posttoday

'พิธา'คืนสภาประเดิมอภิปรายจัดการขยะหนุนเพิ่มงบ20เท่า

26 มกราคม 2567

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หนุนตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการจัดการขยะชุมชนของอปท.-เมืองท่องเที่ยว เล่าประสบการณ์ลงพื้นที่บ่อขยะสมุทรปราการ-ภูเก็ต เสนอ 5 แนวทางแก้ไขต้นทางถึงปลายทาง แนะเพิ่มงบอีก 20 เท่า จัดการปัญหาขยะในไทยได้  

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ มีการพิจารณาญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะชุมชน ที่เสนอโดย พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการพิจารณารวมกับญัตติทำนองเดียวกันอีก 4 ฉบับ โดย สส.พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายสนับสนุน รวมถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส. อีกครั้งในรอบ 6 เดือน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพิธาไม่พ้นสมาชิกภาพ สส. จากคดีหุ้นสื่อไอทีวี

นายพิธากล่าวว่า วันนี้ต้องการพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน คือญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพื้นที่เมืองท่องเที่ยว เพราะในช่วงยุติการปฏิบัติหน้าที่ สส. เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ตนได้ลงพื้นที่บ่อขยะแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ และบ่อขยะเทศบาลนคร จ.ภูเก็ต ทั้ง 2 ที่ให้ความรู้ตนมาก เป็นพื้นที่ที่แตกต่างกันพอสมควร สมุทรปราการเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีโรงงานและแรงงานเยอะ ส่วนภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

สำหรับกองขยะที่สมุทรปราการ ความสูงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าตึก 5 ชั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือปริมาณขยะรายวันที่ 2,830 ตันต่อวัน สามารถจัดการขยะได้ถูกต้องตามสุขลักษณะตามมาตรฐานเพียง 300 ตัน ที่เหลือกว่า 2 พันตันถูกจัดการอย่างไม่ถูกต้อง สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องสมุทรปราการ เพราะข้างๆ บ่อขยะคือโรงเรียนที่มีเด็กเล็ก เสี่ยงเกิดอันตราย เสี่ยงอัคคีภัย เหมือนที่เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้กองขยะที่พิษณุโลกเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา แต่เมื่อดูงบประมาณ สมุทรปราการมีจีดีพี 660,685 ล้านบาท งบอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 49 แห่งเพียง 1,654 ล้านบาท คิดเป็น 0.25% 

ขณะที่สถานการณ์ที่ภูเก็ต ถ้าไม่สามารถบริหารจัดการได้ ต้องการให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยอะๆ หลังโควิด ทั้งที่ขยะในปัจจุบันอยู่ในระดับวิกฤติ จากที่ตนลงพื้นที่เห็นว่าสักวันหนึ่งขยะก็จะลงไปในทะเล ต่างชาติจะเรียกภูเก็ตว่า Garbage Paradise หรือสรวงสวรรค์ที่เต็มไปด้วยขยะ โดยปริมาณขยะรายวันสูงสุดอยู่ที่ 871 ตันต่อวัน ความสามารถในการเผาขยะอยู่ที่ 700 ตัน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภูเก็ตอย่างชัดเจน เมื่อดูงบประมาณ จีดีพีของภูเก็ต 202,555 ล้านบาท แต่มีงบให้ อปท. ทั้งจังหวัดเพียง 633 ล้านบาท คิดเป็น 0.31% 

“นี่คือภาพในระดับระดับจุลภาค เห็นได้ในท้องถิ่น ที่ทำให้ผมกลับมาแล้วสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ว่าถ้าเป็นในระดับชาติ ถ้ามีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรจับประเด็นในระดับประเทศอย่างไร” พิธากล่าว

นายพิธากล่าวต่อว่า เรื่องการจัดการขยะมองเป็นจุดๆ ไม่ได้ ต้องมองเป็นห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ถ้าเราลดขยะต้นทางไม่ได้ ก็เลิกคิดเรื่องกลางทางและปลายทาง สำหรับต้นทาง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2562-2565 ขยะในประเทศไทยมีทั้งหมด 63 ล้านตัน แต่หลังจากผ่านวิกฤติโควิด เมื่อเศรษฐกิจต้องถูกกระตุ้น เมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จำนวนขยะก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อดูกลางทาง 88% คือขยะที่ได้รับการจัดการ แปลว่าอีก 12% ไม่ได้รับการจัดการ และเมื่อลงในรายละเอียด ใน 88% นั้นก็ไม่รู้ว่าได้รับการจัดการแบบได้มาตรฐานหรือไม่ ต่อไปปลายทาง ประเทศไทยมีหลุมขยะ 1,941 หลุม ได้มาตรฐานเพียง 72 หลุม จำนวนเตาเผา 105 เตา มีระบบบำบัดเพียง 11 เตา