posttoday

ชลน่านชู ‘5 นโยบายมิติสุขภาพ’ สร้างความมั่งคั่งและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

09 พฤศจิกายน 2566

นายแพทย์ชลน่าน ชูมิติสุขภาพสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งแก่ประเทศได้ ย้ำไทยพร้อมเป็น Medical Hub ทางสุขภาพ เร่งผลักดันการพัฒนาโครงข่ายทางสาธารณสุขให้แก่ประเทศ นำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ 4 จังหวัด วันที่ 1 มกราคมนี้

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดงาน Health & Wealth Expo 2023 และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” (Road Map to Thailand Medical Hub) จัดโดย บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ณ ฮอลล์ 5-6 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของมิติสุขภาพที่สามารถสร้างความมั่งคั่งและด้านเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขใน 5 หัวข้อ ดังนี้

 

1. นโยบาย Medical Hub ของประเทศไทย

ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมีศักยภาพ และได้รับการยอมรับจากในระดับนานาชาติ โดยมี Medical Index อันดับที่ 17 ของโลก มี Medical Tourism Industry อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก มีเมืองที่ติดอันดับจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น กรุงเทพ ภูเก็ต และพัทยา มีจุดแข็งหลายประการ เช่น มีสถานพยาบาลที่มีชื่อเสียง มีบุคลากรทางการแพทย์ทางการแพทย์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ อัตราค่ารักษาพยาบาลอยู่ในระดับที่เหมาะสม และที่สำคัญคนไทยมี Service mind สูง ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็น Medical Hub กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพ นานาชาติ พ.ศ. 2560 - 2569 ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ผลผลิตหลัก ได้แก่

     1) ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub)

     2) ศูนย์กลางบริการรักษาพยาบาล (Medical Service Hub)

     3) ศูนย์กลางบริการวิชาการ (Academic Hub)

     4) ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อปี 2559     

 

2. นโยบายด้านเศรษฐกิจสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขในปี 2567

กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย MOPH Plus ยกระดับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ นำร่อง 4 จังหวัด ทุกภาคทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคมนี้ ได้แก่ จังหวัด แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส .. นอกจากนี้ในเขตกรุงเทพมหานคร ยังเตรียมสร้างโรงพยาบาลในระดับทุติยภาพ จำนวน 150 เตียงทุกเขต นำร่องที่เขตดอนเมือง เพื่อสร้างการเข้าถึงการรักษาทางสาธารสุขที่เป็นธรรมกับประชาชนในทุกระดับ เนื่องจากแต่เดิมกรุงเทพมหานคร มีโรงพยาบาลในระดับปฐมภูมิและตติยภูมิเท่านั้น

นอกจากนี้ยังคำนึงถึงการวางโครงข่ายสุขภาพ อย่างเช่นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียว ไปขอรับบริการในสถานพยาบาลที่เข้าร่วมทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีข้อมูลของผู้ป่วยเชื่อมโยงกัน จึงทำให้ผู้เข้ารับบริการมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดนโยบายมุ่งเน้น 13 เรื่องเพื่อแก้ไขปัญหา วางรากฐาน และสร้างเศรษฐกิจ โดยนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเป็น Medical Hub คือ นโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ โดยจะสร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) ให้เป็น “หนึ่งเขตสุขภาพหนึ่งพื้นที่อายุยืน” ทุกจังหวัด พัฒนา Wellness center 500 แห่ง เป็นต้น รวมถึงมีนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวโดยกำหนด Safety Tourist ทุกเขตสุขภาพ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มรายได้ รายได้จากค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยชาวต่างชาติในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับตัวลดลงในช่วงการแพร่ระบาด ของโรคโควิด นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายอำนวยความสะดวกด้านวีซ่า ทั้งในส่วน Medical Tourism และ Wellness Tourism

 

3. สถานการณ์สถานพยาบาล และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนรวม 421 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยมากกว่า 90 เตียง มีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ รวม 20,163 แห่ง ประมาณร้อยละ 50 เป็นสถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพ มีการขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการกิจการ สปา นวด และดูแลผู้สูงอายุ มากกว่า 2 แสนราย

 

4. รางวัลคุณภาพสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับชาติ (Thailand Wellness Awards: TiWA)

กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเกณฑ์รางวัลคุณภาพสถานประกอบการ ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับชาติ (Thailand Wellness Awards:TiWA) เพื่อยกระดับสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้มีศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล และส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย โดยมี 7 ประเภทรางวัล ตามประเภทของสถานประกอบการ เช่น สถานพยาบาลเวลเนส สถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพ ร้านอาหารเวลเนส และโฮมสเตย์เวลเนส เป็นต้น

 

5. การจัดงาน Expo 2025 Osaka Kansai

ส่วนสุดท้ายที่ตนขอนำมาเล่าให้ทุกท่านได้รับทราบ คือ การจัดงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคณะรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก โดยกำหนด Theme งานภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสุขภาพและการแพทย์ เพื่อเป้าหมายชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดี คาดว่าจะมีผู้เยี่ยมชมงานกว่า 28 ล้านคน งานนี้จึงเป็นโอกาสอันดีของไทย ที่จะได้ประชาสัมพันธ์และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub ต่อไป