posttoday

ชลน่านรับเจรจาก้าวไกล ใครเหมาะนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯไร้ข้อสรุป

31 พฤษภาคม 2566

หมอชลน่าน เผยผลเจรจาก้าวไกล เก้าอี้ประธานสภาฯยังไร้ข้อสรุป เพื่อไทยยังไม่เคาะใครเหมาะสมนั่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติหลังมีชื่อ “ชลน่าน-จาตุรนต์-สุชาติ” ย้ำไม่กว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ พิธา ยังมัดแน่นทำงานร่วมกันต่อไป

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวถึงไทม์ไลน์คุยสรุปตำแหน่งประธานสภาฯ กับพรรคก้าวไกลว่า คณะเจรจาเริ่มพูดคุยตั้งแต่เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.) แล้ว โดยข้อสรุปที่นำมาแถลงเมื่อวานก็เกิดจากการทำงานร่วมกันของคณะเจรจาระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งลักษณะงานที่จะขับเคลื่อนเกี่ยวข้องกับสภาค่อนข้างเยอะ ดังนั้น การจะไปปรับโครงสร้าง หรือการแก้ไขปัญหาจะต้องไปดูที่ตัวกฎหมาย รวมถึงเราเห็นว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่สังคมคาดหวัง ว่าจะต้องไม่เป็นตำแหน่งมี่ขัดแย้งระหว่างกัน ทางคณะเจรจาจึงพิจารณาทางเดียวกัน ว่าจะไม่ใช่โควต้าของพรรคใดพรรคหนึ่ง โดยสองพรรคต้องมานั่งคุยกันเสมือนเป็นพรรคเดียวกัน และอาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ เนื่องจากคณะทำงานได้แยกกันคนละส่วน 

ขณะที่กระแสข่าวตำแหน่งประธานสภาในส่วนของพรรคเพื่อไทย ปรากฏชื่อของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายแพทย์ชลน่าน  ย นายจาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย  นายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรองประธานสภาคนที่หนึ่ง นายสุชาติ ตันเจริญนั้น นายแพทย์ชลน่าน ยืนยันว่า ภายในพรรคยังไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องตำแหน่ง และตัวบุคคล รวมถึงตำแหน่งของแต่ละกระทรวง ซึ่งจะใช้วาระงานเป็นตัวกำหนด และแบ่งงานกันทำ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป หากได้ข้อสรุปแล้วจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคตามระเบียบข้อบังคับพรรคตามขั้นตอนต่อไป

ผู้สื่อข่าวยังถามถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายที่ได้ให้ความเห็นว่าถ้าหากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ในประเด็นถือหุ้นสื่อไอทีวี และถูกร้องเรื่องการรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรคก้าวไกล อาจจะต้องเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศ นายแพทย์ชลน่าน ตอบว่า ประเด็นนี้มีการพูดคุยกันอยู่ เพราะคุณสมบัติของหัวหน้าพรรค ที่ไปลงนามรับรองผู้สมัครของพรรค มีคุณสมบัติครบหรือไม่อย่างไร ต้องไปดูประเด็นนั้น ยกตัวอย่างกรณีของตนเอง ผู้สมัคร พรรคเพื่อไทยจังหวัดนนทบุรี ถูกชี้ว่า คุณสมบัติไม่ครบ เพราะถูกจำกัดสิทธิ จากการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หลายฝ่ายมองว่า หัวหน้าพรรคต้องรับผิดชอบร่วมด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว การถูกจำกัดสิทธิ์ ไม่ใช่ลักษณะต้องห้าม เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นว่าหัวหน้าพรรคที่เซ็นไปลงสมัครรับเลือกตั้งต้องรับผิดชอบ และพรรคจะรับผิดชอบเฉพาะกรณีที่ไปลงนาม ตัวผู้สมัครที่รู้อยู่ว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติ และ มีคุณสมบัติต้องห้าม และเมื่อเขามีคุณสมบัติต้องห้าม และยังลงนามให้เขาไปลงรับสมัคร ต้องรับผิดชอบทางอาญา

ถามต่อว่าหากเกิดดอะไรขึ้นกับนายพิธา ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง ยังคงให้โอกาสก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายแพทย์ชลน่าน กล่าวยืนยันว่าเรายังมัดกันแน่น และยังคงทำงานร่วมกันเหมือนเดิม ไม่ว่าจะมีอะไรขึ้น ก็ยังคงทำงานกันต่อไป ส่วนรายละเอียด ก็ดูเป็นเรื่องๆไป