posttoday

"ดร. เอนก" นำนักโบราณคดีทั่วโลกถกวิชาการก่อนประวัติศาสตร์อินโด-แปซิฟิค

13 พฤศจิกายน 2565

โบราณคดีเป็นศาสตร์รับใช้สังคม "ดร. เอนก" นำนักโบราณคดีจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 700 คน การประชุมวิชาการนานาชาติก่อนประวัติศาสตร์อินโด-แปซิฟิค ครั้งที่ 22

ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมกล่าวว่า 
โบราณคดีเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษามนุษย์ในอดีตผ่านโบราณวัตถุ ซึ่งก็คือวัตถุทางวัฒนธรรมหรือสิ่งของที่หลงเหลือมาจากอดีต ซึ่งมนุษย์มีมิติที่หลากหลาย โบราณคดีจึงไม่ใช่การพูดถึงสิ่งของเท่านั้น แต่เป็นการพูดถึงตัวเราในอดีต ทั้งในเรื่องพฤติกรรม ความเป็นอยู่ สุขภาพ วิธีคิด/ความเชื่อ การแก้ไขปัญหา และยังพูดถึงสังคมที่เป็นเหมือนบ้านของเราว่าเกิดขึ้นอย่างไร ลักษณะเป็นอย่างไร คงอยู่ เปลี่ยนแปลง และล่มสลาย 

แต่อดีตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและจบลงแล้ว และในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความท้าทายหลายประการ เช่น โลกร้อน ความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การสูญพันธ์ของพืชและสัตว์ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทางการเมืองและความคิดที่ขยายวงกว้าง ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและวัฒนธรรม และปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ การเรียนรู้อดีต ยังคงจำเป็นกับโลกสมัยใหม่หรือโลกปัจจุบันที่มุ่งไปสู่อนาคตอยู่หรือไม่ หรือคนในปัจจุบันยังควรเรียนรู้อดีตของตัวเองหรือไม่ และอดีตสำคัญอย่างไรกับสังคมปัจจุบัน จึงเป็นคำถามสำคัญที่ถูกถามกับโบราณคดีและนักโบราณคดี”

ประการสำคัญที่โบราณคดียังคงความสำคัญกับสังคมปัจจุบัน คือ โบราณคดีเผยให้เห็นถึงบทเรียนและความผิดพลาดของมนุษย์ในอดีต ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นครูที่สำคัญของมนุษย์ ที่ช่วยให้คนและสังคมในปัจจุบันเรียนรู้เพื่อเฟ้นหาหนทางพัฒนาให้ดีขึ้น ช่วยทำให้เราเข้าใจว่าอดีตเป็นอย่างไร และส่งผลต่อปัจจุบันที่เราอยู่อย่างไร ท้ายสุดหากเราจะก้าวเดินไปข้างหน้าบนฐานของอดีตและปัจจุบันแล้ว ควรจะเป็นไปในทิศทางใดที่ให้ก้าวย่างสู่อนาคตอย่างมั่นคง”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้ย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาอดีตด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างวิทยาศาสตร์กับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ด้วยอดีตมีหลายมิติ การทำความเข้าใจอดีตจึงอาจไม่สามารถมองได้จากมุมมองของมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้เพียงอย่างเดียว เพราะด้วยมนุษย์มีความหลากหลาย วิทยาศาสตร์จึงเป็นกุญแจดอกหนึ่งที่ช่วยเปิดประตูสู่มิติที่หลากหลายของมนุษย์ เช่น การกำหนดอายุด้วยวิธี AMS ที่ช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงหลักฐานทางโบราณคดีกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ การวิเคราะห์ DNA ของมนุษย์ที่เป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับตัวเรา ตัวตน ที่มา และการเคลื่อนที่ของมนุษย์ และการใช้เทคโนโลยีสำรวจทางไกลเพื่อเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพื้นที่ การประสานความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และวิธีการระหว่างสองศาสตร์ คือ มนุษย์ศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จึงเป็นหนทางสำคัญที่ช่วยคนในปัจจุบันเข้าใจมิติต่าง ๆ และความหลากหลายของอดีตได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าเป็นเรื่องของการใช้วิทยา”

ศาสตราจารย์ ดร. รัศมี ชูทรงเดช นายกสมาคมก่อนประวัติศาสตร์อินโด-แปซิฟิค ได้กล่าวถึงความสำคัญของโบราณคดีในฐานะของศาสตร์ที่ช่วยให้เราเข้าใจอดีต ปัจจุบัน นำไปสู่การพัฒนาสำหรับอนาคตอย่างรู้เท่าทัน 

“โบราณคดียังตอบคำถามพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ คือ เราเป็นใคร มาจากไหน ซึ่งอดีตช่วยให้เราเข้าถึงตัวตนและรากเหง้าของเรา ชุมชน และสังคม และความเข้าใจดังกล่าวนำมาซึ่งไม่เฉพาะเพียงแค่ความภูมิใจของตนเอง แต่ทำให้เราเข้าใจได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างไร หรือจุดยืนของเรา และยังสร้างพลังหรือเสียงให้กับกลุ่มคนที่บางครั้งถูกลืมเลือนหรือกลืนหายไปในสังคมสมัยใหม่ให้มีที่ยืนอีกครั้ง รวมถึงสร้างพลังต่อรองทางวัฒนธรรม ท้ายสุดนำมาซึ่งความรู้สึกหรือมุมมองที่ต้องรักษาวัฒนธรรมหรืออดีตของตน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรม และตัวตนของเรา

ด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายของมนุษย์ การทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวย่อมสร้างความเท่าเทียมในสังคมที่ปัจจุบันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายทั้งในเรื่องวัฒนธรรม เพศ และสถานะทางสังคม เพียงแต่ในความเป็นจริงความหลากหลายดังกล่าวอาจตั้งอยู่บนฐานของวัฒนธรรมเดียวกัน หรือเข้าใจถึงเหตุผลที่ก่อให้เกิดความแตกต่างนั้น โดยไม่สร้างอคติทางวัฒนธรรมระหว่างกัน ยอมรับซึ่งกัน และให้เกียรติระหว่างกัน

ท้ายสุดเมื่ออดีตเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน ดังนั้นโบราณคดีจึงเป็นศาสตร์ที่รับใช้สังคม เพื่อตอบคำถามพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ คือ เราเป็นใคร มาจากไหน และการเดินทางไปสู่อนาคต และตัวตนทางวัฒนธรรมของพวกเรา อีกทั้งโบราณคดีเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสียงความเป็นตัวตน และอดีตสามารถกลายเป็นสิ่งที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้พัฒนาชุมชนและสังคมผ่านการเรียนรู้และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์”