posttoday

ทวี จับโกหก ศักดิ์สยาม ที่ดินเขากระโดง เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

17 กุมภาพันธ์ 2566

"พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" ชี้ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" แจงปมที่ดินเขากระโดงในสภาฟังไม่ขึ้น ยันพื้นที่ 5,083 ไร่ กรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ กล่าวถึงกรณี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 ถึงปัญหาที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ว่า เหตุผลการชี้แจงฟังไม่ขึ้นกรณี ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินการรถไฟเขากระโดง จำนวน 5,083 ไร่ ที่นายศักดิ์สยาม รับว่าไม่มีในสารบบสินทรัพย์ของการรถไฟ โดยอ้างว่าเป็นมาตรฐานทางบัญชี คือ จำหน่ายออกจากสินทรัพย์ของรัฐไป นั้น มีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและหลักฐาน เพราะเรื่องที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

กรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการแย่งกรรมสิทธิ์ ในที่ดินกรณีเดียวกันกับที่ดินรถไฟเขากระโดง คือ ที่ดินรถไฟ ที่บริเวณบ้านโพธิ์มูล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีการออกโฉนด เนื้อที่ประมาณ 28 ไร่เศษ พบว่า มีการพิพาทฟ้องคดีกับประชาชน ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พE84/2564  เลขแดงที่ 479/2565 พิพากษา เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 พล.ท.บรรเทา ใยเกตุ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน จำเลย พิพากษาให้เพิกถอนโฉนด ขับไล่ ที่ดินจำนวน 28 ไร่ และให้ชำระค่าเสียหาย จำนวน 8,798,700 บาท แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย สามารถขึ้นบัญชีในสารบบได้      
 

ทั้งนี้ ในทางกลับกัน ที่ดินรถไฟเขากระโดง (ทรัพย์สินของแผ่นดิน) นี้ ซึ่งปรากฏหลักฐานชัด ทั้งมีการพิสูจน์กันที่ศาลยุติธรรม จนถึงศาลฎีกา และคดีถึงที่สุดแล้ว ตามคำพิพากษาฏีกาที่ 842-876/2560,คำพิพากษาฎีกาที่ 8027/2561 และคำสั่งศาลฎีกาที่ ครพ 2205/2564 จึงเป็นที่ยุติว่าที่ดินบริเวณเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ พิพากษาให้ขับไล่ รื้อถอน และให้ราษฎรชดใช้ค่าเสียหายให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย อีกด้วย
 
"เหตุใดมาบอกว่า ไม่แน่ใจว่าที่ดินเขากระโดง เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และยังต้องมีการพิสูจน์อะไรอีก ทำไมกรณีที่เกิดขึ้นกับที่ดินรถไฟที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ศาลยังไม่พิพากษาถึงที่สุดด้วยซ้ำ การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็สามารถขึ้นบัญชีในสารบบได้" พ.ต.อ.ทวี กล่าว 

พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวอีกว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินการรถไฟฯ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะเปลี่ยนมือได้ต้องกระทำเป็นกฎหมายผ่านรัฐสภา โดย พ.ร.บ. เท่านั้น ตามมาตรา 6 (2) พ.ร.บ.จัดวาง การรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 “ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใด ๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟ หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้น ๆ ได้ขาดจากเป็นที่ดินรถไฟแล้ว” ส่วนข้ออ้างอื่นๆ แม้ข้ออ้างของผู้ว่าการรถไฟฯ ก็ฟังไม่ขึ้น

เพราะมิใช่เหตุผลตามกฎหมาย แต่ในทางตรงกันข้าม ความเห็นงบการเงินที่ สตง. ตรวจ พบว่างบการเงินการรถไฟแห่งประเทศไทย ปี 2564 ได้แสดงความเห็น แบบมีเงื่อนไข” คือ งบการเงินไม่ถูกต้อง ในเรื่องที่ดินและทรัพย์สิน ที่ดินจำนวน 5,083 ไร่ นี้  คำพิพากษาตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมาแล้ว 6 ปี ว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นของการรถไฟฯ แสดงถึงความไม่สุจริต