posttoday

สุทินปัด2ตระกูลฮั้วหาประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลทำไทยส่อเสียเกาะกูด

29 กุมภาพันธ์ 2567

สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ยันไม่มีหรอก 2 ตระกูลฮั้วหาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล อาจทำไทยส่อสูญเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ระบุคิดกันไปได้ต่อกรณีโยงสัมพันธ์ ทักษิณ - ฮุนเซน - แพทองธาร

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารเรือ ขอให้ยึดมั่นในการปกป้องดินแดนประเทศไทยการลากเส้นเขตแดนทางทะเล (เส้นเขตไหล่ทวีป) ที่จัดทำโดยประเทศกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวซึ่งได้ลากผ่านกึ่งกลางของเกาะกูด จ.ตราด และมีการเชื่อมโยงไปถึงการพบกันระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกับสมเด็จ อัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา รวมถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มีกำหนดการเดินทางไปกัมพูชาในเดือนมีนาคมนี้ว่า เรื่องนี้ก็คิดไปได้ แต่ว่าพื้นที่ทางทะเล กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้หาข้อสรุป ทหารจะเป็นคนรักษาข้อสรุปนั้น 

ส่วนข้อกังวลที่อาจจะต้องเสียเกาะกูดไป เพราะกัมพูชาขีดเส้นออกมา จะให้ความมั่นใจกับกลุ่มผู้เรียกร้องอย่างไร นายสุทิน ระบุว่า ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญา เป็นผู้ตอบ 

ส่วนที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า จะกลายเป็น 2 ตระกูลหาผลประโยชน์ ทำให้เราเสียดินแดน นายสุทิน ยืนยันว่า ไม่มีหรอก 

ก่อนหน้านี้ กลุ่มคปท.และศปปส.ระบุว่า การลากเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ควรจะเกิดขึ้นซึ่งมีผลต่อสิทธิ์ในทรัพยากรทางทะเล และดินแดนเกาะกูดแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญ รัฐบาลไทยภายใต้การบริหารงานของ นายทักษิณอดีตนายกฯในขณะนั้น ได้ไปจัดทำข้อตกลงร่วมใน MOU44 กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาทันที ทั้งที่รัฐบาลควรยืนยันเรื่องดินแดนของไทยอย่างหนักแน่น
 

การไปจัดทำ MOU44 ก็เท่ากับเป็นการรับรองเส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาจัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว เพราะใน MOU44 ระบุว่า การเจรจาเรื่องเขตแดนและการแบ่งผลประโยชน์ด้านพลังงานจะกระทำไปพร้อมๆ กัน ประชาชนชาวไทยมีความห่วงใยต่อสถานการณ์การจะสูญเสียดินแดนรวมทั้งแหล่งพลังงานที่สำคัญ ทั้งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังเห็นว่าเมื่อสมเด็จฮุนเซน แห่งกัมพูชาได้เดินทางมาเยี่ยมนายทักษิณและได้เชิญ น.ส.แพทองธารไปร่วมประชุมที่ประเทศกัมพูชาในเดือนมีนาคม 67ทำให้มีความวิตกกังวลว่าจะมีการพูดคุยเรื่องการจัดการผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองครอบครัวโดยเอาผลประโยชน์ที่เป็นของประเทศไทยไปตกลงเจรจากันเป็นการส่วนตัว 

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกลไก MOU 44 เพื่อกำหนดพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศกัมพูชา ที่ทำขึ้นสมัยรัฐบาลนายทักษิณว่า ค่อนข้างชัดเจนเรื่องการนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ และการเร่งเจรจาในพื้นที่ทับซ้อน เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อปี 2544 รัฐบาลนายทักษิณเซ็น MOU ฉบับนี้กับรัฐบาลกัมพูชา ตอนนี้ก็ต้องยอมรับความจริง ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีความใกล้ชิดกับกัมพูชามากกว่ารัฐบาลใดๆแต่ไม่ใช่เรื่องที่ผิด และอาจจะเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ
ประเด็นสำคัญการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาในเรื่องผลประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียมในทะเล ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2513 หรืออาจจะนับจาก MOU ปี 2544 รวม 20 ปีกว่า แต่ทำไม่สำเร็จเสียที เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ 2 ประเทศ ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลหรือเส้นเขตไหล่ทวีปของอีกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยากที่จะยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของประเทศกัมพูชา ที่ประกาศออกมาเมื่อปี 2515 ได้ ซึ่งนี่คือจุดแห่งปัญหาทั้งมวล เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากผ่านกลางเกาะกูดไปกึ่งกลางอ่าวไทย แล้ววกลงใต้ ซึ่งเกาะกูดเป็นของไทย 2 ล้านเปอร์เซ็นต์ จากสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1907 ซึ่งเมื่อกัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปดังกล่าว จึงทำให้เป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทย

ในปี 2515 ไทยเคยมีการเจรจากับประเทศกัมพูชาแล้ว กัมพูชาแจ้งว่าการประกาศเส้นไหล่ทวีปนี้ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ระดับล่างเสนอขึ้นมา โดยคำแนะนำของบริษัทน้ำมันต่างชาติ ความจริงแล้วทางกัมพูชาเองไม่มีความประสงค์คร่อมทางเกาะกูดของไทยแต่ประการใด แต่ถ้าจะให้กัมพูชาเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องเข้าใจการเมืองของกัมพูชาที่มีความเปราะบาง ซึ่งสมัยนั้นไทยมีการตอบโต้โดยการประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปของเราเองออกมาในปี 2516 คิดเส้นขึ้นมาตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศโดยลากจากแผ่นดินจุดเดียวกันคือหลักเขตที่ 73 ลากลงทะเลกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทย และเกาะกงของกัมพูชา ซึ่งพื้นที่ที่ทั้งสองประเทศแบ่งเขตไหล่ทวีปแตกต่างกัน ก็เลยกลายเป็นจุดที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนหรือเนื้อที่ทั้งหมด 26,000 ตารางกิโลเมตรกลางอ่าวไทย