posttoday

แถลงนโยบายรัฐบาล : นายกฯไม่ล้มแจกเงินดิจิทัลรัศมี4กม.

11 กันยายน 2566

นายกฯเศรษฐา ลุกขึ้นชี้แจงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลไม่ล้มเงื่อนไขให้ใช้รัศมี4กิโลเมตร ตามบัตรประชาชน ยกเว้นบางจังหวัดและบางเขตอาจต้องพิจารณาขยายเพิ่ม หวังประชาชนกลับบ้านไปใช้กับครอบครัว

เมื่อวันที่ 11กันยาน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นชี้แจงในช่วงการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่า รัฐบาลขอชี้แจงนโยบายเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญว่า จะไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และ 2 ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 

ส่วนนโยบายพักหนี้เกษตรกร อยากให้ทราบว่า 9 ปีที่ผ่านมา มีการพักหนี้ไปแล้วถึง 13 ครั้ง โดยการที่สมาชิกหลายคนกังวลว่าไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลตระหนักดีในเรื่องนี้ และได้มีมาตรการหลายอย่างเพื่อเพิ่มรายได้ เช่น การทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 4 ปี ด้วยการใช้การตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ ควบคู่ไปกับการพักหนี้ เพื่อทำให้เกษตรกรหายใจได้ ลืมตาอ้าปากได้ สามารถฟื้นฟูตัวเอง ทำให้เขามีกำลังใจในการกลับมาแก้ไขปัญหา ประกอบอาชีพอย่างมีเกียรติ อย่างมีศักดิ์ศรี

“การพักหนี้หนนี้จะมีประโยชน์มากกว่าการพักหนี้ที่ผ่านมาในอดีต 9 ปีที่ผ่านมา”

ส่วนนโยบายเงินดิจิทัล 10000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลตระหนักดีว่า ประชาชนในพื้นที่ชนบท อาจมีร้านค้าที่ไม่เพียงพอ จากนี้จะขอไปดูรายละเอียดและดำเนินการให้เหมาะสมอีกครั้งตามคำแนะนำของสมาชิก

ขณะที่ระยะเวลาในการใช้เงินดิจิทัล 10000 บาท ภายใน 6 เดือน  นายกฯ ยอมรับว่า มีความจำเป็น เพราะรัฐบาลต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ดังนั้นระยะเวลาในการใช้เงินจำนวนนี้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก

“มีบางคนบอกว่าอยากให้ยกเลิกการใช้เงินในรัศมี 4 กิโลเมตร รัฐบาลอยากบอกว่า เศรษฐกิจภูมิภาคต้องการการกระตุ้น ถ้าเกิดคนที่มีถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดใดก็ควรกลับไปใช้ที่นั่น มีเวลา 6 เดือน กลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องทำให้สถาบันครอบครัวแข็งแกร่งขึ้น”

อย่างไรก็ตามรัฐบาลยืนยันว่า ในเรื่องของเงื่อนไข 4 กิโลเมตรตามบัตรประชาชน รัฐบาลขอคงไว้ ยกเว้นแต่บางจังหวัด หรือบางเขต อาจต้องพิจารณาขยาย แต่ก็ต้องขอพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง 

นอกจากนี้รัฐบาลจะหาทางผลักดันให้มีการท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลมีแผนทำอะไรหลายอย่าง เช่น เรื่องวีซ่า เป็นต้น โดยการท่องเที่ยวจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อนำเงินเข้ามาในประเทศ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเติบโตอีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายสร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาทต่อปี

ขณะที่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ นายกฯ ระบุว่า มีการสอบถามมามากในเรื่องนี้ รัฐบาลเห็นว่า สมควรได้รับการปรับให้เร็วที่สุด โดยตั้งเป้าหมายว่า จะทำให้เศรษฐกิจโตเฉลี่ยปีละ 5% ตลอด 4 ปี ซึ่งจะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปถึง 600 บาทต่อวัน และปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน 

ด้านพลังงานเป็นนโยบายที่ประชาชนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยรัฐบาลตระหนักดีว่าการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ และมั่นใจว่า จะทำให้ราคาค่าพลังงานต่าง ๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้ ซึ่งต่อไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะมาตอบอีกครั้ง 

นอกจากนี้ในเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน รัฐบาลยืนยันว่า ยังมีอยู่ เช่นเดียวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดินต่าง ๆ ที่จะต้องจัดสรรให้ประชาชนใช้ประโยชน์ทำมาหากินได้ จะต้องดูที่ดินของ ส.ป.ก. และที่ดินของหน่วยงานอื่น ๆ ผ่านรูปแบบที่เหมาะสม ขณะที่เรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นั้น รัฐบาลยอมรับว่าจะต้องดูแลอย่างเหมาะสมทุกมิติ

ส่วนการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเวลาอีก 5 เดือนจากนี้จะเข้าสู่ช่วงวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือ รัฐบาลจะเริ่มทำโดยเร็วให้เกิดผลได้ในต้นปี โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก 

นายกฯ ระบุว่า ในด้านการแก้ปัญหาการทุจริต รัฐบาลให้ความสำคัญกับความโปร่งใส และจะนำระบบดิจิทัลมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อลดการทุจริต ประพฤติมิชอบ โดยรายละเอียดทั้งหมดจะมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อไป