posttoday

จากเด็กบ้านแตกสู่แดนอเมริกา “ณธีพัฒน์ ธีรพัฒน์กิตติ” ผลผลิต "บ้านครูยุ่น"

07 พฤศจิกายน 2565

ด้วยรักของ “ครูยุ่น-มนตรี สินทวิชัย” บ้านมูลนิธิคุ้มครองเด็กอัมพวา พลิกฟื้นชีวิตของเด็กบ้านแตกสู่เจ้าของธุรกิจร้านอาหารในประเทศอเมริกา

ผลิตผล ‘ความรัก’ พลิกชีวิตของเด็กบ้านแตกเติบโตอย่างงดงาม เป็นเจ้าของร้านอาหารไทยฟิวชั่นในอเมริกา จบอนุปริญญา ไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัวและไม่เคยสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมรวมไปถึงผู้อื่น “ตั้ม-ณธีพัฒน์ ธีรพัฒน์กิตติ” ไม่เคยลืมเลือนแม้เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ 7 ขวบ กับเด็กรุ่นแรกๆ ที่ได้รับการอุปถัมภ์ในรั้วมูลนิธิคุ้มครองเด็ก “มนตรี สิทธิชัย” หรือ “ครูยุ่น” 

วันนี้ท่ามกลางกระแสทำร้ายร่างกายลงโทษด้วยความรุนแรงของคูรยุ่น ที่ต้องพิสูจน์ความจริงบนกระบวนการยุติธรรม เขาขอออกมาบอกเล่าด้วยรักและเคารพจากประสบการณ์อีกด้านประกอบพิจารณาแม้มันไม่สวยสดตรงใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทุกชีวิตก็คงจะเป็นกันเช่นนี้ ที่มีเรื่องราวงามๆ เท่าๆ กับที่มีโมงยามของความผิดพลาด ทั้งมุมมอง สถานการณ์ บริบทที่เปลี่ยนไปก่อนตัดสิน 

‘พ่อ’ และ ‘ครู’ ไม่มีเปลี่ยน

“ผมเกิดและเติบโตที่กทม. ยานสุขสวัสดิ์ในครอบครัวความรุนแรง พ่อป่วยทางจิต บางทีโดนทำร้ายแบบไม่มีเหตุผล แม่ทำแต่งาน พี่ติดยา พี่สาวไปไหนต่อไหน” ณธีพัฒน์ เริ่มต้นเล่าเส้นทางวัยใสที่ผลักชีวิตให้ขมุกขมัววาดอนาคตชีวิตไม่อดตายก็ติดยาก่อนที่เขาจะเจอฟ้าใหม่สดใสเป็นผู้เป็นคนในรั้วมูลนิธิคุ้มครองเด็กบ้านครูยุ่น 

“มันเป็นโชคดีของผมที่ได้เพื่อนแม่เขาเห็น เขาน่าจะเห็นแววว่าไม่พ้นยา คุก ก็ไปติดต่อและได้รับการพาเข้าไปดูแลที่บ้านครูยุ่น เพราะตอนนั้นบ้านไม่มีข้าวกิน ผมอยู่กับน้องฝาแฝด ก็ไปติดร่อนเร่กับเพื่อน ไปวัด ไปบ้านรุ่นพี่ คือชวนไปไหนไปหมด แล้วในชุมชนก็แบบชุมชนแออัดมียามีอะไร หนังสงหนังสือไม่มีเรียน 7 ขวบ ป.2 ยังอ่านออกเขียนไม่ได้”

ก้าวแรกในรั้วบ้านครูยุ่นแม้เป็นอาคารคอนกรีต (ที่ตั้งมูลนิธิแรก ณ ซอยลาดพร้าว 106 ช่วงปี2534) แต่กลับให้ความรู้สึกอบอุ่นเต็มไปด้วยความห่วงใย 

“ผมโคตรมีความสุขผม มีที่นอนดี มีห้องน้ำดีๆ มีข้าวกินครบ3มื้อ” เขาบรรยายถึงที่มูลนิธิคุ้มครองเด็กที่มีคนคอยดูแล มีคนชวนทำกิจกรรมตลอด จนเกิดความผูกพันประหนึ่งบ้านจริงๆ 

“มันเป็นบ้านหลังที่ผมคิดว่าดีมาก เป็นบ้านจริงๆ ผมเรียกพ่อตั้งแต่ก้าวเขาไปและในวันนี้ก็เรียกครูยุ่นว่าพ่อไม่เปลี่ยน เรียกครูดูแลว่าแม่ ผมกับน้องไม่เคยรู้สึกสนิทกับพ่อแม่ขนาดนี้ มันเหมือนมีพ่อแม่มาเล่นกับเราตลอดเวลา ที่นี้เปลี่ยนชีวิตผมไปเลยดีกว่า ไม่ต้องระแวงชีวิตใครจะมาทำร้าย ได้เรียนหนังสืออีก ได้รู้ชีวิตที่ถูกต้องที่ควรเราต้องทำตัวยังไง คือถ้าไม่มีไม่ได้เจอพ่อก็คงไม่มีผมในวันนี้ที่ได้เปิดร้านอาหารที่อเมริกา”

ยืดหยุ่น ‘เบา-หนัก’ สร้างโอกาส 

อาจจะฟังดูโบราณแต่ทั้ง ‘พระเดช’ และ ‘พระคุณ’ สำหรับ ณธีพัฒน์ สิ่งเหล่านี้ยังคงสามารถย่นช่องว่างและสร้างโอกาสให้กับคน 

“พ่อไม่ตัดสินอยากไปทำสิ่งไหนไป เปิดโอกาสหมดไม่ต้องแบบเรียนหมอ วิศวะ เท่านั้นเท่านี้นะชีวิตถึงจะดี ถึงจะแบบเก่งแล้วจะรักดูแล ทุกคนดูแลเหมือนกันหมด” เขากล่าวต่อเจือยิ้มปลายเสียง “แล้วพ่อส่งให้ไปเรียนทุกคนแล้วจะเดินไปส่งทุกวัน กันเราออกนอกลู่ทาง เพราะไม่มีรถ ต่อแถวเดินเรียงกันเลยไปโรงเรียนวัดตอนนั้น ชาวบ้านเห็นก็จะบอกน่ารักเดินกันเหมือนเป็ด”

และด้วยต่างคนต่างจิตต่างนิสัย ‘กฎระเบียบ’ และ ‘หน้าที่วินัย’จึงต้องเคร่งครัด เพื่อเป็นบรรทัดฐานปลูกฝังให้แข็งแรงเมื่อก้าวสู่โลกภายนอก 

“จริงอยู่ที่ทำผิดก็ถูกทำโทษแต่เพราะเราทำผิดไง ทุกสิ่งอย่างเขาสอนอยากให้เป็นคนดี มีรูปแบบแตกต่างกัน แต่อาจจะไม่ได้ลงลึกรายละเอียดแบบนี้ๆ กับคนนี้โอ๋ก่อนค่อยๆ สอน คือผู้ชายพ่อจะสอนแบบลูกผู้ชาย ทำผิดต้องรับผิดชอบสิ่งที่ทำ ผิดต้องสำนึก อย่างผมเจอซักทีหนักๆ ถึงหยุดดื้อ ไม่งั้นก็ยังไม่รู้ แต่ผู้หญิงพ่อก็จะอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้สอนแบบพวกเรา พ่อไม่เคยแตะต้อง  

“ผมไม่เคยอยู่ในกรอบก็รู้สึกว่าดี มีงานให้ทำ เหมือนอยู่โรงเรียนประจำ ล้างห้องน้ำ ทำโรงอาหาร แบ่งหน้าที่กัน ไม่ใช่การใช้ไปทำโน้นนี้แบบใช้แรงงาน เขาฝึกให้มีระเบียบวินัย หน้าที่ สิ่งจำเป็นที่เราจะพึ่งพาตัวองได้และไม่ไปสร้างภาระให้กับคนอื่นหรือสังคม ตื่นเช้ามาทำอะไรบ้าง จากทำไม่เป็นเลย ก็ทำเป็น  

“7 ปี ที่อยู่จนวันที่พ่อแท้ๆ เข้ารับการรักษา กินยาคุมจิตประสาท เขามารับกลับไป ก้าวแรกออกไปมันรู้สึกว่างเปล่า มันไม่เหลืออะไรเลย แต่พ่อยุ่นก็ยังส่งให้เรียนจนจบม.ต้น ใจนี้อยากกลับเข้าไปอีก ไม่อยากแบบนี้ เพราะพอออกมาต้องหางานทำด้วยเรียนไปด้วยช่วงปวส. ที่ทำตอนนั้นยังคิดอยู่เลย หนัก เหนื่อย ทำงานอยู่เช้ามาเรียน บ่าย 2 เรียน เสร็จซ้อมบาส กว่าจะนอนเที่ยงคืน แต่เราต้องเป็นลูกผู้ชายแบบพ่อยุ่นบอก ก็เลยลุยทำ ดูแลแม่ด้วย มันจะต้องสู้ ไม่ว่าจะโดนหนักแค่ไหนก็แล้วแต่ ไหวครับ นั้นแหล่ะที่ผมได้มาจากที่มูลนิธิ”

เวลาเยียวยา ‘มนตรี’

“เราอยู่รวมกันต่างที่มา แน่นอนตั้งกลุ่มตั้งพวก แต่ละคนแบบก็สุดกัน พ่อจะหลับคนสุดท้าย คอยดูแลสอดส่องตลอดเวลา เขากลัวว่าเราไม่มีที่อยู่ออกไปข้างนอกแล้วโดนจับไปนั้นนี่ เพาะยุคนั้นจับเด็กไปตัดแขนขาขาย เขาก็เป็นห่วงถ้าเราโดนจับไปขาย ใครจะหาเจอ ที่อยู่ที่อะไรก็ไม่ชัดเจน คนไม่รู้เหรอมุมนี้” ณธีพัฒน์ เผยเบื้องหลังความเฮียบมีเหตุผลที่ยอมถูกมองเป็นยักษ์มารในสายตาผู้คน ทว่าเผื่ออนาคตเด็กๆ ย่อมไม่ใช่สาระสลักสำคัญเท่า

“เคยโดดหนีไปเที่ยว ตื่นมาดูบอลเขาจับได้ พ่อยังไม่นอน โดนให้ไปปลุกเพื่อนและสอนต่อหน้าทุกคน ให้รู้เราผิดคนอื่นซวย เราก็จะอาย ไม่ทำต่อ เพราะเราสร้างความเดือนร้อนให้คนอื่น สิทธิ์ของเราก็จริง แต่อาจจะส่งผลต่อคนอื่น เราไม่ได้มองตรงนั้น เราเลยทำ นั้นก็ทำให้เรารู้ อย่างที่บอกก้าวแรกเข้ามาตรงนี้มันทำให้เราเหมือนมีพ่อแม่มาเล่นกับเราตลอดเวลา เราไม่เคยสนิทกับท่านแบบนี้มาก่อน จนมาอยู่ที่นี้ ก็ยังติดต่อตลอดเวลา ส่งอาหารส่ง ของใช้จำเป็นให้น้องๆ ไปให้ พ่อก็จะบอกไม่เป็นไร ไม่ต้องลูก”

“ยังนึกอยู่เลยทำไมตอนกูไม่มีวะ มีสระน้ำ พื้นที่วิ่งใหญ่ที่อัมพวา” ณธีพัฒน์ ระบุ ความรู้สึกที่ต่อให้ทำงานเหนื่อยหนักแค่ไหน “เงิน” มีความจำเป็นอย่างไร แต่ในวันวัยแห่งการสร้างตัวอายุ 38 ปี ก็ไม่วายเดินตามร่องรอยของพ่อครูคนนี้ เพราะชีวิตที่มีวันนี้ได้เพราะวันก่อนหน้านั้นเคยได้รับ จึงส่งไม้ต่อมอบต่อโอกาสให้กับสังคมและคนที่เจอปัญหาชีวิตตลอดเวลาที่ทำได้

“ตอนไปอเมริกาใหม่ๆ เป็นพ่อครัวรับจ้างหาเงินทำทุน ไปมาเลเซียเปิดร้านอาหารแล้วกลับไปอเมริกาอีกรอบถึงได้มีเงินเปิดร้าน นี่ร้านก็เพิ่งทำได้ 4-5 ปี เพิ่งจะตั้งตัว แต่ก็ช่วยบริจาคไปเรื่อย ผมมีได้ก็จากพ่อผมก็นำมาทำเป็นแบบอย่าง หรือในเรื่องเลี้ยงลูกผมก็ตีนะ ถ้าทำผิด ที่นี้อเมริกาเขาห้ามนะ แต่ผมก็ทำ 

“ผมยังเชื่อแบบนั้นว่าเด็กจะดีก็ต้องมีตีบ้างถึงจะได้ดี เพราะไม่ใช่แค่ผม เอาง่ายๆ เพื่อนๆ ในรุ่นไปเจอตอนโดนเกณฑ์ทหาร เขาก็ไปมีชีวิตที่ดี มีวินัย ระเบียบ เป็นคนดีกว่าค่อนจากทั้งหมด เพราะพ่อจะเน้นอย่างที่จำได้เลยจากหลายๆ เรื่องที่สอนและทำ คือ ห้ามเสพย่า ขโมย ผิดกฎหมาย อย่าทำให้ใครเดือดร้อน” ณธีพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย