posttoday

"รศ.ดร.ธนพร"ชี้อการภิปรายแบบไม่ลงมติส่งสัญญาณตั้งรัฐบาลจอยท์เวนเจอร์

17 กุมภาพันธ์ 2566

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล" ชี้อภิปรายไม่ลงมติ มาตรา 152 เป็นปรากฎการณ์จอยท์เวนเจอร์ หรือ กิจการร่วมค้าทางการเมือง เปิดสูตรการจัดตั้งรัฐบาล2ขั้ว หลังการเลือกตั้ง66

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ในการอภิปรายแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ตลอด2วัน ได้เห็นปรากฎการณ์ จอยท์เวนเจอร์ หรือ กิจการร่วมค้าทางการเมือง สำหรับการเลือกตั้ง66  เพราะในการอภิปรายไม่มีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ทุกพรรคการเมืองออกสเต็ปเป็นของตัวเอง ซึ่งจะสังเกตว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐไม่ลุกขึ้นตอบอภิปราย
 

ขณะที่บรรดาส.ส.ในพรรคก็ไม่มีบทบาทในการอภิปรายซึ่งแสดงให้เห็นว่า พร้อมที่จะก้าวข้ามขัดแย้ง ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็ลดความดุดันในการตอบโต้ฝ่ายพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ก็ลดการด่าลงทุก1นาที ประกอบกับเสียงส.ว.ที่สนับสนุนพล.อ.ประวิตร มีอยู่ราว50เสียง จึงมีความเป็นไปได้ว่าสูตรในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นดังนี้
 1.พรรคเพื่อไทย 180 เสียง 
2.พรรคภูมิใจไทย 70เสียง
3.พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง
4.พรรคประชาธิปัตย์ 30 เสียง
และ5.ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตร 50เสียง

เท่ากับ 370เสียง ขาดเพียง6เสียงแต่สามารถดึงเสียงจากพรรคขนาดกลาง เช่นพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนากล้ามารวมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่สูตรการจัดตั้งรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยังมีโอกาสเป็นได้ เพราะมีทุนต้นเสียงสนับสนุนจากส.ว.ราว 200 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 40 เสียง พรรคภูมิใจไทย 70เสียง พรรคปชป.30 เสียง และพปชร. 40เสียงรวมกัน 380 เสียงสามารถจัดตั้งรัฐบาลขั้วเดิมหลังการเลือกตั้ง66 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ธนพร ระบุว่า ยังให้น้ำหนักในการตั้งรัฐบาลสูตรที่2ของพล.อ.ประยุทธ์ เพราะเห็นขั้วส.ว.ชัดเจนหลังการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระเช่น ป.ป.ช.และกสทช. เมื่อวันที่ 13และ14ก.พ.66 เพราะอย่างไรเสียงเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาถึงทีเด็ดทีขาด พล.อ.ประวิตรแม้จะแยกกันเดินกับพล.อ.ประยุทธ์ แต่เชื่อว่ายังให้การสนับน้องรักเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ส่วนความขัดแย้งในพลังประชารัฐเดิมเป็นเพียงลูกน้องทะเลาะกันแต่ลูกพี่ไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะการเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองอยากเป็นรัฐบาล ไม่อยากเป็นฝ่ายค้านทุกพรรคอยากแสดงฝีมือ

ส่วนพรรคก้าวไกล รศ.ดร.ธนพร  วิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะมีเพียงหนทางเดียวที่ได้โอกาสคือ พรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ต้องถือว่าพรรคก้าวไกล ทำการบ้านมาดีเพราะมียุทธศาสตร์ ตีเป้าหมายในประเด็นใหญ่ ทั้งระบบราชการ ปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นต้น ขณะที่เพื่อไทยไม่คิดจะทำเรื่องเหล่านี้ แม้พรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่ได้ใจประชาชน แต่ยังไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะได้เป็นรัฐบาลต้องสะสมบารมีกันไป เรื่อยๆก่อน