posttoday

สว.เริ่มขยับ! ต้าน"เศรษฐา"นั่งนายกฯ ชี้โหวต4ส.ค.นี้ส่อป่วน

01 สิงหาคม 2566

สว.เริ่มเคลื่อนไหวก่อนโหวตนายกฯ 4 ส.ค. "จเด็จ" ตั้งคำถามถึงความเหมาะสม "เศรษฐา" หลังมีข่าวเลี่ยงภาษี คาดวันโหวตฯ วุ่นวายแน่ ส่วน "กิตติศักดิ์’ ขาประจำ บอกไม่สบายใจหาก "เพื่อไทย" ไม่ประกาศให้ชัดว่าไม่มีก้าวไกลร่วมรัฐบาล หวั่นถูกตลบหลัง

จากกระแสข่าวโหวตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 ส.ค.2566 และมีชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน 1 ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เป็นตัวเต็ง วันนี้ (1 ส.ค.66) นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ขณะนี้หลายฝ่ายสร้างสตอรี่ แทงข้างหลัง ถีบพรรคนั้นพรรคนี้ แต่ สว.มีหน้าที่ต้องโหวตเลือกนายกฯ โดยยึดหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา160 โดยผู้ถูกเสนอชื่อต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

สำหรับนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ที่จะถูกเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเป็นผู้เหมาะสมเป็นนายกฯในวันที่ 4 ส.ค.หรือไม่นั้น ตนคิดว่ายังมีข้อน่าสงสัยตามที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาระบุเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีจากการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หากถ้าเป็นเช่นนี้ สว.จะรับรองได้อย่างไร ไม่ใช่ใครก็ได้ที่ได้เสียงข้างมากแล้ว สว.ต้องเลือก แต่ สว.ต้องเลือกนายกฯที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

"การโหวตเลือกนายกฯวันดังกล่าว ประธานรัฐสภาต้องให้นายเศรษฐาแสดงวิสัยทัศน์เพื่อให้สมาชิกรัฐสภามีโอกาสซักถาม จะให้ สว.เลือก โดยไม่แสดงวิสัยทัศน์ไม่ได้ ถ้านายเศรษฐาไม่แสดงวิสัยทัศน์ สว.จะเป็นฝ่ายถามเองถึงแนวคิดการบริหารประเทศ ทั้งเรื่องการแก้ไขมาตรา112 เรื่องความซื่อสัตย์และสุจริต" 

"เหล่านี้ เพื่อให้มีความชัดเจนประเด็นเหล่านี้ก่อนตัดสินใจลงมติ เพราะสว.มีหน้าที่ต้องเลือกคนดี ที่ไม่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญมาตรา160"       

นายจเด็จเชื่อว่า การโหวตนายกฯวันที่ 4 ส.ค.ไม่น่าจะเป็นไปอย่างเรียบร้อย จะมีปัญหาถกเถียงพิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา160 หนักเข้าอาจต้องส่งไม้ต่อไปที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคอันดับ 3  ในที่สุดอาจนำไปสู่การโหวตนายกฯตามมาตรา272 วรรคสอง หรือนายกฯคนนอก เพราะขณะนี้พรรคก้าวไกลยังเกาะพรรคเพื่อไทยอยู่ แม้จะยอมไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็จะโหวตให้พรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ ถ้าทำได้ก็ทำไปเลย แหกตา สว.ไม่เป็นไร แต่อย่าแหกตาประชาชน

ด้าน นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่าข่าวที่จะมีการดึงพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา มาร่วมสนับสนุนพรรคเพื่อไทย โดยมีพรรคก้าวไกลร่วมโหวตให้ด้วย แต่พรรคก้าวไกลจะไม่ขอเป็นรัฐบาลนั้น มีข้อสงสัยว่าจะแน่ใจได้อย่างไร จะไม่มีการตั้งพรรคก้าวไกลมาเป็นรัฐบาลภายหลังโหวตนายกฯ ไปแล้ว

“ดูแล้วไม่ค่อยสบายใจ น่าสงสัย เพราะคลุมเครือไม่ชัดเจน สูตรนี้แม้เป็นไปได้ แต่ไม่ควรทำ ถ้าหลวมตัวโหวตหนุนไปแล้ว พรรคเพื่อไทยไปจับมือพรรคก้าวไกลภายหลัง จะยิ่งเกิดความวุ่นวายระดับแผ่นดินไหวรุนแรง อยากให้พรรคเพื่อไทยประกาศให้ชัดเจนก่อนวันโหวตนายกฯ ว่า จะมีพรรคใดร่วมจัดตั้งรัฐบาลบ้าง ถ้ามีความชัดเจนว่า ไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมด้วย สว. ก็พร้อมโหวตให้พรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ” นายกิตติศักดิ์กล่าว

ด้าน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ย้ำจุดยืนหลักการคือไม่โหวต เพราะไม่อยากใช้อำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตนก็จะไม่โหวต

ครั้งที่แล้วเป็นพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งมีปัญหาในการหาเสียงสนับสนุน และได้ติดต่อมาขอให้สนับสนุน จึงตอบไปว่าจะยอมโหวตให้หากก้าวไกล (ก.ก.) ยอมถอยประเด็นเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเรื่องนี้ก็ผ่านไปแล้ว

หากเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกเสนอชื่อก็ยังมีคำถามที่ว่ายังมีพรรคก้าวไกลร่วมด้วยหรือไม่ และประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ว่าอย่างไร ซึ่งตนเองก็เชื่อว่าไม่น่าจะได้คำตอบจากใคร

“คุณบอกให้ปิดสวิตช์ เราก็เห็นด้วยในหลักการ แล้วพอจะมาไม่ให้คงหลักการมันก็ตลกดีประมาณนั้น ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นใคร แต่เราอยากเป็นคนยึดในหลักการ” พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว