posttoday

เลือกตั้ง66: ‘อภิสิทธิ์’ ลั่น นโยบายไม่หวือหวาแต่ยั่งยืน

30 เมษายน 2566

“อภิสิทธิ์” ปราศรัย หลักสี่ มั่นใจอยู่มานาน นโยบายไม่หวือหวา แต่เน้นความยั่งยืน วอนเลือก ปชป. 2 ใบ ยันสามารถเป็นหลักพาบ้านเมืองเดินต่อได้ ด้านซูเปอร์โพลเผย ปชป.นำโด่งคนเชื่อมั่นพรรคเก่าแก่

(29 เม.ย.66) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จัดปราศรัยกรุงเทพฯโซนเหนือ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคปชป.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคปชป.ดูแลกทม. พร้อมด้วยผู้สมัครส.ส.กทม. โซนเหนือ ร่วมขึ้นเวทีปราศรัย ท่ามกลางบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก สนามฟุตบอล ศูนย์เยาวชนหลักสี่ (ท่าทราย) เขตหลักสี่ 

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวปราศรัยว่า ดีใจที่ได้มีโอกาสมาพบพี่น้องที่นี่ หลายครั้งการทำงานการเมืองตนก็ได้มาพบปะพี่น้องที่นี่ วันนี้ทุกคนคงทราบตนไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง  แต่เป็นสมาชิกของพรรคปชป. และได้เดินทางไปเพื่อสนับสนุนผู้สมัครของพรรค และพรรค ซึ่งเบื้องต้นตนไปไหนทุกที่พอบอกว่าไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาก็สงสัยว่ามาทำไม เพราะไม่ได้มาหาเสียงให้ตัวเองแน่นอน ตนบอกสิ่งแรกคืออย่างน้อยที่สุดเพื่อมากราบขอบพระคุณพี่น้องทุกคน เพราะนักการเมืองอย่างตน เหมือนกับนักการเมืองหลายคนในพรรคปชป. เรามีโอกาสไปเป็นผู้แทนฯ มีโอกาสไปมีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร หรือตนมีโอกาสเป็นนายกฯ เราไม่ใช่คนมีเงิน เราไม่ใช่คนมีอิทธิพล เราไม่ใช่คนที่จะสามารถไปสถาปนาเอาสิ่งเหล่านี้มาให้ตัวเองได้ เรามีโอกาสไปทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดอยู่ที่ประชาชนที่สนับสนุนเรา

 

“หลายคนสอบถามว่าไม่ลงสมัครเลือกตั้ง ยังอยู่กับพรรคปชป. ใช่หรือไม่ หลังจากผมพูดว่ากรีดเลือดออกมาเป็นสีฟ้าวันนี้ไม่พูดแล้ว เพราะหลังจากพูดไปคนบอกว่าแล้วยังบริจาคเลือดได้หรือเปล่า เพราะปกติผมเป็นคนบริจาคเลือด เขากลัวว่าเดี๋ยวเลือดสีฟ้าแล้วไปบริจาคไม่ได้ แต่ผมมีหรือไม่มีตำแหน่ง หัวใจ อุดมการณ์เหมือนเดิม ไปไหนบางคนบอกว่าใช้ได้ ความหล่อคงที่ ความดีเหมือนเดิม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนมาวันนี้มีเรื่องหลัก 2 เรื่อง เพราะในวันที่ 14 พ.ค.การเลือกตั้งครั้งนี้เขามีบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบแรกเลือกส.ส.เขต สีม่วง โดยเฉพาะในพื้นที่นี้ผู้สมัครคือ พล.ต.ต.วิชัย สังขประไพ ผู้สมัครส.ส.เขต หลักสี่ เบอร์14 ส่วนเรื่องที่สองคือบัตรอีกใบสีเขียวขอให้เลือกเบอร์ 26 พรรคประชาธิปัตย์ เพราะความเป็นสถาบัน และเป็นหลักและปชป.เป็นของพี่น้องทุกคน และทำให้ทุกคนที่ก้าวเข้ามาสู่ปชป. เป็นคนที่มีอิสระในการทำงาน และสามารถเติบโตทางการเมืองได้ และความเป็นหลักตรงนี้เราสามารถสร้างนัการเมืองจำนวนมากจนกระทั่งหลายครั้งเราก็ส่งออกไปอยู่พรรคอื่น แต่นักการเมืองที่อยู่กับปชป.เป็นหลักได้ และเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ภายในพรรค ทุกคนมีความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการทำงาน

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อประชาธิปัตย์เป็นอย่างนี้ จึงทำงานโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ผลประโยชน์ระยะยาวไม่ได้มองแค่การเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่งหรือผลประโยชน์เฉพาะหน้า นโยบายหลายอย่างบางครั้ง พวกเราก็ต่อว่าทำไมไม่ตื่นเต้นเล้าใจ หวือหวา เหมือนพรรคนั้นพรรคนี้ แต่หลายนโยบายที่หวือหวา เล้าใจสร้างความเสียหายให้กับประเทศมามากแล้ว แต่นโยบายปชป.บางครั้งอาจไม่ถูกใจเต็มที่ แต่สามารถทำตนดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ วันนี้แข่งกันนโยบายผู้สูงอายุตัวเลขเล้าใจมาก เพราะเดี๋ยวนี้ประชากรเรามีผู้สูงอายุเยอะ แต่เบี้ยยังชีพเกิดขึ้นสมัยที่ผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วนประชากรน้อยมาก 30 ปีที่แล้ว คนคิดคือนายชวน หลีกภัย เงินรัฐบาลไม่มาก จ่ายให้กับบางคน 200 บาทเท่านั้น แล้ว 10 ปีที่แล้ว ปปช.โดยตน ขอเปลี่ยนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นเบี้ยยังชีพถ้วนหน้า 500 บาท ถ้า 10 ปีที่แล้วตนให้ 3,000 บาท วันนี้โครงการนี้อาจจะล้มไปแล้ว เพราะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ

 

“ผมไม่รู้ว่าหลังเลือกตั้งใครจะมีกี่เสียงใครจะจับมือกับใครเป็นรัฐบาล หรือใครจะเป็นฝ่ายค้าน แต่ผมเชื่อว่ายังมีความสับสนอยู่พอสมควรเพราะกติกาบ้านเมืองยังสับสน มีสว. 250 คนอีก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพูดได้คือพรรคอย่างปชป.จะเป็นฝ่ายค้าน จะเป็นรัฐบาล สถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะยืนยันความเป็นหลักให้กับบ้านเมือง ให้บ้านเมืองเดินด้วยเหตุด้วยผลฝ่าฟันปัญหาอุปสรรค์ต่างๆให้กับพี่น้องประชาชนได้ ”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

 

ซูเปอร์โพล ปชป.นำโด่งความเชื่อมั่นพรรคเก่าแก่

 

เลือกตั้ง66: ‘อภิสิทธิ์’ ลั่น นโยบายไม่หวือหวาแต่ยั่งยืน

 

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.66 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่องสุดขั้วการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวน 2,065 ตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 – 29 เม.ย. 2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

 

ผลสำรวจพบแนวโน้มของกลุ่มพลังเงียบขออยู่ตรงกลาง เริ่มกระจายตัวออกไปยังขั้วการเมืองต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ จากร้อยละ 36.4 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ลดลงเหลือร้อยละ 27.5 ในช่วงปลายเดือนเมษายน และพบว่าได้กระจายตัวฐานสนับสนุนไปยังขั้วการเมืองที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่า คือ จากร้อยละ 24.5 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35.8 ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลในช่วงปลายเดือนเมษายน โดยฐานสนับสนุนรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 39.1 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 36.7 ในการสำรวจล่าสุด

 

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามประเด็นความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองเก่าแก่ พบว่าในกลุ่มขั้วรัฐบาลร้อยละ 51.1 ระบุเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 32.1 ระบุเป็นพรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 21.6 ระบุพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่กลุ่มขั้วฝ่ายค้าน ร้อยละ 45.0 ระบุเป็นพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 22.0 ระบุเป็นพรรคก้าวไกลและร้อยละ 3.1 ระบุอื่น ๆ

 

เมื่อถามถึง พรรคการเมืองที่เป็นหลักแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน แบ่งออกระหว่างกลุ่มขั้วต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีกับกลุ่มขั้วที่ไม่ต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 76.8 ที่ระบุพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองหลักแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 23.2 ไม่ต้องการเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม แม้แต่กลุ่มขั้วที่ระบุพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคหลักแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนร้อยละ 29.2 ต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี แต่ร้อยละ 70.8 ไม่ต้องการ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ65.4 ที่ระบุพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองหลักแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 34.6 ไม่ต้องการ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 ที่ระบุ พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองหลักแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเช่นกัน นอกจากนี้ในขั้วการเมืองฝ่ายค้านพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.8 ที่ระบุพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหลักแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 73.4 ที่ระบุพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองหลักแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

 

เลือกตั้ง66: ‘อภิสิทธิ์’ ลั่น นโยบายไม่หวือหวาแต่ยั่งยืน