posttoday

เลือกตั้ง66 บ้านใหญ่ทวงบัลลังก์ VS เบื้องหลังวิชามารโซเชียล

15 กุมภาพันธ์ 2566

เปิดผลวิจัย สถาบันพระปกเกล้า รับเลือกตั้ง66 มีประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้คือพลังบ้านใหญ่กับการใช้โซเชียลมีเดีย กลยุทธ์ที่ใช้สำหรับการทำลายคู่แข่งทางการเมือง กับทิศทางนโยบายหาเสียง เป้าหมายเพื่อหวังผลคะแนนเลือกตั้ง

ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ทำวิจัยเชิงสำรวจสำรวจพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทย / วัดปรอทอุณหภูมิประชาธิปไตยของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงค่านิยมประชาธิปไตยของคนไทย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงความนิยมในพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้เห็นทิศทางแนวโน้มของการเลือกตั้งปี 66  สิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาวิจัย และสำรวจสรุปออกมาได้ดังนี้

1.ผลสำรวจส่วนนี้ว่า wake up call หรือนาฬิกาปลุก สัญญาณเตือนให้ตื่นจากภวังค์ นั่นก็คือ คะแนนนิยมของ “ลุงตู่” ลดน้อยลงมาก เมื่อเทียบกับปี 62 

คำถามคือ พรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.มากที่สุดเท่าไหร่ จะได้เกินเกณฑ์ที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯได้จริงหรือไม่ เพราะคนทำพรรคให้ ก็ไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะทำให้พรรคประสบความสำเร็จ (การทำให้พรรคการเมืองประสบความสำเร็จ ได้ ส.ส.เข้าสภาจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือใช้มือใหม่ทำได้) 

ที่สำคัญ เมื่อ 2ป. แยกทาง ทิศทางคะแนนนิยมยิ่งตก 

2.คะแนนนิยมของพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ผลสำรวจออกมาไม่ดีนัก การย้ายพรรคของ ส.ส.ในกลุ่มนี้ คือย้ายข้ามไปข้ามมากันเอง เช่น จากพลังประชารัฐย้ายไปภูมิใจไทย ในบางพื้นที่ เช่น กทม. โอกาสชนะเลือกตั้งมีน้อยมาก เพราะคนกรุงเทพฯไม่ค่อยเลือกจากตัวบุคคลมากนัก แต่เลือกพรรค และดูผู้นำพรรคเป็นหลัก 

ส่วนกลุ่มที่ย้ายพรรคแบบข้ามขั้ว เช่น อดีต กปปส.เข้าเพื่อไทย หรือคนเสื้อแดงเข้ารวมไทยสร้างชาติ มีผลทำให้ประชาชนห้เกิดความสับสน และทำให้คนหวาดระแวง ส่งผลต่อคะแนนนิยมที่จะได้รับกลับมาพอสมควร เนื่องจากสังคมไทยยังแบ่งเป็น 2 ขั้วอยู่ คือ ขั้วอนุรักษ์นิยม กับขั้วเสรีนิยม หรือประชาธิปไตย

3.คะแนนนิยมของพรรคฝ่ายค้านมีแนวโน้มดี โดยเฉพาะเพื่อไทย กับก้าวไกล 

อาจารย์ถวิลวดี บอกว่า การวิเคราะห์คะแนนนิยม ไม่ได้ทำจากโพลอย่างเดียว แต่วิเคราะห์จากปัจจัยอื่นๆ ได้ด้วย เช่น พรรคที่ได้รับเงินบริจาคจากประชาชนจำนวนมากจากเงินภาษี สะท้อนว่าได้รับความนิยมสูงมากในกลุ่มคนทำงาน เพราะคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เกือบทั้งหมดคือ “มนุษย์เงินเดือน” / ใครคือมนุษย์เงินเดือน ก็คือ คนชั้นกลาง คนเมือง คนวัยทำงาน ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งมากที่สุด

4.นักการเมือง “บ้านใหญ่” ยังเป็นแต้มต่อในการเลือกตั้ง แต่พลังไม่เท่าเดิม เพราะโครงสร้างของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงในระดับที่มีนัยสำคัญ 

กล่าวคือ “บ้านใหญ่” คนที่รู้จักตระกูลการเมืองเหล่านี้ต้องมีอายุมากระดับหนึ่ง ส่วนคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน ที่ไปเรียนและไปทำงานต่างถิ่น จะรู้จักหรือมีความรู้สึกจงรักภักดีต่อ “บ้านใหญ่” น้อยลง 

คนรุ่นใหม่เข้ากรุงเทพฯ ไปเรียนต่อ หรือไปทำงานในเมืองใหญ่ ได้ข้อมูลจากโซเชียลฯเยอะ ย่อมไม่ศรัทธาบ้านใหญ่เท่าไหร่ ไม่เหมือนรุ่นพ่อแม่

ดังนั้น กลุ่มคนรุ่นใหม่ First Voter (ครั้งนี้ประมาณเกือบๆ 3 ล้านคน) และคนวัยทำงานที่อายุไม่เกิน 40 ปี จะเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้มาก เนื่องจากรับข้อมูลหลากหลายจากโซเชียลฯ และได้เรียนรู้การกระทำของนักการเมือง 

ส่วนกลุ่มที่ไม่ค่อยเปลี่ยนใจ เป็นกลุ่มอายุ 60 ขึ้นไป

5.ภาค หรือพื้นที่ ที่มีโอกาสคะแนนสะวิงมากที่สุด คือ กทม. รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง 

กทม. กับภาคเหนือ ผลสำรวจออกมา ประชาชนมีแนวโน้มปรับเปลี่ยน ที่เคยยึดมั่นกับพรรคเดิม ก็มีทิศทางลดลง 

ส่วนภาคใต้ ในอดีตสะวิงน้อย แต่ระยะหลังเริ่มมีการแข่งขันมากขึ้น ทำให้มีโอกาสสะวิงมากขึ้น แต่ยังไม่มากเท่า กทม. ภาคเหนือ ภาคกลาง

ภาคอีสาน มีโอกาสสะวิงน้อยที่สุด เพราะผลสำรวจชี้ชัดว่ามีความศรัทธาเชื่อมั่นต่อพรรคเดิมเยอะ (เพื่อไทย)  

6.ทิศทางของนโยบายหาเสียง จะมี 2-3 ประเภท 

-นโยบายขายฝัน ที่ทำไม่ได้แน่ๆ หรือทำให้เกิดขึ้นจริงยาก ก็จะยังมีอยู่ แต่ประชาชนฉลาดขึ้น น่าจะรู้ว่านโยบายบางอย่างปฏิบัติได้ยาก 

-นโยบายภาพใหญ่ สะท้อนจุดยืนของพรรค ใช้หาเสียงในภาพกว้าง แต่นโยบายแบบนี้ ถ้ากลุ่มหนึ่งได้ กลุ่มหนึ่งจะเสีย เช่น ค่าแรง 600 บาท ลูกจ้างได้ แต่ผู้ประกอบการเสีย แม้ผู้ประกอบการจะมีน้อยกว่า (ในแง่คะแนนเสียง) แต่ทุนเยอะกว่า จึงมีพลังอำนาจในทางการเมืองด้วยเหมือนกัน 

-นโยบายเฉพาะกลุ่ม เพื่อนำไปหาเสียงกับกลุ่มเฉพาะ หรือ เซคเตอร์ เป็นทิศทางนโยบายที่จะมีมากขึ้น 

นโยบายที่ประชาชนต้องการ ผลสำรวจชี้ชัดว่า ต้องสมเหตุสมผล ภาษาที่ใช้ต้องเข้าใจง่าย ไม่ใช่ปีนกระไดฟัง และต้องทำได้จริง 

7.โอกาสของพรรคเพื่อไทยที่จะแลนด์สไลด์ วิเคราะห์จากผลสำรวจแล้ว “ไม่ง่าย” เพราะมีพรรคการเมืองอื่นตีตื้นมาพอสมควร และคู่แข่งเยอะกว่าในอดีต แต่การแลนด์สไลด์ก็มีความเป็นไปได้ แต่ไม่มาก การหาเสียงแบบ “คานงัด” ของพรรคอันดับ 2 กับ 3 จะมีมากขึ้น คือหาเสียงแบบลดความนิยมของฝ่ายตรงข้าม และเพิ่มคะแนนนิยมให้ฝ่ายตัวเอง หรือหาเสียงแบบลดคะแนนนิยมฝ่ายตรงข้าม ส่วนฝ่ายตัวเองไม่ต้องเพิ่มขึ้นก็ได้ 

8.ต่อเนื่องจากข้อ 7 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง จะมี “ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร” หรือ “ไอโอ” (Information Operation) เยอะมาก ฉะนั้นประชาชนที่เป็นผู้รับสาร หรือรับสื่อ ต้องระวังให้ดี เพราะข่าวหรือข้อมูลที่ได้มา จะมีทั้งจริงและไม่จริง 

เลือกตั้งหนนี้ อิทธิพลของโซเชียลมีเดียจะมากที่สุด ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ไอโอยิ่งเยอะ ทั้งเพื่อสร้างคะแนนนิยมฝ่ายตน และทำลายคะแนนนิยมฝ่ายตรงข้าม 

ผลวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า การทำลายความนิยมฝ่ายตรงข้าม มักประสบความสำเร็จมากกว่าการสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง ฉะนั้นจึงเกิดกลนยุทธ์ “ทำลายคู่แข่งให้พัง ส่วนตัวเองอยู่นิ่งๆ ก็ยังดี” เชื่อว่ากลยุทธ์นี้จะถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ 

ทั้งภาพ โค้ดคำพูดของนักการเมือง เพื่อสื่อความในแง่ลบ หรือโจมตี จะถูกส่งต่อมากขึ้นเรื่อยๆ ในไลน์กลุ่ม ในทวิตเตอร์ คนที่ไม่ได้กลั่นกรองก็จะเชื่อทันที และทฤษฎีของโซเชียลมีเดีย ชัดเจนว่า “ข่าวจริง” เดินทางช้ากว่า “ข่าวปลอม” 6 เท่า และการแก้ข่าวที่ทำให้เกิดความเสียหายไปแล้ว จะมีผลฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้น้อยมาก

บ้านใหญ่ทวงบัลลังก์ VS เบื้องหลังวิชามารโซเชียลฯ

จากผลสำรวจ วิจัยของสถาบันพระปกเกล้า ประกอบการวิเคราะห์ของ อ.ถวิลวดี / คุณผู้ชมจะพบว่ามี 2 ประเด็นที่ต้อง “ขีดเส้นใต้” และเจาะกันต่อ นั่นก็คือ “พลังของบ้านใหญ่” กับ “การใช้โซเชียลมีเดียในแบบวิชามาร เพื่อหวังผลการเลือกตั้ง” 

เริ่มจากประเด็นแรกก่อน “พลังของบ้านใหญ่” 

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ตระกูลการเมืองกับการเลือกตั้ง มนต์ขลัง หรือ (แค่) พลังที่ถดถอย” ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า

1.หากย้อนไปการเลือกตั้งปี 54 ปัจจัยเรื่อง “ตระกูลการเมือง” หรือ “บ้านใหญ่” กำหนดผลเลือกตั้งได้น้อยกว่า “พรรคการเมืองที่สังกัด” 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลงสมัคร ส.ส.ในสีเสื้อพรรคเพื่อไทย ในภาคเหนือ หรือภาคอีสาน เจอคู่แข่งตระกูลไหนก็ไม่ต้องกลัว 

หรือถ้าลงสมัคร ส.ส.ในภาคใต้ ถ้าสวมเสื้อประชาธิปัตย์ ก็แข่งได้กับทุกตระกูลเหมือนกัน 

“ตระกูล” หรือ “บ้านใหญ่” ก็ยังมีความสำคัญ แต่เป็นปัจจัยลำดับรอง 

2.ถ้า “ตระกูลการเมือง” หรือ “บ้านใหญ่” ลงสมัครถูกพรรค ถูกพื้นที่ จะเป็นแรงหนุนทำให้ผลการเลือกตั้งประสบความสำเร็จได้มากขึ้น 

3.ความเป็น “ตระกูล” หรือ “บ้านใหญ่” จะช่วยผู้สมัครหน้าใหม่ได้มาก (รุ่น 2 หรือ รุ่น 3 ของตระกูล) และความเป็น “บ้านใหญ่” ก็จะเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองใหญ่ได้ง่าย นี่คือความได้เปรียบของ “ตระกูลการเมือง” 

4.เลือกตั้งปี 62 ภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยน พรรคการเมืองไม่ได้แบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจนเหมือนปี 50 กับ 54 (พรรคทักษิณ กับประชาธิปัตย์) แต่พรรคที่แข่งขันกันมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ “ตระกูลการเมือง” กลับมามีความสำคัญ เพิ่มความสำคัญมากกว่าช่วงปี 54 

5.เลือกตั้งปี 66 จะเป็นบทพิสูจน์ว่า “บ้านใหญ่” หรือ “ตระกูลการเมือง” จะกลับมาทรงพลังเช่นเดิมหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ดู “บ้านใหญ่” ก็ปรับตัว เลือกพรรคที่จะลงสมัครให้ถูกต้อง ตรงกระแสด้วย ซึ่งถ้าทำได้ ก็จะรับประกันความสำเร็จในการเลือกตั้งได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว 

แต่อย่างที่ อ.ถวิลวดี ได้บอกเอาไว้ คือ สิ่งที่ท้าทาย “บ้านใหญ่” หรือ “ตระกูลการเมือง” ก็คือกระแสโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลุ่มคนที่รับข้อมูลจากโซเชียลฯมากและหลากหลาย คือ คนรุ่นใหม่ First Voter คนวัยทำงานระยะต้น อายุไม่เกิน 40 ปี

กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนแปลง หรือพลิกเกมการเลือกตั้งได้ 

แต่ปัจจัยที่เหนือไปกว่านั้น คือการที่พรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ใช้โซเชียลมีเดียในลักษณะ “วิชาการ” เป็นกลยุทธ์ในการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามด้วยชั้นเชิงที่เหนือกว่าการสร้าง “ข่าวปลอม” หรือ “เฟกนิวส์” อย่างที่เราเห็นๆ กันทั่วไป

อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร วิเคราะห์เรื่องนี้ภายใต้กรอบคิด “ประชาธิปไตยบนโลกไซเบอร์” โดยสรุปข้อสังเกตของอาจารย์ได้เป็นข้อๆ แบบนี้  

1.การหาเสียงโดยใช้ “การตลาดทางการเมือง” หรือ Political Marketing เป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น และโซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “การตลาดการเมือง” ไปเรียบร้อย จากปัจจัย 4S กล่าวคือ 

-การใช้ความรู้สึก (Sensation)  ผู้คนสามารถสัมผัสได้จากรูปลักษณ์ภายนอกของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สามารถรับรู้ได้จาก รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส (การสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีไว้ก่อน) ได้ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองโดยตลอด และมีผลมากสำหรับการเมืองไทย

-การเล่าเรื่อง(Storytelling) นักการเมืองยุคใหม่มักจะมาพร้อมกับการเล่าเรื่อง เช่น ความดี ความเก่ง ความเจ๋ง มีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง 

-ความไวของกระแส (Speed)  เมื่อใดก็ตามที่มีกระแสเกิดขึ้นในสังคม นักการเมืองจะมุ่งไปเล่นกับกระแสนั้นในทันที ซึ่งพบเห็นกันอยู่โดยทั่วไปจนแทบเป็นเรื่องปกติ การไวต่อกระแสไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ ล้วนมีผลกระทบทางการเมืองทั้งสิ้น ทำให้พรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญเรื่องของกระแสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ย้อนดูตัวอย่างที่มีนักการเมืองเล่นกับกระแสสังคม ไม่เว้นแม้แต่คดีแตงโม) 

-โซเชียลมีเดีย (Social Media) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับการเมืองในปัจจุบัน 

เพราะโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มสามารถบอกได้ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมาย เราจึงสามารถส่งข้อความไปยังแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้ซ้ำๆ กัน และบ่อยครั้งตามที่ต้องการ

ข้อมูลส่วนนี้ อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อ้างอิงจาก ดร. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล 


2.ผลสำรวจจากทั่วโลกพบว่า การใช้โซเชียลมีเดียในทางการเมือง จะส่งผลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อบิดเบือนข้อมูล ซึ่งจะเบี่ยงเบนผลทางการเมืองออกไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างคาดไม่ถึง

3.การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียของนักการเมือง แบ่งเป็น 2 ระดับ

หนึ่ง การใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารให้สาธารณะได้รับทราบถึงกิจกรรมต่างๆ  เช่น การลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้คน รวมถึงการนำเสนอข้อมูลที่ต้องการให้ผู้คนได้เข้าถึงด้วยความรวดเร็ว เป็นต้น

สอง การใช้โซเชียลมีเดียในเชิงลึก เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายวงแคบ และเฉพาะเจาะจง (Micro targeting) 

การใช้โซเชียลมีเดียในแบบที่ 2 นี้ เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางจิตวิทยา หรือ Psychological operations ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งที่สามารถใช้ปฏิบัติการเหล่านี้เพื่อการเข้าถึงเป้าหมายเฉพาะตัวได้อย่างง่ายดาย เพื่อหวังผลทางการเมือง 

และแน่นอน ถ้าใช้โซเชียลมีเดียเพื่อป้อนข้อมูลบิดเบือน ยิ่งส่งผลแรงมาก (ข่าวปลอม เดินทางเร็วกว่าข่าวจริง 6 เท่า) 

4.ปฏิบัติการทางจิตวิทยา มีวัตถุประสงค์หลัก คือ  

-ควบคุมอารมณ์ (Emotion) 
-ควบุมความคิด (Thinking) 
-ควบคุมพฤติกรรมของเป้าหมาย 

เทคนิคที่ใช้ => ปล่อยข่าวลือ(Rumor) ข่าวบิดเบือน (Disinformation) และข่าวปลอม (Fake news) ผ่านโซเชียลมีเดีย 

เทคนิคเหล่านี้ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน และเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง แต่หลายคนอาจไม่คิดว่ามี หรือคาดไม่ถึงว่ามี 

4.บริษัทบางแห่งอ้างว่าเคยใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาแบบนี้มาแล้วกับการเลือกตั้งในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 200 ครั้ง โดยเฉพาะงปฏิบัติการลับที่อาศัยกลโกงเหล่านี้กับการเลือกตั้งในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่พัฒนา (Undeveloped democracies) หลายแห่ง  

ผลก็คือ ประชาธิปไตยบนโลกไซเบอร์สามารถถูกบิดเบือนได้ตลอดเวลา โดยที่เป้าหมายไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถูกปั่นหัวจากนักการเมืองผู้ต้องการแสวงหาอำนาจอยู่ 

วิธีการ =>ใช้ความได้เปรียบทางไซเบอร์ที่มีศักยภาพมากพอ ทำให้เป้าหมายเบี่ยงเบนความสนใจมาหาตัวเอง และเบี่ยงเบนให้เป้าหมายหมดความสนใจและตีจากฝ่ายตรงข้าม

5.ทั้งหมดนี้เรียกว่าการทำ “สงครามข้อมูล” โดยมีบันได 3 ขั้นในการเข้าถึงเป้าหมาย 

หนึ่ง ขั้นตอนการแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามบุคลิกภาพ ความสนใจ  ความเห็น ไลฟ์สไตล์ นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้รู้บุคลิกภาพของแต่ละคนได้อย่างแม่นยำ

สอง ขั้นตอนการเจาะกลุ่มเป้าหมายเชิงพฤติกรรม => นำบุคลิกภาพของแต่ละคนที่แยกแยะแล้วมาจัดกลุ่ม และจับคู่กับข้อมูลที่ส่งตรงไปให้ เพื่อให้ตรงกับใจ ตรงกับรสนิยม 

ข้อมูลเหล่านี้ได้จากนายหน้าขายข้อมูล (Data broker) รวมทั้งจากโซเชียลมีเดียและเครื่องมือสืบค้น เช่น Facebook  Google ซึ่งเคยมีข่าวดังไปทั่วโลกในการเลือกตั้งของสหรัฐเมื่อหลายปีก่อน (ยุค โดนัลด์ ทรัมป์ แข่งกับ ฮิลลารี คลินตัน) 

สาม ขั้นตอนการสร้างและส่งข้อมูลที่ทำขึ้นเฉพาะ เพื่อโจมตีจุดอ่อนของเป้าหมาย โดยมุ่งไปที่เป้าหมายที่มีความอ่อนแอด้านใดด้านหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จะถูกชักชวนได้ง่าย (ข้อมูลที่ส่งไป จะตรงกับจุดอ่อนของคนคนนั้นพอดี) 

ผลก็คือ คนที่รับข้อมูลข่าวสาร จะเข้ามาเป็นแนวร่วมหรือคล้อยตามนโยบายหรือสิ่งที่นักการเมืองต้องการนำเสนอทันที และแปรไปสู่คะแนนเลือกตั้ง

อาจารย์พันธ์ศักดิ์ บอกว่า เทคนิคที่เล่าให้ฟังนี้ เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในโลกไซเบอร์ และส่งผลทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ โดยผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งไม่รู้เลยว่าการกาบัตรลงคะแนนในวันนั้นมีเบื้องหลังของการวางแผนอย่างแยบยลผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และส่งผ่านมายังโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในมือของตัวเอง

อาจารย์พันธ์ศักดิ์ สรุปว่า ความเป็นไปได้ที่เทคนิคเหล่านี้ถูกนำมาใช้กับการเลือกตั้งในเมืองไทย มีโอกาสเป็นไปได้มาก เพราะคนไทยเองสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ง่าย และมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากติดอันดับโลก นอกจากนี้ความเปราะบางของผู้คนต่อการรับรู้ข่าวสารประเภทข่าวลือ ยิ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ความคิดต่างๆ ถูกแทรกแซงได้ตลอดเวลา.