posttoday

โต้ 16สส.ประชาธิปัตย์ เปิดดีล เพื่อไทย ร่วมรัฐบาล แจงเหตุ เลื่อนประชุมใหญ่

21 กรกฎาคม 2566

พรรคประชาธิปัตย์ เลื่อน ประชุมใหญ่ เลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ราเมศ ชี้แจง มีการขอองค์ประชุมเพิ่ม โต้ข่าว 16 สส.ประชาธิปัตย์ เปิดดีลหวังร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ยังไม่ตัดสินใจ โหวตให้ เศรษฐา หรือไม่ โยน ที่ประชุมพรรคร่วมตัดสินใจ ย้ำชัด ประชาธิปัตย์ ไม่แก้112

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเหตุผลการเลื่อนการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจากกำหนดการเดิมวันที่ 23 ก.ค.นี้ ออกไปก่อน เนื่องจาก มีการขอเพิ่มองค์ประชุม 5 ภาค ภาคละ 25 คน นายวิรัช ร่มเย็น ในฐานะนายทะเบียนพรรค เป็นผู้เสนอขอเพิ่ม วันเดียวกันจะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อออกระเบียบวิธีการคัดเลือกสมาชิก มาเป็นองค์ประชุม ก่อนจะแจ้งให้สมาชิกพรรครับทราบไม่น้อยกว่า 5 วัน ก่อนประชุมใหญ่วิสามัญ การเพิ่มองค์ประชุม เพราะอยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ยืนยันว่าไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะการเพิ่มองค์ประชุม รองหัวหน้าภาค จะไปคัดเลือก 

นายราเมศยังกล่าวถึงเพื่อไทย จะเสนอชื่อ นายเศษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลว่า วงประชุมสส.พรรคมีการพูดกันเรื่องนี้ แต่ในส่วนของ กรรมการบริหารพรรคยังไม่ได้คุยกัน ส่วนที่มีรายงานข่าวระบุ 16 สส. ขอไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย และมีการกล่าวอ้างอิงถึงขั้วของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคนั้น ขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะพรรค ยังไม่ได้มีการพูดคุยว่า จะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย ไม่มีใครตัดสินใจได้คนเดียว จะต้องประชุมร่วมกัน ระหว่างกรรมการบริหารพรรคและสส.ทั้ง 25 คน ทั้งนี้ ไม่อยากให้มีการรายงานข่าวลักษณะนี้ พรรคเสียหาย ประชาชนสับสน ไม่มีใครใช้อำนาจพละการ ไปตกลงปลงใจว่า ร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอข่าวกล่าวอ้างว่า เพจของพรรคโพสต์ว่า 16 สส. เขต ภาคใต้ปันใจให้พรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า เพจของพรรคไม่เคยมีการโพสต์ลักษณะนี้ สส.พรรคทุกคน อยู่ภายใต้ข้อบังคับ และกฎเกณฑ์กติกาของพรรค ส่วนที่คาดว่าจะได้กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ก่อนจัดตั้งรัฐบาล หรือไม่นั้น เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องมีการเลือกให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด แต่ทุกอย่างต้อใเป็นไปอย่างรอบคอบ 

นายราเมศกล่าวว่า กรณีที่นายเศรษฐาออกมาระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112  จะเป็นปัจจัย ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจยกมือให้หรือไม่ เรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนเรื่อง มาตรา112 มาโดยตลอด จะต้องมีการหารือกันในที่ประชุมของพรรคเพราะต้องมีรายละเอียดอีกเยอะ การจะยกให้มือให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องดูนโยบายว่าตรงกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

การที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ออกมาระบุ หากพรรคก้าวไกลถอยเรื่องการแก้ไข ม. 112 พร้อมยกมือสนับสนุนให้นั้น ไม่ขอก้าวล่วงว่า พรรคก้าวไกล ควรยกเลิกหรือถอยเรื่องการแก้ไข ม. 112 หรือไม่ แต่ส่วนตัว มองว่าพรรคก้าวไกลยังไม่มีท่าทีที่จะถอย หากมีประเด็นนี้ ก็จะต้องเข้าหารือในที่ประชุมอีกครั้ง 

นายราเมศกล่าวอีกว่าที่ผ่านมามีการกดดันให้พรรคประชาธิปัตย์โหวต เลือกนายกให้พรรคก้าวไกล ตามเสียงข้างมากของประชาชน 14 ล้านคน ขอชี้แจงว่าจะคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนที่เลือกประชาธิปัตย์มาก็ชื่นชอบในอุดมการและนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นจะเลือกใครเป็นนายกฯ หรือ ร่วมรัฐบาลกับใคร ก็ต้องเคารพเสียงของประชาชนที่เลือกมาเช่นเดียวกัน