posttoday

เกาะติดการเมือง เลือกตั้ง66 : เปิดชื่อ12ส.ส.ลาออกไปรวมไทยสร้างชาติ

01 มีนาคม 2566

กกต.ของบฯสร้างความเข้าใจประชาธิปไตย เพื่อไทยเปิดตัวเศรษฐาประธานที่ปรึกษาพรรค ประยุทธ์ปัดคุยดีล รทสช.-พปชร.ร่วมตั้งรัฐบาล พรเพชร ประธานวุฒิสภา ย้ำส.ว.เป็นกลางอย่าเชียร์ใครออกนอกหน้า

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอคคณะรัฐมนตรี (ครม.)  พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณตามแผนงาน / โครงการ ตามความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน เพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ แก่กลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นเด็ก / เยาวชน / นักเรียน / นิสิต – นักศึกษา ในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ด้วยกระบวนการปลูกฝังตามหลักสูตรที่กำหนดร่วมกันและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ส่วนกลุ่มเป้าหมายประชาชนทั่วไป ใช้การรณรงค์ ชี้แจง ทำความเข้าใจ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน / ชุมชน ผ่านองค์กรและเครือข่ายศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยระดับต่างๆเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560  
 

พรรคเพื่อไทย โพสต์คลิปความยาว 1 นาที รวบรวมนโยบายสำคัญพรรคที่ได้ทยอยประกาศในวาระต่างๆไปแล้ว  โดยผู้บริหาร ส.ส. และผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ก.และสมาชิกพรรคนำพร้อมใจกันโพสต์ภาพและคลิปสั้น ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงแนวคิดหลักของพรรคเพื่อไทย ที่ ‘คิดใหญ่’ เพื่อประเทศไทย เดินหน้าทันการเปลี่ยนแปลง‘ทำเป็น’เพื่อความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เพื่อคนไทยทุกคน ขณะที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นัดแถลงข่าวเปิดตัวนายเศรษฐา ทวีสิน ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคด้านเศรษฐกิจและช่วยจัดการนโยบายที่จะใช้ในการหาเสียงของพรรค วันนี้ (1มี.ค.66) เวลา 09.30น.

 

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค หลังจากที่มีการเปิดตัวน.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ"นักธุรกิจพันล้าน" ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีผลประกอบการในปี 2564 มีรายได้ถึง 29,747.52 ล้านบาท และกำไร 2,017.28 ล้านบาท ว่ากันว่า "เพื่อไทย"อยากใช้จุดแข็งของนายเศรษฐาที่บริหารธุรกิจประสบความสำเร็จ และมีแนวคิดชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจและสร้างโอกาสการลงทุนของประเทศ  
 
ยังไม่มีท่าทีว่า จะตัดสินใจใช้อำนาจนายกรัฐมนตรียุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน นำพาประเทศไปสู่การเลือกตั้งหรือไม่ แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงท่าทีการร่วมกันตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง66 กับพรรคพลังประชารัฐว่า เอาไว้รอให้เลือกตั้งก่อน ค่อยว่ากัน เขาไม่พูดกันตอนนี้ เขาพูดกันตอนเลือกตั้งเสร็จ ยังไม่พูดอะไรทั้งนั้น  เรื่องพรรคก็ส่วนพรรค ก็อยู่ที่ประชาชนจะเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคุยกันตลอดเวลา ยังรักเคารพเขาเหมือนเดิม แต่ก็ยังไม่ได้พูดว่าจะจับมือกับใครยังไม่มีการสัญญาอะไรกับใครทั้งสิ้น 

ส.ส.ลาออกจากสภาเพิ่มอีก12คน ประกอบด้วย นายประสิทธิ์ มะหะหมัด  ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ, นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ, นายสาธิต อุ๋ยตระกูล ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ, พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังประชารัฐ, นายรณเทพ อนุวัฒน์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ, นายสมบัติ อำนาคะ ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ, นายสมพงษ์ โสภณ ส.ส.ระยอง พรรคพลังประชารัฐ, น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งลาออกจากการเป็นส.ส. มีผล 24 ก.พ.66 นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ มีผล 26 กุมภาพันธ์ , น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ลาออก 27 กุมภาพันธ์,นายศาตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ลาออกจากการสังกัดพรรคพลังประชารัฐ  27 กุมภาพันธ์ และ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 
ทำให้มีส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 405 คน สำหรับ 12 คนที่ลาออกนั้น คาดว่าจะไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติทั้งหมด  

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา(ส.ว.) ได้กำชับสมาชิกวุฒิสภาในช่วงปิดสมัยประชุมต้องวางตัวเป็นกลาง อย่าไปร่วม อย่าไปเผยแพร่ชักจูงทางการเมือง หรือการเชียร์ว่าที่ผู้สมัครส.ส. หากจะไปร่วมกิจกรรมต้องระวัง รวมถึงการไปฟังการปราศรัยเพราะเป็นผู้ใหญ่ บทบาทของส.ว. ก็เป็นที่สนใจของประชาชนหากเขาเห็นก็อาจจะเข้าใจว่าส.ว.ไปเข้าข้างใคร จึงขอย้ำให้ระมัดระวังรวมถึงส.ว. ที่อาศัยอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีกว่า 70 คน ที่เคยลงพื้นที่ ก็ต้องระมัดระวังขอให้งดภารกิจไปก่อน ส่วนส.ว.ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งอาจมีเครือญาติ หรือคนรู้จัก ลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระมัดระวังเพราะอาจมีอิทธิพลต่อประชาชนในการลงคะแนน  การเป็นวุฒิสภาไม่สามารถทำได้ในการไปช่วยใครหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. เชื่อว่าคงไม่ใช่เหตุผล ที่จะอ้างว่า ส.ว. ต้องเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี จึงต้องไปติดตามฟังการปราศรัย เพราะการโหวตเลือก สามารถพิจารณาจากปัจจัยอื่นได้ไม่จำเป็นจะต้องไป