posttoday

เวทีเสวนากดดันส.ว.โหวตพิธานายกฯ หวิดวุ่น กลุ่มทะลุวังปีนรั้วรัฐสภา

23 พฤษภาคม 2566

กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เจ้าภาพชุมนุม ห้ามกลุ่มทะลุวังปีนรั้วรัฐสภา ติดป้ายกดดันส.ว.โหวตพิธาเป็นนายกฯ ชี้เป็นเขตนอกเหนือการขออนุญาตจัดเวทีเสวนา ขณะที่มวลชนรุมตำหนิไม่ควรสร้างเงื่อนไขความรุนแรงให้เสียบรรยากาศ ทำให้การตั้งรัฐบาลก้าวไกลยากขึ้น

การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มราษฎร ที่นัดหมายทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้ ส.ว. ร่วมโหวต ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อ “ส.ว.ต้องไม่สวนมติประชาชน” บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา ริมถนนสามเสน

แกนนำจัดการชุมนุมได้เริ่มกิจกรรมเวลา 18.00น. เป็นรูปแบบเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงหลักการและเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องให้ ส.ส.สนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี นักวิชาการ ทั้งนายอุเชน เขียงเสน นายอนุสรณ์ อุณโณ และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ โดยช่วงหนึ่งมีการพูดถึงช่วงเวลานี้ที่มองว่า เป็นโอกาสของประชาธิปไตย

เวทีเสวนากดดันส.ว.โหวตพิธานายกฯ หวิดวุ่น กลุ่มทะลุวังปีนรั้วรัฐสภา

จากนั้นทางตัวแทนของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้อ่านแถลงการณ์ที่ขอให้ สมาชิกวุฒิสภาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนในการลงมติเห็นชอบให้ผู้ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า 
​    
สืบเนื่องจากวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้มีการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกล ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาเป็นลำดับที่ 1 โดยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 152 ที่นั่ง และสามารถรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆในการจัดตั้งรัฐบาลรวมกันได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ 
    
จึงหมายความว่า พรรคก้าวไกล มีสิทธิอันชอบธรรมโดยสมบูรณ์ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ปรากฏว่า สมาชิกวุฒิสภาบางท่าน แสดงท่าที่ไม่เห็นด้วยในการเลือกนายกรัฐมนตรีอที่มาจากเจตจำนงและความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชน
​    
ด้วยท่าที่ของสมาชิกวุฒิสภาบางท่าน ที่ปฏิเสธเจตจำนงของประชาชน นำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อสมาชิกวุฒิสภา ในการดำรงไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ประชาชนไม่ว่าจะมีฐานะ หรือสถานภาพแตกต่างกันก็ ล้วนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน 
   
ทั้งนี้ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของสมาชิกวุฒิสภา จึงขอให้ สมาชิกวุฒิสภา เคารพเจตจำนงของประชาชน โดยการลงคะแนนเสียงเห็นชอบ ให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนให้พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน เพื่อให้การกระทำที่สง่างามและตามหลักการของประชาธิปไตยในครั้งนี้ ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เวทีเสวนากดดันส.ว.โหวตพิธานายกฯ หวิดวุ่น กลุ่มทะลุวังปีนรั้วรัฐสภา

แต่ระหว่างการอ่านแถลงการณ์ เกิดเหตุชุลมุนขึ้น ด้านหน้าอาคารรัฐสภา ถัดจากบริเวณที่มีการจัดเวทีเสวนา โดยนายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และกลุ่มทะลุวัง นำมวลชนบางส่วน พยายามเข้าไปริมประตูอาคารรัฐสภาเพื่อติดแผ่นป้ายไวนิล ระบุข้อความด่าทอ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของเวทีเสวนาได้เข้ามาห้ามปราม และขอให้ยุติการทำกิจกรรมเนื่องจากพื้นที่ที่ต้องการติดไวนิลเป็นพื้นที่นอกเหนือการขออนุญาตและการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ประจำรัฐสภา
    
นอกจากนี้ ยังถือเป็นการผิดวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม ที่ต้องการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไม่ใช่การกดดันสร้างความรุนแรง ทำให้ผู้ที่มาฟังเวทีเสวนา ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว จึงได้มาแสดงจุดยืนเช่นกันว่า ตนเองเป็นคนที่เลือกพรรคก้าวไกล และนายพิธา และช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการจัดตั้งรัฐบาล จึงไม่อยากให้มีภาพของความรุนแรงความวุ่นวายเกิดขึ้น เพราะการจัดตั้งรัฐบาลก็ยากลำบากอยู่แล้ว ไม่อยากให้จะกระทบต่อการโหวตนายกฯและไม่อยากให้ถูกมองว่า มวลชนที่สนับสนุนก้าวไกลเป็นพวกหัวรุนแรง

เมื่อทางคณะผู้จัดงานมาทำความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่าย แสดงจุดยืนแล้วกลุ่มทะลุวัง ก็นำป้ายไวนิล ที่ตอนแรกจะผูก บริเวณริมทางเข้าอาคารรัฐสภา พร้อมกับรูปวาดที่นำมาวางไว้ที่พื้นบริเวณทางเข้าออกของอาคารแทน

สำหรับการดูแลความสงบเรียบร้อยในวันนี้มีการจัดเตรียมกำลังตำรวจไว้ทั้งหมด 4กองร้อย เพียงเตรียมความพร้อมไว้ภายในอาคารรัฐสภา โดยไม่ได้มีการมาเผชิญหน้ากับทางผู้ชุมนุมจัดกิจกรรมแต่อย่างใด.