posttoday

นพ.เจตน์ชี้ระเบียบราชทัณฑ์ขังนักโทษนอกคุกทำลายหลักนิติรัฐ

19 ธันวาคม 2566

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สว.หารือระเบียบขังนอกเรือนจำ เอื้อนักโทษเทวดา ชั้น14 จี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ รับผิดชอบ ชี้กำลังทำลายกระบวนยุติธรรมและละเมิดหลักนิติรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3และมาตรา36

เมื่อวันที่19ธ.ค.2566 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สว.ลุกขึ้นอภิปรายในกาประชุมวุฒิสภา โดยตั้งคำถามถึงระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ว่า จะยิ่งเพิ่มความข้องใจของสังคม ต่อกรณีนักโทษที่สื่อขนานนามว่าเป็นนักโทษเทวดา ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจซึ่งจะนอนโรงพยาบาลครบ 120 วัน วันที่ 22 ธ.ค. 66 ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ 2560 หลังจากได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 
 

"วันนี้สังคมตั้งข้อสงสัยว่าโทษจำคุก 1 ปีจะติดคุกจริงบ้างหรือไม่ เพราะจะเข้าเกณฑ์ผู้ต้องขังสูงวัย มีโรคประจำตัว แม้จะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการหลายชุด หลังรับโทษ 1 ใน 3 การอ้างว่าป่วยหนักขอพักรักษาตัวนอกเรือนจำ ก็ไม่มีความชัดเจนว่าป่วยหนักจริงหรือไม่ โรคประจำตัว 4 โรคที่เปิดเผยก็เป็นโรคทั่วไป ที่นักโทษในกลุ่มอายุเดียวกันหรือประชาชนทั่วไป ก็เป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว การใช้ข้ออ้างว่าป่วยหนัก สังคมจึงไม่ทราบว่าป่วยอะไร หนักอย่างไร" นพ.เจตน์ กล่าว
 

นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า เมื่อถามกรมราชทัณฑ์ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ไม่ได้รับคำตอบ มีแต่อ้างสิทธิผู้ป่วยอย่างเดียวว่าไม่ให้เปิดเผย แต่ถึงอย่างไรผู้เกี่ยวข้องอย่างอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ต้องรับผิดชอบ ท่านกำลังทำลายกระบวนการยุติธรรมและทำให้เกิดการละเมิดหลักนิติธรรมในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นการละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา26 ด้วย

"เป็นกรณีนักโทษคนหนึ่งเป็นอภิสิทธิ์ชน ใช้สิทธิ์ เหนือนักโทษคนอื่นที่ติดคุก ไม่ได้ติดแม้แต่วันเดียว" นพ.เจตน์ กล่าว 

นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่าจึงมีคำถามถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า เรื่องนี้ดำเนินการเพื่อช่วยคนคนเดียวหรือไม่ ในเมื่อเราไม่เคยมีระเบียบสังคมตั้งข้อกังขาว่าผลสุดท้าย บุคคลดังกล่าว จะไม่ได้รับการติดคุกแม้แต่วันเดียว ด้วยสาเหตุเพราะป่วยหนักแต่ไม่มีคำชี้แจงว่าป่วยเป็นอะไรจนต้องนอนโรงพยาบาลนอกเรือนจำมาเหยียบ 120 วันแล้ว สังคมตั้งข้อสงสัยความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรม และการขัดต่อหลักนิติธรรมกฏหมายจะต้องมีผลบังคับใช้ต่อประชาชนอย่างเสมอภาคทั่วถึง