posttoday

'ภูมิธรรม'ยันรัฐบาลไม่ยื้อเวลาหนีอภิปรายทั่วไปจนสว.หมดวาระ

06 กุมภาพันธ์ 2567

รองนายกฯ'ภูมิธรรม'ยันรัฐบาลพร้อมตอบประเด็นซักฟอกของสว.ตามรัฐธรรมนูญ ม.153 ไม่ยื้ออภิปรายจนสภาสูงหมดวาระ แจงที่ต้องให้อภิปรายช่วงปลายมี.ค.67 เพราะรอนายกฯเศรษฐา ไปปฎิบัติหน้าที่ราชการในต่างประเทศ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กำหนดกรอบเวลาการเปิดอภิปรายทั่วไปของสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 จะใช้เวลาในช่วงปลายเดือนมีนาคม เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจ และต้องเดินทางเยือนต่างประเทศ ทางออสเตรเลีย และประเทศในแถบยุโรปจึงต้องรอนายกฯเสร็จภารกิจก่อน ยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่ทำให้ยืดเยื้อ จนสมาชิกวุฒิสภาหมดวาระและรัฐบาลก็พร้อมรับฟังมุมมองที่แตกต่างของสมาชิกวุฒิสภา ที่จะสะท้อนความเห็นมายังรัฐบาล ซึ่งก็มีความพร้อมที่จะตอบชี้แจงไม่มีการหลีกเลี่ยง หรือหลีกหนี

ส่วนการกำหนดจำนวนวันอภิปรายที่วิปรัฐบาลเสนอให้ สว. 1 วัน  นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า จะต้องขึ้นอยู่กับเนื้อหา หากมีประเด็นการอภิปราย ก็สามารถต่อรองได้ เพราะไม่อยากให้มีการขอเวลา 2-3 วัน ทั้งที่ยังไม่ทราบเนื้อหาการอภิปรายซึ่งไม่มีมาตรฐาน จึงอยากให้นำความจริงมาพูดกัน ไม่ใช่จินตนาการ เพราะไม่ได้เรื่องใดน่าหนักใจอยู่แล้วหากมีประเด็นเรื่องเวลาก็ไม่ใช่ปัญหา

นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา เรียกร้องให้รัฐมนตรีไปตอบกระทู้ถามของสมาชิกวุฒิสภาว่า โดยหลักการนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้รัฐมนตรี จัดตารางเวลา และไปร่วมตอบกระทู้ถามหากไม่ติดขัดภารกิจอื่น หรือมอบหมายรัฐมนตรีคนอื่น แต่มีปัญหาว่าขณะนี้ รัฐมนตรีมีภารกิจมาก และบางคนก็มีภารกิจกะทันหัน แต่มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการแล้ว แม้จะไม่มีการตั้งกระทู้ถาม ก็ขอให้คณะรัฐมนตรี ไปใช้เวทีสภาในการทำงาน

การตอบข้อซักถามของนายภูมิธรรมต่อประเด็นดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 5ก.พ.2567 นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ออกมาตำหนิท่าทีของรัฐบาล ที่ปฎิเสธการทำหน้าที่ของวุฒิสภาซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 โดยเห็นว่าการทำหน้าที่ในฝ่ายบริหารและทำตามนโยบายอื่นๆสำคัญกว่าเรื่องนี้ คิดว่าน่าจะไม่ถูกต้อง

เป็นการละเลยความสำคัญของการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมาชี้แจงทั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการเปิดอภิปรายทั้งหมด 7 ประเด็นหากปล่อยให้มีการดำเนินการในบางเรื่อง อาจจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างแก้ไขไม่ได้ ดังนั้น การที่รัฐบาลจะมาตอบการอภิปรายในปลายเดือน มี.ค.67 หรือปล่อยให้เราหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการละเลยการทำหน้าที่ที่ดีของรัฐบาลของประชาชน 

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนจะมองว่าเป็นการดึงเวลาเพื่อให้กระแสเบาลงไปหรือไม่นั้น ก็เป็นเหตุผลที่ประชาชนคลางแคลงสงสัยเหมือนกัน การดึงเวลาไว้ไม่ได้มีประโยชน์ต่อรัฐบาลเลย มีแต่ผลเสีย เพราะเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภา และตัวแทนของประชาชน ดังนั้น เมื่อวุฒิสภาทำหน้าที่เหล่านี้รัฐบาลต้องวางเรื่องอื่น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ และมาตอบ แถลงข้อเท็จจริง แถลงปัญหาข้อจำกัด เพื่อหาวิธีการจัดการกับเรื่องที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ทั้งนี้ นายดิเรกฤทธิ์ ระบุว่ากรอบเวลาการอภิปรายตามที่ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรขอไป คือ 2 วัน จันทร์และอังคารในเดือนก.พ.ซึ่งก็มีหลายสัปดาห์ ดังนั้นท่านจะต้องยินยอมพร้อมใจหาวันให้เราบรรจุลงระเบียบวาระ หากละเลยหรือให้ความสำคัญน้อยไปก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ และจะสอบถามไปที่ประธานวุฒิสภาด้วยทำไมถึงยอมให้รัฐบาลต่อรองเราได้เพราะเรากำหนดไปแล้ว หากรัฐบาลไม่มาก็ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ