posttoday

ก้าวไกลและก้าวไกล ยันร่าง “ปลดล็อกท้องถิ่น” ไม่ยกเลิก “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน”

07 ธันวาคม 2565

พรรคก้าวไกลและคณะก้าวไกล ชี้แจงเอกสาร "ร่างปลดล็อกท้องถิ่น” ไม่ได้ยกเลิกกำนันและผู้ใหญ่ แต่ถ้าผ่านจะมีประชามติเลือกสังกัดได้ ขณะที่ข้าราชการส่วนภูมิภาคก็ไม่มีใครต้องตกงาน เป็นการให้ประชาชนกำหนดอนาคตตัวเอง

วันนี้ (7 พ.ย.65) หลังจากในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ตัวแทนของประชาชนผู้เสนอร่าง นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างฯ โดยสมาชิกรัฐสภาจากหลายฝ่ายได้แสดงความเห็นในเชิงสนุบสนันกับหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในฐานะกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับบริการสาธารณะ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ แม้อาจมีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันในเชิงรายละเอียด

ทางเราได้พยายามชี้แจงและตอบทุกข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาและประชาชนทั่วไป แต่เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าบางท่านอาจยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อสถานะและบทบาทของข้าราชการส่วนภูมิภาค และ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ (เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะความกังวลที่ถูกสะท้อนในแถลงการณ์ของ ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2/2565 (6 ธันวาคม 2565) ทางเราจึงขอชี้แจงเพื่อความชัดเจนดังกล่าว

1. ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องที่ มีลักษณะที่แตกต่างกัน - ส่วนภูมิภาคประกอบไปด้วยจังหวัดและอำเภอ (อ้างอิง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พุทธศักราช 2534 มาตรา 51) ซึ่งข้าราชการมาจากการแต่งตั้ง ในขณะที่ส่วนท้องที่ประกอบไปด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มาจากการเลือก และถูกคาดหวังให้ประสานงานระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อ้างอิง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อเสนอใดๆ เกี่ยวกับราชการส่วนท้องที่ ดังนั้น จึงไม่นำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด

2. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอ ไม่ได้เสนอให้มีการเลิกราชการส่วนภูมิภาคโดยทันที เพียงแต่เสนอให้มีการเปิดบทสนทนาให้สังคมพิจารณาถึงบทบาทและความจำเป็นของราชการส่วนภูมิภาค และให้คณะรัฐมนตรีจัดแผนรองรับอย่างชัดเจนและรอบคอบ ก่อนจะให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ เป็นผู้ตัดสินว่าจะมีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่ ผ่านประชามติที่จะจัดขึ้นภายใน 5 ปี โดยมีแผนงานเตรียมรับมือหากผลประชามติออกมาให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

3. หากประชาชนเห็นชอบในประชามติให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เราสามารถวางหลักประกันได้ว่า:
- ข้าราชการส่วนภูมิภาคจะไม่มีใครตกงานหรือสูญเสียผลประโยชน์และความก้าวหน้าทางอาชีพ เพียงแต่เปลี่ยนสังกัดไปอยู่กับส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น
- เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ ซึ่งรวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้าน จะยังคงอยู่เช่นเดิม และสามารถมาตกลงร่วมกันได้ว่าจะถูกกำกับดูแลภายใต้สังกัดใด และเปิดช่องให้มีการออกแบบรูปแบบการทำงานที่ตอบโจทย์กว่าเดิมในเรื่องของค่าตอบแทน ความก้าวหน้าทางอาชีพ และการทำงานที่ยึดโยงกับประชาชน

ทั้งนี้ ทางเราขอยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรานำเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภา ถูกออกแบบบนพื้นฐานของการเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และเป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่

ทางเราหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่ารัฐสภาจะมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวันนี้ โดยเรายินดีนำข้อเสนอแนะของทุกฝ่าย มาพิจารณาเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการ