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ออกมาดับ อุณหภมิความร้อนแรงใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศึก 2 นายพล บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กับ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ด้วยการลงนามให้ทั้งคู่ มาช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 60 วัน


ดับอุณหภูมิร้อน ศึกตำรวจ ลามไปถึง ความเชื่อมั่น ศรัทธา องค์กรต้นน้ำ กระบวนการยุติธรรม ตำรวจยังเปิดศึก แฉ สาวไส้กันเอง หากไม่ดับไฟร้อน เรื่องราวจะไปจบตรงไหน ทั้งคน ทั้งองค์กร พังด้วยกันทั้งคู่


แนวคิด การปฏิรูปองค์กรตำรวจ มีเสียงเรียกร้องมาโดยตลอด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ตัดสินใจยึดอำนาจเมื่อ 22พ.ค.2557 ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ขานรับแนวคิด ปฏิรูปองค์กรตำรวจ รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา258 ระบุอย่างชัดเจนต่อแนวทางในภารกิจ ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม จากนั้นมีการตั้งกรรมการ หลายหน่วยงานศึกษา แนวทางปฏิรูปตำรวจ ทว่า ผลสุดท้าย รัฐบาลทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ตั้งต้นเอาจริงเอาจัง แต่บทสรุปสุดท้าย งานที่สรุปออกมา ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก

ไม่ว่าจะเปลี่ยนนายกฯ เปลี่ยนรัฐบาล มากี่ยุค รัฐบาลทหาร สลับ รัฐบาลพลเรือน แต่องค์กรตำรวจยังเป็นเหมือนเดิม 

ความคาดหวัง ปฏิรูปตำรวจ ‘พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร’ อดีตผกก.สภ.ลำลูกกา ปทุมธานี ที่คลุกคลีงานตำรวจมายาวนาน สุดท้ายลาออกจากราชการ เคยร่วมเขียนบทความผ่านหนังสือ โรดแมปปฏิรูปตำรวจ และให้ความเห็น แนวทางปฏิรูปตำรวจ

  
‘หัวใจการปฏิรูปตำรวจคือการปฏิรูประบบงานสอบสวน และนิติวิทยาศาสตร์ด้วยการเป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีการจัดโครงสร้างและระบบการบังคับบัญชาที่มีชั้นยศแบบทหารซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการปฏิบัติงานสอบสวน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา  ก่อให้เกิดปัญหาประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเดือดร้อนจากการสอบสวนที่มิชอบด้วยกฎหมายมากมาย’


สอดรับกับ เสียงสะท้อนจาก นักวิชาการ ผู้คนในแวดวงตำรวจทั้งอดีต ปัจจุบัน ประชาชน สว.บางคน ต่างสะท้อนในมุมมอง อยากให้แยกงานสืบสวนสอบสวนออกจากตำรวจ เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ และฝ่ายการเมือง แต่บทสรุปสุดท้าย เป็นเพียงข้อเสนอ แต่ไม่มีใครกล้ากดปุ่ม นำไปสู่การแก้ไขอย่างจริงจัง


จากข่าว ความขัดแย้ง 2 นายพลตำรวจ ปฏิกิริยา คนมีชื่อเสียงในสังคม ยังมองว่า รัฐบาลมุ่งมั่นแก้ปัญหา ก่อนที่จะกระทบมาถึงตัวเอง มากกว่าตั้งใจจะ ผ่า รื้อ ปฏิรูปองค์กร เพื่อความยั่งยืน
 

'พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร' อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ระบุ 

‘เป็นการ ตัดไฟแต่ต้นลม เพราะถ้าความขัดแย้ง ยังอยู่ รัฐบาลจะยิ่งเจอกระหน่ำมากยิ่งขึ้น ในช่วงไทม์ไลน์ ปลายเดือน มีนาคม-ต้นเมษายน ที่จะต้องรับศึกทั้ง อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี67 วาระ2-3 , การอภิปรายไม่ไว้วางใจของสว.25มี.ค. และ การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติของฝ่ายค้าน 3-4เม.ย.' 


‘เชาว์ มีขวด’ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ค ตอนหนึ่งเรื่อง คดีความไม่ใช่ปาหี่ มีเนื้อหาว่า 

'เห็นข่าวนายกฯ เศรษฐา สยบศึกสีกากีใน สตช. จบดรามา สตช.การละคร ด้วยการเด้งบิ๊กต่อและบิ๊กโจ๊ก ไปประจำสำนักนายกฯ ทั้งคู่ แถมท้ายด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบในทุกคดี แล้วมีคำถามหลายเรื่องที่คิดว่าทั้งนายกฯ บิ๊กต่อ และ บิ๊กโจ๊ก ควรให้คำตอบ คำถามแรกถึงนายกฯ ที่แสดงบทบาทจบความขัดแย้ง คือ เมื่อไหร่จะเปิดประเด็นชัดๆ ว่าท่านตั้งกรรมการสอบสองบิ๊ก ตร. ด้วยคดีอะไรบ้าง ประเด็นไหนที่สงสัย ผลลัพธ์ของการพิจารณาจะนำไปสู่อะไร ถ้าไม่ชัดเรื่องเหล่านี้ บทบาทของท่านก็เพียงแค่ ต้องการแสดงอำนาจ และ ลดความร้อนแรงของเรื่องราวที่เกิดขึ้นเท่านั้น’


ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ค

“ตำรวจต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนครับ
วันนี้ผมได้มามอบนโยบายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทย์คืออยากให้พี่น้องตำรวจทุกท่านยึดเอาทุกข์สุขของประชาชนเป็นหลัก พี่น้องประชาชนยังคงเดือดร้อนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามยาเสพติด การป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้าเถื่อนหรือหนีภาษีจากต่างประเทศ งานความมั่นคง ปราบปรามหนี้นอกระบบ แรงงานต่างด้าว ปราบปรามบ่อนการพนัน แหล่งอบายมุขและสถานบริการต่าง ๆ การปราบปรามเว็บพนันออนไลน์ ปราบปรามอาวุธเถื่อน เรื่องเฝ้าระวัง ป้องกันการเผาป่า ดูแลนักท่องเที่ยว ตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนตามนโยบายหลักของรัฐบาลอีกหลายอย่าง 

 

พี่น้องตำรวจต้องสมัครสมานสามัคคี ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ประโยชน์ของประชาชนคือเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะตำรวจต้องยึดพี่น้องประชาชนเป็นศูนย์กลางครับ”


ได้แต่หวังว่า เศรษฐา ในฐานะประธานก.ตร. ในเมื่อกล้าใช้อำนาจ ลงดาบ 2 นายพลตำรวจ สยบปมปัญหาไม่ให้ขัดแย้งบานปลายไปมากกว่านี้ น่าจะถือโอกาสช่วงความสั่นคลอน ตำรวจ-กระบวนการยุติธรรม 'ลงมือทำ'  รื้อ-ปฏิรูปองค์กรตำรวจ กู้ศรัทธา เรียกความเชื่อมั่น ในฐานะ หน่วยงานต้นทางความยุติธรรม ให้สมกับความตั้งใจที่ นายกรัฐมนตรีและประชาชน คาดหวังเอาไว้ 

 

สารพัดปัญหารุมเร้า เขย่าองค์กร วัดใจ เศรษฐา กดปุ่ม ปฏิรูปตำรวจ