posttoday

ย้อนรอย นอมินี นิติกรรมอำพราง จาก ทักษิณ ศักดิ์สยาม สู่ เศรษฐา แสนสิริ?

17 สิงหาคม 2566

'ทักษิณ ชินวัตร' 'ศักดิ์สยาม ชิดชอบ' มีคดีซุกหุ้น นิติกรรมอำพราง ในวันนี้ 'เศรษฐา ทวีสิน' โดนตรวจสอบอย่างหนักสมัยเป็นนักธุรกิจ มีข้อกล่าวหา ซื้อขายที่ดิน เลี่ยงภาษี ใช้นอมินี ทำนิติกรรมอำพรางหรือไม่ งานนี้เดิมพัน คดีความ ชะตาชีวิต และอนาคตการเมือง เลยทีเดียว

ยังเป็นประเด็นการเมืองร้อนแรง งานนี้ เดิมพันทั้ง ชะตากรรม อนาคตทางการเมือง คดีความทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หลังจาก ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’ อดีตนักการเมือง เปิดปฏิบัติการณ์ แฉเพื่อชาติ พุ่งเป้า 'เศรษฐา ทวีสิน' แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย โดยหยิบยกเรื่องราวสมัยยังเป็น ผู้บริหาร บริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) เปิดโปง การซื้อขายที่ดิน อันมีพฤติการณ์ น่าสงสัย ตั้งข้อกล่าวหา หลบ-เลี่ยงภาษี ใช้ ตัวแทน หรือ บริษัทนอมินี กระทำการบางอย่างหรือไม่

เรื่องราวของผู้บริหารบริษัทเอกชน ยามเข้าสู่ ถนนการเมือง หรือแม้แต่ นักการเมืองก็ดี ประเด็น ซุกหุ้น หลบ-เลี่ยงภาษี มีให้เห็นกันมาอย่างต่อเนื่อง

 

ทักษิณ ชินวัตร 

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2543 'โอภาส อรุณินท์' ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในขณะนั้นเ มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้ว่า “ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญปี 2540"  

กระบวนการไต่สวนดำเนินต่อเนื่อง ป.ป.ช. มีตัวแทน 'กล้านรงค์ จันทิก' เลขาธิการป.ป.ช.ขณะนั้น ซักไซร้ตรวจสอบอย่างหนัก ฝ่ายของ ทักษิณ ตั้งทีมทนายหลายชุดรับมือ กล้านรงค์ เชื่อได้ว่า ทักษิณ มีการโอนหุ้นจากหลายบริษัทให้กับ คนขับรถ แม่บ้าน และคนเลี้ยงเด็ก เพื่อเป็นการ ปกปิดอำพราง 

สถานนะของ ทักษิณ ช่วงเวลานั้น แขวนบนเส้นดาย สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งว่าจะได้ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือไม่ มีทั้งนักวิชาการ นักการเมือง บุคคลมีชื่อเสียงในสังคมมีทั้ง สนับสนุน และคัดค้าน 


วันที่ 3 ส.ค. 2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติคำวินิจฉัยกลาง  8 ต่อ 7 เสียง ทักษิณ พ้นผิด คดีซุกหุ้น อย่างหวุดหวิด ไม่ได้กระทำการปกปิด หรือ ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 ทำให้ ทักษิณ ได้ไปต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แม้จะรอดจาก คดีซุกหุ้น อันอื้อฉาว แต่ตอนที่ได้มาเป็น นายกรัฐมนตรีสมัยที่2 นับตั้งแต่ปี2548 เป็นต้นมา เจอมรสุม ถาโถมเข้ามาอีกครั้ง การขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก ของสิงคโปร์ แต่ก่อนหน้ามีการขายหุ้น บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เม้นท์ จำกัด ออกไปให้ นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา บุตรชายและบุตรสาว หุ้นละ 1 บาท ก่อนจะขายหุ้นชินคอร์ป ออกไปในราคาหุ้นละ 179 บาท

ทักษิณ เริ่มโอนหุ้นชินคอร์ป  32.9 ล้านหุ้น ให้แก่ บริษัท แอมเพิชริชฯ ตั้งแต่ปี 2542 -2549 โดยระบุ ขายในตลาดหลักทรัพย์ ในราคา 10 บาท แต่จากข้อเท็จจริงพบว่า ซื้อขายนอกตลาด

เมื่อจะขายหุ้นให้เทมาเส็ก ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา จึงขายหุ้นชินคอร์ป 103 ล้านหุ้น ให้แก่ นายพานทองแท้ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2543 กว่า 100 ล้านหุ้น รวมถึงกรณี บริษัทแอมเพิลริชฯ ขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาทต่อหุ้น ให้แก่ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2549   

จากการตรวจสอบ ไต่สวนยาวนาน เป็นเหตุให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้ยึดทรัพย์ ทักษิณ และถูกกรมสรรพากร อายัดทรัพย์สินของ นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา ชินวัตร อีก 12,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดีต่อมาทั้งคู่ได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปต่อสู่ในศาลภาษีอากรกลาง จนชนะคดี ศาลฎีกาตัดสินว่า นายพานทองแท้ และ นางสาวพินทองทา ไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง ทำให้ต้องถอนอายัดทรัพย์สินคืนให้กับทั้งสองคน แต่ยึดทรัพย์ ทักษิณ ในส่วนที่เหลือแทน

 

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ 


'ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ตั้งข้อกล่าวหา ปกปิดทรัพย์สินของตัวเองในส่วนที่เป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ใช้ลูกจ้างเป็น นอมินี และจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายเพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ 

ปกรณ์วุฒิ หยิบยกข้อมูลอภิปราย หจก.บุรีเจริญ ที่ก่อตั้งในปี 2539 มีตระกูลชิดชอบ ถือหุ้น 80% ที่ตั้งสำนักงานคือ บ้านของ นายศักดิ์สยาม กระทั่งเมื่อมีตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น หจก.ทั้งหมด และย้ายสำนักงานไปที่อื่น พอยุค คสช. ศักดิ์สยาม กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของ บุรีเจริญ ในปี 2558 เพิ่มทุนเป็น 120 ล้านบาท และย้ายที่ตั้งสำนักงานมาที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง

เมื่อปี 2561 มีการเลือกตั้ง ศักดิ์สยาม ได้โอนหุ้นทั้งหมดไปให้ นอมินี และย้ายที่ตั้งสำนักงานบุรีเจริญ ออกจากบ้านของตัวเอง ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน 

นายศักดิ์สยาม ชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐาน มีการจ่ายเงินโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จริงในราคา 120 ล้านบาท 

แต่นายปกรณ์วุฒิ ตั้งข้อสังเกตุว่า หจก.ที่มีสินทรัพย์มีรายได้มาก การซื้อขายแค่ 120 ล้านบาท ในราคาทุน ดูไม่สมเหตุสมผล นอกจากนี้เมื่อขายไปแล้ว หจก.แห่งนี้กลับมาได้งานของกระทรวงคมนาคม ในขณะที่ นายศักดิ์สยาม ดำรงตำแหน่งอยู่ มูลค่าเป็น 1,000 ล้านบาท นายศักดิ์สยาม บอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่จะขายกิจการเท่าไร ก็เป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ แต่จะสมเหตุสมผลหรือไม่ ประชาชนคงจะตัดสินได้เองว่า การกระทำธุรกรรมครั้งนี้เป็น นิติกรรมอำพราง หรือไม่

7ก.พ.66 
สส.ฝ่ายค้าน 54คน เข้าชื่อ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นรัฐมนตรี และ ส.ส.นายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 กรณีห้ามรัฐมนตรีถือหุ้น ในห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัทจำกัด โดยนำหลักฐานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย 14 เรื่องถึงการถือหุ้นของนายศักดิ์สยาม

3 มี.ค. 66 
ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งนายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย 

คาดว่าภายในปี2566 ศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา 

 

เศรษฐา ทวีสิน


ส.ค.66
แม้จะยังไม่ได้ ก้าวเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง กำลังเผชิญมรสุมอันหนักหน่วง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์  ออกมาเปิดประเด็น หลายต่อหลายตอน

EP1.  แฉเพื่อชาติ 12 คน 12 วัน โจมตี เศรษฐา ขณะยังเป็น ผู้บริหารแสนสิริ ได้ไป ซื้อขายที่ดินย่านสารสิน ทำสัญญาการซื้อขาย 12คน 12 วัน ตั้งคำถาม จงใจหลบเลี่ยงภาษี 521 ล้านบาท ตามที่ รัฐ ควรได้รับหรือไม่

EP2. "ปั่น บวม ตัดตอน" ชูวิทย์ ยังคงตั้งข้อกล่าวหา เศรษฐา โยงใยไปถึง คนใกล้ชิด มิสเตอร์ T  ขบวนการ ตั้งบริษัทต่างๆ มีการใช้ ตัวแทน นอมินี อันสลับซับซ้อน เพื่อทำการซื้อขายที่ดินย่านสุขุมวิท และการนำเงินจากผู้ถือหุ้น มาซื้อ ในราคาที่สูงเกินไปหรือไม่ 

และกำลังจะเปิด EP3 ก่อนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 22 ส.ค. เรื่องราวยังคงพุ่งเป้า เศรษฐา แสนสิริ เกี่ยวกับ นิติกรรมอันพราง อันสลับซับซ้อน การซื้อขายที่ดินย่านสุขุมวิท12  

แม้จะโดน ชูวิทย์ ออกมาแฉอย่างหนัก สังคมจับตามอง ร่วมตรวจสอบ แต่ทั้ง บริษัทแสนสิริ กับ เศรษฐา ออกมายืนยัน ในความบริสุทธิ์ และขอใช้ช่องทางกฎหมาย ต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรม เพื่อปกป้องตนเอง 

เรื่องราว การซุกหุ้น การทำนิติกรรมอำพราง การใช้บริษัทหรือบุคคลตัวแทน เพื่อทำธุรกรรม ในการประกอบธุรกิจ อันน่าสงสัย ไม่ชอบมาพากล ของบรรดานักการเมือง มีตัวอย่างให้เห็นมาตั้งแต่ ยุคทักษิณ ชินวัตร, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ล่าสุดมาถึง เศรษฐา ทวีสิน   

การประชุมร่วมรัฐสภาฯ เพื่อโหวต นายกรัฐมนตรี วันที่ 22ส.ค. พรรคเพื่อไทย ยังยืนยันจะส่งชื่อ เศรษฐา ท่ามกลางข้อครหา จากสังคม แวดวงธุรกิจ แม้กระทั่ง สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ที่ต้องร่วมโหวต พิจารณาเลือกนายกฯ กำลัง ตั้งประเด็นข้อสงสัย เรียกร้องให้ เศรษฐา มาแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมกับตอบคำถามให้กระจ่างชัด

ไม่ว่า เศรษฐา ทวีสิน จะสมดั่งใจ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือ กลับไปเป็น นักธุรกิจตามเดิม แต่กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการทางกฎหมาย นับหนึ่งเดินหน้าไปแล้ว คงจะต้อง ต่อสู้แก้ข้อกล่าวหา เพื่อพิสูจน์ ความบริสุทธิ์ของตัวเอง..อีกยาว