posttoday

ปมถือครองหุ้น ชะตากรรม ศักดิ์สยาม-ภูมิใจไทย

07 มีนาคม 2566

ประเด็นร้อนทางการเมือง เมื่อวันที่3มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม หลังรับคำร้องการถือครองหุ้น เข้าลักษณะต้องห้ามรัฐธรรมนูญ พร้อมกับ ให้ส่งเอกสาร คำชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาภายใน15วัน

กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง เมื่อวันที่3มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์สั่งให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม หลังรับคำร้องการถือครองหุ้น เข้าลักษณะต้องห้ามรัฐธรรมนูญ พร้อมกับ ให้ส่งเอกสาร คำชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาภายใน15วัน 

นายศักดิ์สยาม กำลังจะเดินทางไปปฏิบัติ ภารกิจในต่างจังหวัด ต้องยุติการทำหน้าที่และชี้แจงผ่านทางไลน์ กลับมาว่า ‘รับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และหยุดปฏิบัติภารกิจแล้ว หลังได้รับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการแล้ว จะชี้แจงข้อกล่าวหาไปตามกรอบเวลาภายใน 15 วัน เตรียมคำชี้แจงไว้เรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าถอนหุ้นจากบริษัทดังกล่าวก่อนเป็นรัฐมนตรีแล้ว’

ขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะรับไม้ต่อ วินิจฉัย เมื่อประเด็นดังกล่าว ยังไม่ได้ข้อยุติทางกฎหมาย ยังไม่มี คำพิพากษาจากศาลฎีกาออกมา มุมมองทางกฎหมาย ศักดิ์สยาม ยังถือเป็น ผู้บริสุทธิ์อยู่ 

ผลจากการยุติปฏิบัติหน้าที่ ศักดิ์สยาม ตำแหน่งทางฝ่ายบริหาร คือ รมว.คมนาคม และยังมี ตำแหน่งผู้บริหารพรรคภูมิใจไทย นั่งในตำแหน่ง เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย มุมมอง มิติทางสังคม การเมือง กฎหมาย ถูกมองออกมาในหลายมิติ ช่วงนี้ งานเข้ามากเป็นพิเศษในพรรคภูมิใจไทย โดนปูพรมถล่มตั้งแต่  อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่ประจำพรรค ศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย รวมไปถึง สมาชิกพรรค ส.ส.ย้ายเข้ามาใหม่ กำลังโดนรับน้องทางการเมือง จากพรรคเดิม พรรคคู่แข่ง ในสนามเลือกตั้งอย่างหนัก  

มิติทางสังคม ที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ตามที่ ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’ นักการเมืองชื่อดัง ออกมาเปิดเผยข้อมูล การถือครองที่ดินเขากระโดงของครอบครัว-ที่ดินการรถไฟ-คำพิพากษาศาล ไล่ไปถึงประเด็น การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม อันร้อนแรง ผูกโยงตั้งคำถาม เร่งเร้าไปถึง เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ผู้มีอำนาจ เข้ามาสะสางให้เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด

มิติทางการเมือง ศักดิ์สยาม เป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย พรรคการเมือง เพียบพร้อม อุดมไปด้วยทรัพยากรบุคคล ทรัพยากร ปัจจัยจำเป็นต่อการตัดสินชี้วัด การเลือกตั้ง 2566 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก่อนหน้านี้ ภูมิใจไทย กวาดต้อน ส.ส. ผู้กว้างขวางทางการเมือง จากหลากหลายพรรค เข้าไปร่วมงานด้วยเป็นจำนวนมาก พร้อมกับตั้งเป้าหมายการเมือง ขยับจากพรรคขนาดกลางมีส.ส.กว่าครึ่งร้อย ไปสู่ พรรคขนาดใหญ่ ตั้งเป้ามีส.ส.ทะลุร้อย

ไม่ใช่เพียงแค่ พรรคตรงข้าม ไม่พอใจ แต่ พรรคในปีกรัฐบาลด้วยกันเอง อาจไม่พอใจเช่นกัน การโตก้าวกระโดด ของ ภูมิใจไทย อาจเป็นการ ส่งสัญญาณ ขัดขวางทุกวิถีทางต่อ การเติบโตทางการเมือง ภูมิใจไทย 

มิติทางกฎหมาย เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในชั้น ศาลฎีกา จะเป็นผู้ชี้ขาดว่า ซึ่งผลที่ออกมา เป็นไปได้ทั้ง บวก หรือลบ กับพรรคภูมิใจไทย เรื่องทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ยังต้องรอการพิสูจน์ทราบขั้นตอนสุดท้ายต่อไป  

ส่วนประเด็น จะลามไปถึงขั้น พรรคถูกพิพากษาเด็ดขาด ยุบพรรค การสิ้นสภาพพรรคการเมืองหรือไม่  ตามพรบ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ระบุถึง การสิ้นสภาพพรรคตามมาตรา91 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางธุรกรรมในพรรค เช่น การมีสมาชิกพรรค สาขาพรรค ไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการประชุมใหญ่ ทำกิจกรรมการเมือง ตามระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด การไม่ส่งส.ส.ลงเลือกตั้งเกินกว่าสองครั้ง เป็นต้น 

มาตรา 92 ระบุเหตุให้กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรค อาทิเช่น (1) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (3) กระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74

หากเทียบเคียง กรณีก่อนหน้า การยุบพรรคอยู่ในประเด็นความสนใจจากสังคม การยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจาก มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และมีมติให้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ วันที่มีการทำสัญญากู้เงินคือ วันที่ 2 ม.ค. 2562 และ 11 เม.ย. 2562 เป็นเวลา 10 ปี

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งระบุว่า ‘การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องอาศัยรายได้ของพรรค ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดแหล่งที่มาไว้ในมาตรา 62 ดังนั้นเงินส่วนใดที่พรรคนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งไม่มีแหล่งที่มาจากกฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่าเป็น "เงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 62" 

มาตรา72 ของพรบ.พรรคการเมือง ระบุชัดเจน ว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นการ ถือครองหุ้น ผ่าน นอมินี มีการทำธุรกรรมที่สลับซับซ้อน ชวนสงสัย โยงใยไปหลายชั้น หลายขั้นตอน ‘ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล’ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปี2565  ตั้งข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติกรรมใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางที่แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และจงใจปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ

เวลาต่อมาส.ส.หลายคน เข้าชื่อยื่นต่อ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งต่อไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ 
 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา สมาชิกพรรคก้าวไกล ยังคงออกมาตั้งข้อสังเกตุ เร่งเร้าเอาผิด รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กำลังรวบรวมรายชื่อส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา144 โดยอ้างว่า ไม่ได้มีเพียงประเด็นนอมินี ถือครองหุ้น แต่ยังอาจจะรวมถึงบทบาท ศักดิ์สยาม เข้าไปแทรกแซงงบประมาณกระทรวงคมนาคมทั้งทางตรง ทางอ้อมด้วย 

สำหรับประเด็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ควรถูกผลักดันต่อ ควรรอให้เลือกตั้งและมีรัฐมนตรีชุดใหม่มาทำหน้าที่ สิ่งที่ควรทำคือ นำรายละเอียดการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีข้อครหา มาเปิดเผยเพื่อให้สังคมตัดสิน

ปกรณ์วุฒิ เปิดเผยทำนองเดียวกันว่า "ได้ทำการติดต่อพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน โดยฝ่ายค้านเห็นว่า ควรจะมีการล่าชื่อส.ส.ฝ่ายค้านยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีของนายศักดิ์สยาม อีกหนึ่งคำร้องเพิ่มเติม โดยเป็นการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของ นายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กรณีอาจละเมิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 (บทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี)

การยื่นคำร้องดังกล่าว ต้องมี ส.ส.ฝ่ายค้านร่วมลงชื่อด้วยขั้นต่ำหนึ่งในสิบของจำนวน ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตอนนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบยอดตัวเลข ส.ส.ปัจจุบัน พบว่า หนึ่งในสิบก็คือ สี่สิบคน ในการร่วมลงชื่อ แต่ปัญหาคือตอนนี้สภาปิดสมัยประชุมแล้ว และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ แต่ฝ่ายค้านก็จะพยายามรวบรวมรายชื่อให้ได้ก่อนที่จะมีการยุบสภา โดยใจจริงก็อยากทำให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้เลย แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้ครบหรือไม่ ซึ่งหลังได้รายชื่อแล้ว ก็จะยื่นตรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเลย ไม่ต้องผ่านประธานสภาฯ

สำหรับคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่นั้น ไม่ได้มีเรื่องของการตัดสิทธิการเมือง เพราะเป็นการยื่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ที่เป็นเรื่องการให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีและการให้เว้นวรรคจากการเป็นรัฐมนตรีสองปี แต่คำร้องที่จะยื่นใหม่ จะเป็นการยื่นตามช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ที่มีเรื่องของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย”

ถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม การส่งคำชี้แจงของนายศักดิ์สยาม ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ ขีดเส้นให้ส่งภายใน15วัน นับแต่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ปฏิกิริยาสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ฝ่ายกฎหมาย จะออกมาชี้แจง หลังจากโดน ส.ส.ก้าวไกล ออกมาเปิดประเด็น พุ่งตรงไปยัง ศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม และ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยว่าอย่างไร

งานนี้ มีเดิมพัน ชะตากรรมทางการเมือง สิทธิเลือกตั้ง ของศักดิ์สยาม และ อาจจะส่งผลกระทบไปถึงพรรคภูมิใจไทย ในสนามเลือกตั้งด้วย เวลาการเลือกตั้ง2566 ใกล้เข้ามาทุกขณะ เรื่องราวนี้ จะมี บทสรุป อย่างไร คงต้องเฝ้าตามลุ้นกัน ชนิดห้ามกะพริบตาเลยทีเดียว